หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. ฟลาวมันสำปะหลังไร้กลูเตนแปรรูปพืชมีพิษ สู่นวัตกรรมอาหาร
ฟลาวมันสำปะหลังไร้กลูเตนแปรรูปพืชมีพิษ สู่นวัตกรรมอาหาร
10 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

ฟลาวมันสำปะหลังไร้กลูเตนแปรรูปพืชมีพิษ สู่นวัตกรรมอาหาร

นอกจากข้าว ยางพารา อ้อย และ “มันสำปะหลัง” ก็ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลกมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 68% โดยผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังเป็นสินค้าส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท

อุตสาหกรรมมันสำปะหลังจึงเกี่ยวโยงทั้งกลุ่มเกษตรผู้ปลูกมันประมาณ 3 ล้านคน และมีโรงงานผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังกระจายอยู่ทั่วประเทศ ด้วยปัญหาหลักของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยอยู่ที่ต้นทุนการผลิตที่ยังสูงอยู่ ตั้งแต่ขั้นการผลิตวัตถุดิบ ซึ่งมันสำปะหลังจะมีโรคอุบัติใหม่ที่กระทบต่อการเพาะปลูก ขณะที่ผลิตภัณฑ์แปรรูปยังมีกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนสูง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยเฉพาะเรื่องของน้ำเสียที่มีกลิ่นเหม็น

ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ทั้งแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ด้วยการพัฒนา “น้ำยาสำหรับตรวจสอบไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง” โดยใช้เทคนิคอิไลซ่า (ELISA) ซึ่งมีความแม่นยำสูงและมีราคาถูกกว่าการนำเข้าหลายเท่าตัว

ส่วนปัญหาน้ำเสียจากโรงงานผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ไบโอเทค สวทช. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนา “ระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มสำหรับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง” ซึ่งมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้โรงงานต่าง ๆ ได้นำไปใช้งาน พบว่านอกจากจะสามารถกำจัดกลิ่นเหม็นได้แล้วยังได้เป็นพลังงานหรือก๊าซชีวภาพกลับคืนมาอีกด้วย

สำหรับปัญหาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังที่ยังมีต้นทุนในการผลิตสูงโดยเฉพาะการผลิตฟลาวมันสำปะหลังสำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งควรใช้มันสำปะหลังชนิดหวานเนื่องจากมีปริมาณไซยาไนด์ต่ำ แต่เนื่องจากมันสำปะหลังชนิดหวานมีปริมาณการปลูกน้อยและราคาสูงกว่ามันชนิดขม ทำให้ต้นทุนการผลิตมีราคาสูง ขณะที่การผลิตฟลาวมันสำปะหลังจากมันสำปะหลังชนิดขมที่มีปริมาณไซยาไนด์สูง แม้จะมีข้อได้เปรียบเรื่องราคาวัตถุดิบที่ต่ำกว่า เพราะมีการเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดคือ จำเป็นต้องมีกระบวนการผลิตที่ช่วยลดปริมาณไซยาไนด์ให้ปลอดภัยต่อการนำไปบริโภค ซึ่ง FAO/WHO กำหนดไว้ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักแห้ง ปัจจุบันการผลิตฟลาวมันสำปะหลังจากมันสำปะหลังชนิดขมจึงเป็นการผลิตในระดับครัวเรือน ที่ใช้แรงงานในการปอกเปลือกมันสำปะหลังที่มีปริมาณไซยาไนด์สูงออกก่อนนำมาผลิต ทำให้ต้นทุนในการผลิตยังคงสูงอยู่

หน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีแปรรูปมันสำปะหลังและแป้ง ไบโอเทค สวทช. จึงร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนากระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังในระดับอุตสาหกรรมจากมันสำปะหลังชนิดขมที่มีปริมาณไซยาไนด์สูง โดยใช้เครื่องจักรกลมาช่วยในการผลิต (Mechanisation process) โดยประยุกต์จากกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง จนสามารถผลิตฟลาวมันสำปะหลังที่มีปริมาณไซยาไนด์ต่ำและปลอดภัยต่อการบริโภคในระดับอุตสาหกรรมได้สำเร็จ

ฟลาวมันสำปะหลังที่ผลิตได้นี้ นอกจากมีคุณค่าสารอาหารเทียบเท่าฟลาวสาลีแล้ว ยังสามารถควบคุมคุณภาพด้านความหนืดให้มีคุณสมบัติที่ค่อนข้างสม่ำเสมอได้ จึงมีศักยภาพในการนำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารทั้งอุตสาหกรรมแป้งประกอบอาหาร สามารถทดแทนแป้งสาลีที่นำเข้าจากต่างประเทศปีละกว่า 1,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ คุณสมบัติของฟลาวมันสำปะหลังที่ผลิตได้ยังปราศจากกลูเตนเหมาะที่จะนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่มีมูลค่าสูงสำหรับผู้บริโภคที่แพ้แป้งสาลีและผู้ป่วยที่เป็นโรคซีลิแอคที่เกิดจากกลูเตน ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในข้าวสาลีอีกด้วย

ปัจจุบันไบโอเทค สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฟลาวมันสำปะหลังในระดับอุตสาหกรรมให้แก่บริษัทชอไชยวัฒน์อุตสาหกรรมจำกัด ผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ โดยใช้เครื่องหมายการค้าว่า“ซาว่า (SAVA) แป้งเอนกประสงค์ไร้กลูเตน” ซึ่งนับเป็นผู้ผลิตฟลาวแป้งมันสำปะหลังรายแรกในประเทศไทย

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: