หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. เครื่องรบกวนสัญญาณอุปกรณ์สื่อสาร
เครื่องรบกวนสัญญาณอุปกรณ์สื่อสาร
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

เครื่องรบกวนสัญญาณอุปกรณ์สื่อสาร

เมื่อ “นักรบ” มีโอกาสมาพบกับ “นักวิทย์ฯ” จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรมที่ใช้งานเพื่อความมั่นคงที่เรียกว่า “ทีบ็อกซ์” (T-Box) หรือเครื่องรบกวนสัญญาณอุปกรณ์สื่อสาร ฝีมือทีมนักวิจัยไทยที่มีส่วนช่วยในการบรรเทาปัญหาการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนั้น

โดยปัญหาร้ายแรงอย่างหนึ่งที่สร้างความเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมากก็คือ การที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดและจุดชนวนระเบิดโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งทำได้ง่ายและยากต่อการจับกุมตัวผู้ก่อเหตุ

แม้ว่าจะมีเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์ทางทหารจำหน่ายเชิงพาณิชย์ แต่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาแพงและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงไม่สามารถนำเครื่องดังกล่าวมาใช้งานสร้างความปลอดภัยให้กับกำลังพลและประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงได้

ทีมนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งในขณะนั้นสังกัดศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมมือกับสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กระทรวงกลาโหม พัฒนาเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (T-Box) ขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548

จาก T-Box เวอร์ชันแรก (T-Box1.0b) ที่มีการนำไปใช้จริงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 40 เครื่องได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และทีมนักวิจัยฯ มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องทั้งรูปแบบ ขยายกำลังความสามารถให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นเพื่อให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่และพฤติกรรมผู้ก่อความไม่สงบที่มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนวิธีตลอดเวลาเป็น T-Box2.0, T-Box2.5 จนมาถึง T-Box3.0 ทีมนักวิจัยฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ความดูแลของศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สวทช.

ทั้งนี้จากการนำ T-Box ทุกรุ่นไปทดสอบและใช้งานในภารกิจจริงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า สามารถใช้งานได้ดีมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพเทียบเท่าและดีกว่าเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่นำเข้าจากต่างประเทศในขณะที่มีราคาถูกกว่าอุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศ โดยชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆได้มาตรฐานสากล เป็นอาวุธระดับทหาร ทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศมีความเชื่อมั่นในผลงานนักวิจัยไทยมากขึ้น

เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขนาด 15 วัตต์ และได้จัดสรรงบบางส่วนให้ดำเนินการวิจัย พัฒนาและจัดทำอุปกรณ์เครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวจำนวน 88 เครื่อง มูลค่า 42 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในภารกิจด้านความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ 2-3 เท่าช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และในงบดังกล่าวผลิตได้จำนวนเครื่องมากกว่าการนำเข้าในงบที่เท่ากัน จึงทำให้หน่วยงานความมั่นคงมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในทุกหน่วย EOD เพิ่มความปลอดภัยในชีวิตของผู้ปฏิบัติงานอีกทั้งการบำรุงรักษาและการซ่อมบำรุงเป็นไปได้อย่างสะดวก ทันท่วงทีเพราะสามารถซ่อมหรือหาอะไหล่ได้ภายในประเทศ มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำกว่าเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศรวมทั้งในงบดังกล่าว ทีมนักวิจัยฯ มีการจัดทำเครื่องสำรองไว้เพื่อให้หน่วยงานด้านความมั่นคงใช้ระหว่างการซ่อมแซมอุปกรณ์ และผลงานเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ T-Box3.0 มีการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรโดยทีมนักวิจัยไทยและได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานจากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. ปัจจุบัน T-Box3.0 ได้ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยเรียบร้อยแล้ว

สำหรับ T-Box3.0 ซึ่งเป็นเวอร์ชันล่าสุด มีความสามารถในการใช้รบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เปิดให้บริการอยู่ในประเทศไทย ครอบคลุม 5 ย่านความถี่ ได้แก่ ช่วงย่านความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์ 900 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 1900 เมกะเฮิรตซ์ และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ รองรับแหล่งจ่ายพลังงานได้ทั้งไฟฟ้ากระแสสลับ 220 โวลต์ และไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์ สามารถรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ในรัศมีทำการ 100 เมตร นอกจากการนำ T-Box3.0 ไปใช้ในการรักษาความมั่นคง ปกป้องชีวิตของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน พระสงฆ์ รวมทั้งใช้ปกป้องทรัพย์สินของรัฐและประชาชน สถานที่ชุมชนต่าง ๆ เช่น โรงเรียนวัด ตลาด ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการลอบวางระเบิดหรือผู้ก่อความไม่สงบมีการวางระเบิดซ้ำเมื่อเจ้าหน้าที่ EOD เข้าไปเก็บกู้ระเบิดส่งผลให้มีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินตามที่ปรากฏเป็นข่าวรายวันจำนวนมากในขณะนั้นแล้ว เครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังได้นำไปใช้ในการรักษาความปลอดภัยและอารักขาให้กับบุคคลสำคัญ อาทิ งานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

อย่างไรก็ดี เมื่อหน่วยงานด้านความมั่นคงมีเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้ในพื้นที่จำนวนมาก ผู้ก่อความไม่สงบจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุจุดชนวนระเบิด เช่น การใช้เครื่องควบคุมระยะไกลหรือรีโมตคอนโทรลและวิทยุสื่อสารเป็นตัวจุดชนวนระเบิด ทีมนักวิจัยฯ จึงวิจัยต่อยอดองค์ความรู้พัฒนาอุปกรณ์รบกวนสัญญาณอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น เครื่องรบกวนสัญญาณเครื่องควบคุมระยะไกล T-Box3.0R ที่สามารถรบกวนสัญญาณเครื่องควบคุมระยะไกลในช่วงย่านความถี่ 300-500 เมกะเฮิรตซ์หรือต่ำกว่าได้ สามารถเลือกแหล่งจ่ายไฟได้ทั้งไฟฟ้ากระแสสลับและกระแสตรง พร้อมมีวงจรป้องกันการทำงานสลับขั้ว และเครื่องรบกวนสัญญาณวิทยุสื่อสาร WTDefender ที่สามารถรบกวน ระงับ และตัดสัญญาณเครื่องวอล์กกี้ทอล์คกี้ที่ย่าน VHF (ช่วงย่านความถี่ 135-174 เมกะเฮิรตซ์และ 245-247 เมกะเฮิรตซ์) และย่าน UHF (ช่วงย่านความถี่ 400-450 เมกะเฮิรตซ์) เครื่องรบกวนสัญญาณอุปกรณ์สื่อสารของทีมนักวิจัยฯ ทั้ง T-Box3.0, T-Box3.0R และ WT-Defender ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนเพื่อผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์

รางวัล T-Box 3.0 รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 3 รางวัลชมเชยผลงานเพื่อสังคม ประเภทบุคคลทั่วไป ผลงาน “เครื่องรบกวนโทรศัพท์เคลื่อนที่” วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2551
รางวัลดีเยี่ยม ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม งานวันนักประดิษฐ์ ผลงาน “เครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (T-Box 3.0)” วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ “โดรน” มีการพัฒนาออกมาใช้งานเชิงพาณิชย์มากขึ้น และอาจถูกนำมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ก่อความไม่สงบได้ เช่น โดรนติดระเบิดเพื่อลอบสังหารบุคคลสำคัญ การใช้โดรนในการสอดแนมหรือบุกรุกพื้นที่สำคัญซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ทีมนักวิจัยฯ จึงพัฒนา “ระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti-Drone System)” ขึ้น ซึ่งระบบประกอบด้วย Drone detection, Monitoring and control และ Drone jammer ทีมนักวิจัยฯ ได้พัฒนาการส่งสัญญาณในรูปแบบของการสร้างสัญญาณรบกวนการควบคุมการบินโดรนจากระยะไกล ซึ่งจะส่งสัญญาณแบบกวาดในย่านความถี่ต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในการควบคุมโดรน ทำให้การควบคุมการบินของโดรนถูกตัดขาด

อีกทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำของการใช้งานอุปกรณ์ Anti-Drone สามารถใช้สายอากาศแบบทิศทางเข้าช่วยเพื่อให้การรบกวนพุ่งตรงไปยังโดรนเป้าหมายได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยระบบที่ทีมนักวิจัยฯ พัฒนาขึ้นนี้สามารถใช้งานได้ทั้งรูปแบบสถานีฐาน (Base station) และแบบเคลื่อนที่ (Portable)

ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นเครื่องรบกวนอากาศยานไร้คนขับย่านความถี่ GPS/2.4 กิกะเฮิรตซ์ รัศมีทำการ 500 เมตร ซึ่งมีการใช้งานจริงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2560 และนำไปใช้ในภารกิจเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงที่มีพิธีสำคัญ

การพัฒนาเทคโนโลยีด้านความมั่นคงเหล่านี้ ไม่ได้ให้ประโยชน์เพียงแค่การประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนและประเทศ แต่ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตนวัตกรรมที่จำเป็นเพื่อใช้เองในประเทศ สร้างความมั่นคงและเพิ่มอำนาจในการต่อรองทางการค้า อีกทั้งยังถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านนำเงินเข้าประเทศได้อีกด้วย

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: