หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. Girm Zaber UV-C Sterilizer อุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี-ซี
Girm Zaber UV-C Sterilizer อุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี-ซี
10 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

Girm Zaber UV-C Sterilizer อุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี-ซี

ในยามที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส
โควิด-19 อย่างหนัก หลายประเทศได้นำ “หุ่นยนต์” มาเป็นตัวช่วย
ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่มีการใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติปล่อยรังสี
UV-C ฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งโควิด-19 โดยไม่ทำให้
ผู้ปฏิบัติงานได้รับอันตรายจากรังสี ซึ่งมีผลต่อผิวหนังและเยื่อบุตา

ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาและทดสอบ “นวัตกรรมอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี” (Girm Zaber) ซึ่งมีทั้งวุ่นที่เป็น Station และหุ่นยนต์ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อก่อโรคโควิด-19 ด้วยแสงยูวี-ซี (UV-C) สามารถเข้าถึงการฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เฉพาะและจุดเสี่ยงโรคต่าง ๆ ได้ดี

Girm Zaber Robot” ที่พัฒนาขึ้นนี้ ประกอบด้วยหลอดยูวี-ซี (UV-C) ขนาดพลังงานรวม 300 วัตต์ พร้อมชุดควบคุมไฟ มีความพิเศษตรงที่สามารถบังคับให้ขับเคลื่อนไปยังจุดต่าง ๆ ควบคุมผ่านโปรแกรมบนแอนดรอยด์แอปพลิเคชันเพื่อสั่งการให้หุ่นยนต์เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา และหมุนตัวแบบ 360 องศา เพื่อประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคแบบเข้าถึงในทุกสภาพพื้นที่

สำหรับ “รังสีอัลตราไวโอเล็ตหรือแสง UV” เป็นสเปกตรัมของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วง 10 นาโนเมตร ถึง 400 นาโนเมตร ซึ่งมีความถี่ที่สูงกว่าที่ตาเรามองเห็นได้ โดย Gim Zaber Robot นี้ ใช้แสงยูวี-ชี
มีความยาวคลื่นอยู่ในย่านความถี่ประมาณ 254 นาโนเมตร เป็นแสงยูวีที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก หรือเชื้อโรคต่าง โดยเฉพาะความยาวคลื่นนี้ แสงยูวีจะทำลายดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น ไวรัส แบคที่เรีย เชื้อรา และเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ รวมทั้งหยุดยั้งประสิทธิภาพในการแพร่พันธุ์และฆ่าพาหะของเชื้อโรคเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ Girm Zaber ที่ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวีนั้น เหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ไม่มีคนอยู่ เพราะการใช้แสงยูวี แม้ว่าจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ดี แต่หากนำไปใช้ไม่ถูกวิธีอาจเป็นอันตรายต่อคนที่สัมผัส ซึ่งจะมีผลต่อผิวหนังและเยื่อบุตาได้

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยฯ ได้พัฒนาระบบอัตโนมัติที่ควบคุมให้เคลื่อนที่ไปทำความสะอาดในจุดที่เสี่ยงแทนคน โดยเครื่องดังกล่าวสามารถฆ่าเชื้อในจุดต่าง ๆ จุดละประมาณ 15-30 นาทีฆ่าเชื้อโรคได้ในรัศมีโดยรอบ 1-2 เมตร

ข้อดีของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อคือ ประหยัดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่อาจมีการขาดแคลน ลดการตกค้างหรือปนเปื้อนของสารเคมีและน้ำยาฆ่าเชื้อ เหมาะสำหรับใช้งานฆ่าเชื้อในพื้นที่ต่าง ๆ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่สามารถโดนน้ำ หรือน้ำยาเคมีได้และสามารถฆ่าเชื้อละอองฝอยที่ลอยในอากาศได้

อุปกรณ์ดังกล่าวผ่านการทดสอบประสิทธิภาพจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผ่านการทดสอบมาตรฐาน Lighting (มอก. 1955/EN55015) จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช.

ปัจจุบันนวัตกรรมนี้นอกจากจะมีการทดสอบใช้งานจริงที่โรงพยาบาลสนามจุฬาลงกรณ์แล้ว สวทช. ยังได้สนับสนุนเครื่อง Girm Zaber UV-C ให้กับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 จังหวัดตากและโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสาคร นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เลือกนวัตกรรมนี้ไปใช้แล้วได้แก่ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี ศูนย์สัตว์ทดลอง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลระยอง

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: