แนะนำ สวทช.

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 ตาม พ.ร.บ.พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 เพื่อเป็นหน่วยงานที่บริหารกองทุนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.)
ประกาศสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เรื่อง โครงสร้างและการจัดองค์กร อำนาจหน้าที่ วิธีการดำเนินงาน และสถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๗๙ ง วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ และ ประกาศ ฉบับที่ 2 เรื่องแก้ไขโครงสร้างองค์กร ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๒๖๑ ง วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
สวทช. มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก โดยการนำความสามารถอันเหนือชั้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยให้ภาคการ เกษตรและภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่ง สวทช. ได้ดำเนินงานผ่านการทำงานร่วมกันของศูนย์ทั้ง 5 ศูนย์แห่งชาติ ได้แก่

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)

มุ่งพัฒนางานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)

มุ่งพัฒนางานด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวัสดุต่างๆ

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

มุ่งพัฒนางานด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC)

มุ่งพัฒนางานด้านนาโนเทคโนโลยี

ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC)

มุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของประเทศ
การที่ประเทศของเราจะเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนได้นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของประเทศเราในการผลิตงานให้ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ และความมั่งคั่งของประเทศจะเกิดขึ้นได้กับคนไทย

หากเราจะมุ่งพัฒนาประเทศสู่ ‘เศรษฐกิจฐานความรู้’ นั่นหมายถึง ประเทศเราต้องไม่เพียงรับงานประกอบชิ้นส่วน หรือไม่เพียงแต่ผลิตสินค้าตามแบบที่คนอื่นคิดไว้แล้ว เพราะอย่างไรก็จะมีคนอื่นที่ผลิตได้ถูกกว่า ดังนั้น เราจำเป็นต้องสร้างสรรค์ และวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง อีกทั้งหาวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาตนเองในด้านนี้ได้แล้ว สิ่งที่แต่ละคนทำจะมีมูลค่าน้อย และจะบั่นทอนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของชาติอีกด้วย

สวทช. จึงได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับส่วนราชการ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อเชื่อมโยงให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิด และเข้าถึงความต้องการของทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ สิ่งทอ การประมง และอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี เกิดการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของ อุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศบนเวทีการค้าโลกได้

วิสัยทัศน์
Visions
สวทช. เป็นขุมพลังหลักของประเทศในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของรัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญ นำสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด
พันธกิจ
Mission
สวทช. มุ่งสร้างเสริมการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม (Research Development Design and Engineering) จนสามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ (Technology Transfer) พร้อมส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน (Human Resource Development) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้าน ว และท ที่จำเป็น เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยจัดให้มีระบบบริหารจัดการภายในที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานทุกส่วน
ค่านิยมหลัก สวทช.
N
Nation First

การคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักไม่ยึดติดกับอัตตาของตัวเองเห็นถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมมีความเสียสละ

เป็นเรื่องที่สำคัญมากเวลาพิจารณาเรื่องใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ การเดินหน้าโครงการต่างๆ ต้องนึกถึงประเทศเป็นหลัก

S
Science & Technology Excellence

การมุ่งเน้นในการสร้างความเป็นเลิศในสิ่งที่ทำ รับผิดชอบศึกษาค้นคว้าเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ

T
Teamwork

การทำงานร่วมกันเป็นทีม พร้อมที่จะเปิดใจรับฟังการกล้าวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ มีการสื่อสาร 2 ทาง

D
Deliverability

ความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ให้ได้ตามคำมั่นสัญญา มุ่งเน้นให้ทุกคนทำงานด้วยความกระตือรือร้น และเน้นความคล่องตัว

A
Accountability & Integrity

ความมีจริยธรรม จรรยาบรรณ ความโปร่งใสกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง