หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. รถโดยสารลดอันตรายจากการพลิกคว่ำ
รถโดยสารลดอันตรายจากการพลิกคว่ำ
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

รถโดยสารลดอันตรายจากการพลิกคว่ำ

สถิติด้านอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถพยาบาลฉุกเฉิน (EMS) ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ระบุว่าบุคลากรในรถพยาบาลทั้งแพทย์ พยาบาล พนักงานขับรถ ผู้ป่วย รวมถึงญาติ ที่เสียชีวิตเนื่องจากรถพยาบาลพลิกคว่ำมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความตระหนักถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่คอยช่วยเหลือผู้ป่วยภายในรถ รวมทั้งตัวผู้ป่วยเอง

หนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตดังกล่าว เกิดจากการที่รถพยาบาลที่ใช้อยู่ในหลายประเทศไม่ได้รับการออกแบบให้มีโครงสร้างตัวถังรถที่แข็งแรงเพียงพอต่อการรองรับอุบัติเหตุ ในทางวิศวกรรมได้มีการผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างของตัวถังและห้องโดยสารของรถพยาบาลให้มีความแข็งแรง เรียกว่า โครงสร้างแบบ “Superstructure” ซึ่งจัดอยู่ในหมวดอุปกรณ์ “Passive safety” หรืออุปกรณ์ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุผ่อนหนักให้เป็นเบา เพื่อให้สามารถปกป้องชีวิตของผู้โดยสารระหว่างเหตุการณ์พลิกคว่ำของตัวรถได้

ทั้งนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดนโยบายสนับสนุนให้ผู้ป่วยวิกฤตได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพภายในเวลา 8 นาที ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยวิกฤตมากขึ้น แต่ผู้ปฏิบัติงานฉุกเฉินก็ต้องทำงานแข่งกับเวลา คนขับรถต้องขับรถด้วยความรวดเร็วเพื่อไปรับผู้ป่วยวิกฤต ณ สถานที่เกิดเหตุ และนำส่งสถานพยาบาลภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ด้วยลักษณะการทำงานที่เร่งรีบเช่นนี้ ทำให้บุคลากรกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับบริษัทสุพรีร่า อินโนเวชั่น จํากัด ในการออกแบบและพัฒนา “ห้องโดยสารรถพยาบาลให้ได้โครงสร้างความแข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับแรงกระทาที่เกิดขึ้นกรณีที่รถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ” หรือที่เรียกว่า “Rollover” ขึ้น โดยใช้เกณฑ์ในการออกแบบตามมาตรฐาน UN R66 และ FMVSS 220 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ระบุเงื่อนไขและเกณฑ์สําหรับการทดสอบโครงสร้างความแข็งแรงของรถโดยสารแบบพลวัต (Dynamic) และสถิต (Static) ตามลําดับ

ทีมนักวิจัยฯ ได้จําลองเหตุการณ์รถพลิกคว่ำและทํานายผลจากแรงกระทําด้วยการวิเคราะห์ด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ และทดสอบภาคสนามเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการออกแบบ

จากการทดสอบสมรรถนะของรถต้นแบบพบว่าโครงสร้างมีความแข็งแรงรองรับการพลิกคว่ำได้ตามการวิเคราะห์และทดสอบตามมาตรฐาน UN R66 และ FMVSS 220 ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลักจากวัสดุคอมโพสิตที่มีน้ำหนักน้อยกว่าโลหะแต่มีความแข็งแรงสูง สามารถออกแบบให้มีขนาด (กว้าง x ยาว x สูง) ได้หลากหลายและสามารถนำไปติดตั้งกับรถยนต์ได้หลายรุ่น นอกจากนี้ยังมีลักษณะเป็นโมดูลสามารถเตรียมกระบวนการผลิตห้องโดยสารได้อย่างอิสระ และสามารถนำไปติดตั้งกับรถเพื่อประกอบเป็นรถพยาบาลภายหลังได้

ปัจจุบันบริษัทสุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด ได้มีการต่อยอดงานวิจัยผลิตเป็นรถพยาบาลและรถเอกซเรย์เคลื่อนที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว นอกจากนี้ เอ็มเทค สวทช. ยังได้ถ่ายทอดทักษะความรู้ในการวิเคราะห์และทดสอบความแข็งแรงโครงสร้างห้องโดยสารให้กับบริษัทผู้ผลิตรถ ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาเป็นรถโดยสารประเภทอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ถือได้ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานรถโดยสารที่ปลอดภัย สร้างความอบอุ่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย รวมทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ผลิตภายในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลอีกด้วย

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: