หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. ความร่วมมือเซิร์น-เดซี-ลินเดา โอกาสนักวิจัยไทยในเวทีวิทยาศาสตร์ระดับโลก
ความร่วมมือเซิร์น-เดซี-ลินเดา โอกาสนักวิจัยไทยในเวทีวิทยาศาสตร์ระดับโลก
15 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

ความร่วมมือเซิร์น-เดซี-ลินเดา โอกาสนักวิจัยไทยในเวทีวิทยาศาสตร์ระดับโลก

การส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยไทยได้มีโอกาสแสดงความสามารถบนเวทีระดับโลก เพื่อสร้างเครือข่ายและยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาตินั้น นอกจากการส่งผลงานเข้าประกวดหรือร่วมแข่งขันในเวทีต่างๆ แล้ว การได้ทำงานร่วมกับโครงการวิจัยระดับโลกก็ถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญของนักวิทยาศาสตร์และประเทศไทย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ทำให้เยาวชนและนักวิจัยไทยมีโอกาสร่วมมือและทำงานกับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก อย่างเช่น เซิร์น หรือองค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (European Organization for Nuclear Research: CERN) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวาสมาพันธรัฐสวิส

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนเชิร์นหลายครั้ง และมี พระราชกระแสรับสั่งกับ “ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช รัชยพงษ์” ว่า “หากนักวิทยาศาสตร์ไทยมีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับเซิร์นก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยเป็นอันมาก”

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะเลขานุการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้ประสานงานเพื่อให้มีการหารือร่วมกันระหว่างทีมผู้บริหารของเซิร์นกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับความร่วมมือในสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องจนกระทั่งมีการลงนามแสดงเจตจำนงระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ประเทศไทย กับสถานีวิจัยซีเอ็มเอส (CMS) ของเซิร์น เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักศึกษา 2 คน และครูฟิสิกส์ไทย 2 คนได้เข้าร่วมโครงการภาคฤดูร้อนเซิร์น ได้เข้าร่วมทำการทดลองด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงและมีความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยกับเซิร์นอีกด้วย

นอกจากนี้ในครั้งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนสถาบันเดซี่ องค์กรวิจัยชั้นนำของโลกด้านแสงซินโครตรอนและด้านฟิสิกส์อนุภาคมูลฐาน ณ เมืองฮัมบูร์กสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2545 สถาบันเดซีได้ทูลเกล้าฯ ถวายทุนโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี เพื่อให้นักศึกษาไทยในสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเข้าร่วมกิจกรรมวิจัยในห้องปฏิบัติการของสถาบันร่วมกับนักศึกษาทั่วโลกที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สวทช. และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนคัดเลือกเยาวชนไทยเข้าร่วมกิจกรรมวิจัยดังกล่าว จนถึงปัจจุบันมีนักศึกษาไทยเข้าร่วมโครงการ 49 คน

อย่างไรก็ดีนอกจากเยาวชนไทยจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่สถาบันเดซี และนักวิทยาศาสตร์ไทยจะได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการและวิศวกรชั้นนำในเซิร์นแล้ว สวทช. ยังรับสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้นิสิต นักศึกษา นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ของไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการ อีกทั้งได้มีโอกาสเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ ๆ จากประสบการณ์จริงของนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลในอดีตจำนวนมาก ที่ได้รับเชิญให้มานำเสนอผลงานในการประชุมดังกล่าว

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา สวทช. ได้ดำเนินการประกาศรับสมัครและคัดเลือกนิสิต นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมดังกล่าว หลังจาก สวทช. และผู้แทนสมาชิกมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้คัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในขั้นต้นแล้ว จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อมีพระราชวินิจฉัยคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้ายต่อไป จนถึงปัจจุบันมีผู้แทนประเทศไทศไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ซึ่งประกอบด้วยนิสิต นักศึกษา อาจารย์นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่รวมทั้งสิ้น 69 คน

ที่ผ่านมาภายหลังจากการประชุมที่ลินเดา ตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าประชุมจะมีภารกิจในการไปบรรยายเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ตามสถานที่ต่าง ๆ อันเป็นการส่งต่อความรู้และแรงบันดาลใจที่ได้รับมาจากเวทีการประชุมระดับโลกให้แก่เด็กและเยาวชนไทยอีกด้วย

การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่สถาบันเดซีของเยาวชนและนักศึกษาการที่นักวิทย์รุ่นใหม่ไทยได้พบปะนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่เมืองลินเดา และนักวิทยาศาสตร์ไทยยังได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับเซิร์นล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนางานวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ การสร้างมิตรภาพและเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่ทำงานด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการนำมาต่อยอดพัฒนางานวิจัยของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: