หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. เปลี่ยน “น้ำเสีย” เป็นก๊าซชีวภาพ
เปลี่ยน “น้ำเสีย” เป็นก๊าซชีวภาพ
9 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

เปลี่ยน "น้ำเสีย" เป็นก๊าซชีวภาพ

“น้ำเสีย” ไม่เพียงกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่ยังเป็นต้นทุนของโรงงาน
อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียจาก
กระบวนการผลิตก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

ขณะที่ปัจจุบันทุกภาคส่วนกำลังต้องการสร้างพลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียนจากขยะหรือของเสียจากกระบวนการผลิตต่าง ๆ เพื่อลดมลพิษใน
สิ่งแวดล้อม

การใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนขยะอย่าง “น้ำเสีย” ให้เป็น “ก๊าซชีวภาพ” ซึ่งภาคอุตสาหกรรม นอกจากจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอีกด้วย

โดยทีมนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ริเริ่มนำระบบบำบัดเสียเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพมาใช้ โดยพัฒนาเป็น “ระบบบำบัดน้ำเสียชนิดไร้อากาศแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ (Anaerobic Fixed Film Reactor: AFFR)” ซึ่งเริ่มนำร่องทดสอบใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 กับโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการบำบัดน้ำเสีย เช่น โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง โรงงานน้ำมันปาล์มและโรงงานผลไม้

โดยเฉพาะโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งเฉลี่ยโรงงานที่มีกำลังการผลิตขนาด 200 ตันแป้งต่อวัน จะมีปริมาณน้ำทิ้งสูงถึง 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน การบำบัดน้ำเสียส่วนใหญ่จะใช้บ่อเปิดจำนวนมาก ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้โรงงานแป้งมันสำปะหลังยังใช้พลังงานจำนวนมาก ทั้งการใช้น้ำมันเตาเพื่อกรอบแห้ง 40 ลิตรต่อตันแป้ง และกระแสไฟฟ้า 165 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อตันแป้ง ซึ่งคิดเป็นค่าพลังงาน 1,000 บาทต่อการผลิตแป้ง 1 ตัน

ระบบบำบัดน้ำเสียชนิดไร้อากาศแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ที่ทีมนักวิจัยฯ พัฒนาขึ้นนี้เป็นระบบปิด ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่น ระบบใช้หลักการตรึงเซลล์จุลินทรีย์ไว้บนผิววัสดุตัวกลางที่เป็นตาข่าย ทำให้กักเก็บจุลินทรีย์ให้อยู่ในระบบได้เป็นระยะเวลานาน อีกทั้งยังใช้พื้นที่น้อยลงกว่าระบบบ่อเปิด ทำให้ลดการสูญเสียจุลินทรีย์ไม่ให้หลุดออกไปจากระบบบำบัดพร้อมกับน้ำที่บำบัดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเติมจุลินทรีย์เข้าระบบเป็นระยะ ๆ เหมือนระบบอื่น ๆ

ระบบนี้สามารถกำจัดสารอินทรีย์ได้สูงถึง 80-90% ดูแลง่ายไม่ซับซ้อนหลังจากระบบเริ่มดำเนินการแล้ว และไม่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการควบคุมระบบ แถมได้ผลผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตต่อไป

ปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียชนิดไร้อากาศแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ได้มีการติดตั้งใช้งานแล้วในหลายอุตสาหกรรม เช่น ในโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังของบริษัทชลเจริญ จำกัด บริษัทชัยภูมิพืชผล จำกัด บริษัทแป้งตะวันออกเฉียงเหนือ (1987) จำกัด และบริษัทสึมา อินเตอร์โปรดักส์ จำกัด ในโรงงานน้ำมันปาล์มที่บริษัทท่าชนะน้ำมันปาล์ม จำกัด และโรงงานผลไม้แช่อิ่มและอบแห้งที่บริษัทซีอองฮอง เอ็นเทอไพรซ์ จำกัด และบริษัทรวมอาหาร จำกัด

นอกจากระบบบำบัดดังกล่าวจะเป็นที่ยอมรับในประเทศแล้ว โครงการCows to Kilowatts จากประเทศนจีเรีย ยังได้ขอใช้เทคโนโลยีนี้
ในการบำบัดของเสียจากโรงฆ่าสัตว์และผลิตพลังงาน โดยทางฝ่ายไทยเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมบุคลากรจากประเทศไนจีเรีย
ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับรางวัล “Seed Awards 2005 Winner”จากกลุ่มองค์กรแห่งสหประชาชาติ โดยเป็น 1 ใน 5 โครงการ
ที่ได้รับรางวัลนี้จากโครงการที่เสนอทั้งหมด 260 โครงการจาก 66 ประเทศทั่วโลก

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: