หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “PETE เปลปกป้อง” เคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบปลอดภัย
“PETE เปลปกป้อง” เคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบปลอดภัย
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

"PETE เปลปกป้อง" เคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบปลอดภัย

For English-version news, please visit : PETE: Patient Isolation and Transportation Chamber

“เปลความดันลบ” เป็นอุปกรณ์สำคัญที่นำมาใช้เพื่อป้องกันการ
แพร่กระจายของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่
บุคลากรทางการแพทย์ในระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

ปัจจุบันแม้ว่าจะมี “เปลความดันลบ” สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจต่าง ๆ จำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการในการใช้งาน อาทิ การไม่สามารถใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้วยรถพยาบาล การไม่สามารถนำเข้าเครื่อง X-Ray หรือ CT-scan ได้ และยังมีราคาที่สูงเนื่องจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงพัฒนา “PETE เปลปกป้อง” (Patient Isolation and Transportation Chamber) อุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และรองรับการใช้งานกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ ทั้งโรควัณโรค รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

อุปกรณ์ “PETE เปลปกป้อง” ซึ่งเป็นเปลความดันลบ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักได้แก่ แคปซูลหรือเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (Chamber) มีลักษณะ
เป็นแคปซูลพลาสติกใสขนาดพอดีตัวคน ซึ่งเคลื่อนย้ายสะดวก ติดตั้งบนเตียงเตียงเข็นหรือเปลได้ และระบบสร้างความดันลบ (Negative pressure unit) เพื่อควบคุมการไหลเวียนอากาศภายในเปล

ทั้งนี้ทีมนักวิจัย เอ็มเทค สวทช. ได้นำองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมเข้าไปช่วยพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องให้สูงขึ้น นอกจากจะปรับแรงดันอากาศให้เป็นลบแล้ว ยังสามารถกรองเชื้อโรคและฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสี UV-C ได้ในเครื่องเดียวกัน

สำหรับการใช้งานก็สะดวก คือหลังจากที่นำผู้ป่วยขึ้นนอนบนเปลและรูดซิปปิดเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะเปิดระบบปรับค่าความดันอัตโนมัติเพื่อให้อากาศจากภายนอกไหลเวียนเข้าสู่ตัวเปล ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก เมื่ออากาศไหลผ่าน ผู้ป่วยอาจมีเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาจากการหายใจ อากาศเหล่านั้นจะถูกดูดผ่านแผ่นกรองอากาศ (HEPA Fitter) เพื่อกรองเชื้อโรคและทำการฆ่าเชื้อซ้ำอีกครั้งด้วยแสง UV-C ก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก ทำให้มั่นใจได้ว่าอากาศเหล่านั้นปลอดเชื้อ

นอกจากระบบฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพแล้ว ทีมนักวิจัยฯ ยังพัฒนาตัวเปลให้มีช่องสำหรับร้อยสายเครื่องช่วยหายใจและสายน้ำเกลือเข้าไปยังผู้ป่วย และมีถุงมือสำหรับทำหัตถการ 8 จุดรอบเปล เพื่ออำนวยความสะดวกในการรักษาให้กับบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

จุดเด่นของ “PETE เปลปกป้อง” ที่แตกต่างไปจากเปลความดันลบเดิมที่มีทั่วไปในท้องตลาดคือ ระบบ “Smart Controller” ทำหน้าที่ควบคุมความดันภายในเปล จึงใช้งานได้ทั้งบนภาคพื้นและบนอากาศ สามารถตรวจสอบการรั่วไหลของอากาศสู่ภายนอก (Pressure Alarm)และแจ้งเตือนการเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศ (Fitter Reminder) เมื่อถึงกำหนด ทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยของผู้ป่วยและการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อให้เป็นไปตามมาตรฐาน

นอกจากนี้ยังสามารถนำเปลเข้าเครื่อง CT scan ได้ เนื่องจากเปลไม่มีโลหะเป็นส่วนประกอบและมีขนาดที่ไม่ใหญ่เกินไป จึงไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากเปลความดันลบเหมือนกับอุปกรณ์อื่นนับเป็นการช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อไปยังเครื่องและระบบปรับอากาศของโรงพยาบาล และลดภาระของเจ้าหน้าที่ในการทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์ได้อย่างมาก

ที่สำคัญคือตัวเปลมีน้ำหนักเบา สามารถพับเก็บลงกระเป๋า พกพาได้สะดวก และติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับกับการใช้งานในรถพยาบาล

ดังนั้นหากนำ “PETE เปลปกป้อง” มาใช้ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากที่พัก เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ ลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ใช้บริการสถานพยาบาลได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันต้นแบบนวัตกรรมนี้ ผ่านการทดสอบคุณภาพ ISO 14644 ที่ยืนยันถึงมาตรฐานความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว และพร้อมให้ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในลักษณะการขออนุญาตใช้สิทธิ (Licensing) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นผลิตภัณฑ์เข้าบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อเข้าสู่กลไกการจัดซื้อของหน่วยงานภาครัฐได้

ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 1.5 – 2 แสนบาท ไปจนถึง 7-8 แสนบาท
หากมีการต่อยอดผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว นอกจากจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์
ด้วยอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล และลดการนำเข้าแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลในประเทศอีกด้วย)

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: