หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “Career for the Future”เพิ่มทักษะและความสามารถให้แรงงานไทยสู่อาชีพอนาคต
“Career for the Future”เพิ่มทักษะและความสามารถให้แรงงานไทยสู่อาชีพอนาคต
15 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

"Career for the Future"เพิ่มทักษะและความสามารถให้แรงงานไทยสู่อาชีพอนาคต

“มุ่งยกระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาคการผลิตและบริการไทยให้เป็นมืออาชีพ”

นี่คือวิสัยทัศน์ (Vision) ของ สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต หรือ Career for the Future Academy หน่วยงานด้านการพัฒนากำลังคนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มีพันธกิจสำคัญในการให้บริการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาทางวิชาการและเทคนิค เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของบุคลากรในภาคการผลิตและบริการของประเทศไทย

รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการวิจัยพัฒนาและใช้ประโยชน์ด้าน วทน.ของประเทศ ผ่านกลไกและส่งต่อผลงานของ สวทช. ไปสู่หน่วยงานรัฐ และเอกชนในภาคการผลิตและบริการ พร้อมทั้งเสนอทางเลือกใหม่ให้หน่วยงานดังกล่าวเตรียมความพร้อมต่อการบริหารจัดการที่ใช้ วทน.อย่างมืออาชีพ ที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและตอบโจทย์ประเด็นทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถาบันฯ แห่งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการพัฒนาคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์เพื่ออุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 และพัฒนามาเป็นสถาบันฝึกอบรมของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) สวทช. ในปี พ.ศ. 2537 ก่อนพัฒนามาเป็นสถาบันวิทยาการ สวทช. ในปี พ.ศ. 2553

ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2562 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต หรือ Career for the Future Academy เพื่อรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา

บริการของสถาบันแห่งนี้ มีทั้งหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคตแบบสาธารณะ (Public Class) ระบบการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-เลิร์นนิง โครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพด้านไอที บริการฝึกอบรมเฉพาะกลุ่ม (In-house Class) และบริการเช่าห้องอบรม

ทั้งนี้สถาบันฯ มีหลักสูตรที่ประกอบด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมาย มีองค์ความรู้ที่แสดงให้เห็นการนำเทคโนโลยีไปใช้ในธุรกิจหลากหลาย มีความรู้ที่เป็นการจัดการที่ดีเยี่ยม (Best practices) จำนวนมากสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมที่จัด สำหรับตัวอย่างหลักสูตรเด่น ๆ เช่น รู้จริงระบบการปลูกพืชแนวตั้งใน 2 วัน (Mastering Vertical Farming System in 2 Days) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ให้ความรู้เทคโนโลยี การจัดการและความเข้าใจและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชสมัยใหม่ ซึ่งตอบโจทย์ธุรกิจที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่สะอาด ปลอดภัย และมีคุณภาพที่ดีใกล้เคียงกันในทุกรอบการผลิต และใช้แรงงานน้อย สามารถปลูกได้ทั้งปี

ทุกหลักสูตรฝึกอบรมมุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และประสบการณ์โดยวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณาวุฒิจากศูนย์แห่งชาติ ภายใน สวทช. ตลอดจนเครือข่ายวิทยากรจากทั้งสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ หน่วยงานรัฐ และเครือข่ายผู้ประกอบการจากภาคเอกชน โดยใช้ช่องทางการจัดกิจกรรมทั้งแบบออฟไลน์ที่เป็นปกติใช้ห้องอบรม สถานที่ที่สะดวกและบริการดีเยี่ยม หรือแบบออนไลน์ผ่านช่องทางอี-เลิร์นนิ่ง

นอกเหนือจากการยกระดับความสามารถของคนไทยด้วยการฝึกอบรมแล้วทางสถาบันฯ ยังเป็นผู้ดำเนินการโครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มภาคี 7 ประเทศคือ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า มองโกเลีย และไทย ภายใต้ชื่อ Information Technology Professionals Examination Council (ITPE) โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรฐานสากล ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค และร่วมกันจัดสอบเพื่อวัดระดับความรู้และทักษะพื้นฐานด้านไอทีแบบไม่อิงผลิตภัณฑ์ใด ๆ

การสอบนี้เหมาะสำหรับชาวไอที นักวิเคราะห์ทุกสาขา นักวิชาการ อีกทั้งในกลุ่มตำแหน่งอื่น ที่สนใจสอบเทียบความรู้ด้านไอที รวมถึงพัฒนาศักยภาพของตนเองอีกด้วย

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: