หน้าแรก BearconCAM” กล้องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ ตัวช่วยคัดกรองผู้เสี่ยงโควิด-19 ทุกสถานการณ์
BearconCAM” กล้องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ ตัวช่วยคัดกรองผู้เสี่ยงโควิด-19 ทุกสถานการณ์
24 พ.ค. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

เมื่อหนึ่งในอาการที่ต้องเฝ้าระวังของโควิด-19 คือ อุณหภูมิร่างกายสูง 37.5 จากการคัดกรองด้วยเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ ดังนั้นประสิทธิภาพและความแม่นยำของเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ จึงเป็นปัจจัยหลักที่ต้องให้ความสำคัญในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงติดโรคโควิด-19

ล่าสุดหนึ่งในผู้ประกอบการด้าน IoT platform เปิดตัวนวัตกรรม “BearconCAM” กล้องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะแบบไร้สัมผัส ใช้เพื่อคัดกรองโรคโควิด-19 ที่สามารถขยายกลุ่มสู่งานอีเว้นท์ระดับจังหวัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี หรือ SUCCESS โดยศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างรากฐานให้ผู้บริหารกิจการ ผู้ประกอบการธุรกิจ เจ้าของธุรกิจเทคโนโลยี และ กลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) ให้สามารถเติบโตและขยายฐานลูกค้าได้อย่างมั่นคง ด้วยกระบวนการเรียนรู้ การบ่มเพาะ และหนุนเสริมกลไกการสนับสนุนต่างๆ

นายภลลกร พิมพ์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบร์คอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรม “BearconCAM” กล้องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะแบบไร้สัมผัส เนื่องจากพบว่าเครื่องวัดอุณหภูมิโดยทั่วไปที่ใช้สำหรับคัดกรองในสถานที่ต่างๆ เดิมทีจะต้องใช้ทรัพยากรบุคคลเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ ทำให้มีความล่าช้า รวมถึงผู้คัดกรองอาจมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อจากผู้ป่วยได้ง่าย และไม่มีการเก็บประวัติใบหน้าและอุณหภูมิ ที่สำคัญคือไม่สามารถนำไปใช้งานกลางแจ้งหรือบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรม “BearconCAM” ซึ่งเป็นกล้องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะแบบไร้สัมผัส ที่สามารถตรวจวัดอุณหภูมิผ่านข้อมือโดยไม่สัมผัสอุปกรณ์มีระบบตรวจจับการใส่หน้ากากอนามัยพร้อมเสียงเตือน รวมถึงมีการเก็บประวัติใบหน้าอุณหภูมิ เวลาที่ตรวจวัดและพิกัดบริเวณที่ทำการตรวจวัดเพื่อนำข้อมูลไปใช้ภายหลังได้

“ จุดเด่นของ BearconCAM  นอกจากสามารถวัดอุณหภูมิได้แบบไม่ต้องสัมผัสอุปกรณ์แล้ว ยังสามารถตรวจวัดได้อย่างแม่นยำ โดยคลาดเคลื่อนไม่เกิน 0.3 องศาเซลเซียส (°C)  สามารถตรวจวัดได้ 20-30 คน/นาที ตัวเครื่องประกอบด้วยเลนส์คู่ ซึ่งช่วยป้องกันการปลอมแปลงใบหน้า เช่น การนำภาพถ่ายมาสแกนแทนใบหน้าจริง อีกทั้งยังสามารถใช้งานทั้งในอาคาร และกลางแจ้งได้ เนื่องจากมีระบบ sensor 2 ตัว ได้แก่ TOF (time of flight) Sensor สำหรับตรวจจับระยะห่างวัตถุ เพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำในระยะที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งช่วยให้ตัวเครื่องสามารถแยกได้ระหว่างอุณหภูมิร่างกายกับอุณหภูมิอากาศ และ Temperature Sensor สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิที่ข้อมือและส่งผลไปยังระบบประมวลผล

โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บบนระบบ Cloud Server ซึ่งหน่วยงานสามารถมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ได้ที่หน้า dashboard รวมถึงการเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำไปงานจริงแล้วที่งานตรุษจีนประจำจังหวัดนครสวรรค์ที่ผ่านมา รวมถึงงานใหญ่ประจำปีอย่างงาน “ยอสวย ไหว้สา พระญามังราย ครบรอบ 725 ปีจังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งขณะนี้ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ทำการขอซื้อเพื่อนำมาติดตั้งที่สนามกีฬาของเทศบาล และได้ทำการส่งมอบเรียบร้อยแล้ว รวมถึงเทศบาลจังหวัดนครสวรรค์ด้วยเช่นกัน ” นายภลลกร กล่าว

นายภลลกร กล่าวด้วยว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการได้รับการบ่มเพาะและการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจจากโครงการ SUCCESS  ซึ่งเดิมทีทางบริษัทตั้งเป้าหมายไว้เป็นกลุ่มของโรงเรียนในสังกัดของภาครัฐ อย่าง อบต. หรือเทศบาล ซึ่งก่อนเข้าร่วมโครงการยังไม่สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งได้เพราะการทำงานกับภาครัฐจะต้องมีกระบวนการและขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ SUCCESS `จึงได้รับคำแนะนำ ทำให้สามารถแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ และเกิดการต่อยอดความคิดสู่การขยายกลุ่มเป้าหมายจากโรงเรียนสู่หน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆ ที่อยู่ในการดูแลกำกับของ อบต.และเทศบาล นอกจากนี้ โครงการ SUCCESS ยังสนับสนุนในเรื่องของการออกบูธและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งช่วยทำให้นวัตกรรมเป็นที่รู้จักและมีพื้นที่สื่อมากขึ้นอีกด้วย

นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สวทช. กล่าวว่า โครงการ SUCCESS เป็นโครงการที่จะช่วยสร้างรากฐานให้ผู้ประกอบการด้าน ธุรกิจดิจิตัล ซอฟต์แวร์ และไอซีทีทุกประเภท รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจนาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ และอื่นๆ ให้สามารถเติบโต และขยายฐานลูกค้าได้อย่างมั่นคง ด้วยกระบวนการเรียนรู้ การบ่มเพาะ และกลไกการสนับสนุนต่างๆ  เช่น การวินิจฉัยธุรกิจเพื่อประเมินถึงความเป็นไปได้และการเติบโตของธุรกิจ การอบรมหรือเวิร์กชอปที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการและ Startup ได้มีทักษะทั้งในด้านธุรกิจและการบริหารองค์กร การพบที่ปรึกษาด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ แบบ 1 ต่อ 1 ที่ช่วยเตรียมความพร้อมในการพบนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการตลาด การคิดวิเคราะต้นทุนราคาขายหรือการจัดโปรโมชั่น รวมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างรายได้ สร้างพื้นที่ประชาสัมพันธ์ ขยายฐานลูกค้า สร้างพันธมิตรภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ และพาออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปีนี้ ผู้ประกอบการสร้างรายได้รวมกว่า 750 ล้านบาท มีมูลค่าการลงทุนเพิ่มกว่า 147 ล้านบาทและมีการจ้างงานเพิ่มกว่า 190 ราย หรือนับเป็นมูลค่ากว่า 49 ล้านบาท

ทั้งนี้ในปี 2564 โครงการ SUCCESS 2021 ร่วมมือกับภาคเอกชนชั้นนำ เพื่อให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยี และ Startup ได้รับโอกาสจับคู่ธุรกิจเพื่อต่อยอดเทคโนโลยีร่วมกับภาคเอกชนชั้นนำ และหน่วยงานวิจัยระดับแนวหน้า โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี หรือ SUCCESS 2021 (รุ่นที่ 19) ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่โทรศัพท์ 0 2564 7000 ต่อ 81493, 081 9131828 อีเมล seksun.sungsook@nstda.or.th หรือติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครโครงการและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th/bic/ และเฟซบุ๊กเพจ www.facebook.com/NstdaBIC/

 

แชร์หน้านี้: