กวทช. มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) เพื่อให้ สวทช. เป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส สามารถดำเนินงานได้บรรลุวัตถุประสงค์ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม กวทช. จึงได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งเชื่อมโยงกับค่านิยมหลักของ สวทช. นอกจากนี้ยังได้กำหนดจรรยาบรรณการดำเนินงานเพื่อให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ที่ปรึกษา ผู้บริหาร บุคลากร 3 และผู้ปฏิบัติงานให้ สวทช. ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการทำงาน เพื่อสร้างความก้าวหน้าและมั่นคงอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีประกอบด้วย
กวทช. ให้การสนับสนุนเรื่องการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมยืนยันเจตนารมณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ยอมรับการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ และให้กรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษา ผู้บริหาร บุคลากร และผู้ปฏิบัติงานให้ สวทช. ไม่กระทำหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบไม่ว่ากรณีใดๆ โดย สวทช. ได้ประกาศค่านิยมหลัก เรื่องความมีจริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม โปร่งใส ไม่ทุจริต (Accountability & Integrity) เป็นแนวทางให้บุคลากรของ สวทช. ต้องยึดถือและปฏิบัติ
โดยที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีนโยบายในการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว พร้อมเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ยอมรับการทุจริตและคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ และเพื่อให้ผู้บริหาร บุคลากร และผู้ปฏิบัติงานให้กับ สวทช. ไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการสนับสนุนการทุจริตและคอร์รัปชัน ดังนั้น สวทช. จึงขอแสดงเจตนารมณ์อย่างเปิดเผยเพื่อเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมขององค์กรที่มีความโปร่งใสและสุจริต จึงประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน เพื่อเป็นมาตรฐานและแนวทางในการปฏิบัติงานที่ต้องยึดถือและปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1. ปฏิบัติหน้าที่และบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและกระบวนการมาตรฐาน สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานได้ตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ
2. จัดให้มีการตรวจสอบการทำงานอย่างสม่ำเสมอตามระบบการควบคุมกำกับดูแลภายใน รวมถึงการจัดเก็บรักษาข้อมูลในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับการได้รับการตรวจสอบจากภายนอกโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือหน่วยงานตรวจสอบอื่นใดตามกฎหมาย
3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรของ สวทช. ยึดมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง และมีจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันในการปฏิบัติงาน โดยต้องถือปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด ดังนี้
3.1 ไม่กระทำพฤติกรรมใด ๆ ที่เป็นการรับสินบนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมอันเป็นการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ใด ๆ ในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย
3.2 ไม่เป็นตัวกลางในการนำเสนอทรัพย์สิน สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บุคลากรของ สวทช. ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
3.3 ไม่ละเลยหรือเพิกเฉยเมื่อพบเห็นการกระทำหรือพฤติกรรมที่เข้าข่ายการทุจริตและคอร์รัปชัน หรือส่อไปในทางทุจริตและคอร์รัปชันทั้งทางตรงหรือทางอ้อม โดยเมื่อทราบเหตุดังกล่าวหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยจะต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบโดยทันที และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว
3.4 ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติงาน โดยปฏิบัติตามมาตรการที่เกี่ยวกับการควบคุมกำกับดูแลภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ใช้สำหรับการป้องกันการทุจริตและคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด
3.5 บุคลากรของ สวทช. ผู้ใดที่กระทำการทุจริตและคอร์รัปชันจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามข้อบังคับและระเบียบของ สวทช. และจะถูกดำเนินคดีในการกระทำการทุจริตและคอร์รัปชันเพื่อได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้
4. กำหนดให้มีผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและคอร์รัปชัน โดยผ่านช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ดังนี้
4.1 แจ้งผ่านช่องทางร้องเรียนบนหน้าเว็บไซต์ สวทช. https://www.nstda.or.th/home/
4.2 แจ้งผ่านช่องทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ vou@nstda.or.th
4.3 แจ้งโดยตรงถึงผู้อำนวยการ สวทช.
5. กำหนดให้ สวทช. และบุคลากรของ สวทช. ยึดถือปฏิบัติตามเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันตามประกาศนี้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งมุ่งมั่นสร้างเสริมและรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมขององค์กรที่มีความโปร่งใสและสุจริต โดยยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต และมีวินัยต่อกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง โดยกล้ายืนหยัดในการดำรงตนและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อรักษาไว้ซึ่งความลับและผลประโยชน์ของประเทศชาติอันเป็นการสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมที่ปราศจากการทุจริตและคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนต่อไป
กวทช. ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทุกกลุ่มทั้งหน่วยงานด้านนโยบาย/จัดสรรทรัพยากร/และกำกับดูแล พันธมิตรและลูกค้า บุคลากรของ สวทช. รวมถึงกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีความคาดหวังต่อ สวทช. ที่แตกต่างกันดังนี้
- หน่วยงานด้านนโยบาย/จัดสรรทรัพยากร/และกำกับดูแล อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี มีความคาดหวังให้ สวทช. ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า สามารถส่งมอบผลงานที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในวงกว้างอย่างรวดเร็ว มีความชัดเจนในการทำงาน ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ
- พันธมิตร (หน่วยงานที่ร่วมทำงานกับ สวทช. ในลักษณะหุ้นส่วน) และลูกค้า (ผู้ที่ประสงค์จะใช้ผลงานหรือบริการของ สวทช.) มีความคาดหวังให้ สวทช. เปิดกว้าง รับฟังความเห็นเพื่อรับโจทย์ที่เป็นความต้องการไปช่วยดำเนินการ มีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองรวดเร็ว และได้รับข้อมูล ข่าวสาร บริการ คำแนะนำที่เป็นประโยชน์จาก สวทช. อย่างสม่ำเสมอ และสามารถแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเท็จจริงได้
- บุคลากรของ สวทช. ซึ่งเป็นกำลังสำคัญขององค์กร เป็นทั้งผู้ผลิตผลงานและผู้ให้บริการแก่พันธมิตรและลูกค้า มีความคาดหวังต่อ สวทช. ในเรื่องความชัดเจนในบทบาทและหน้าที่ของตนต่อองค์กรและรายละเอียดของงานที่ได้รับมอบหมาย โอกาสในการพัฒนาศักยภาพและความสามารถ สภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีความยืดหยุ่น โอกาสความก้าวหน้าในสายอาชีพ รวมถึงการได้ทำงานในด้านที่มีความสามารถเฉพาะ
- กลุ่มประชาชนทั่วไปที่เป็นตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม มีความคาดหวังจะเห็นผลงานของ สวทช. ใช้ประโยชน์ได้จริงในวงกว้าง เช่น เกิดความสะดวกในชีวิตประจำวัน ปลอดภัย รักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ทั้งนี้ กวทช. มีนโยบายตอบสนองต่อความคาดหวังดังกล่าวโดยสนับสนุนให้ สวทช. สร้างผลงานจากการวิจัยและพัฒนาที่สำเร็จและเกิดการใช้ประโยชน์จนมองเห็นได้เป็นรูปธรรม ซึ่งขึ้นกับการกำหนดคลัสเตอร์ และอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทิศทางการวิจัย กลไกการได้รับโจทย์ปัญหาที่ตรงตามความต้องการ การคัดเลือกและใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้อง ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่มีอยู่และที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต รวมไปถึงการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พันธมิตรต่างๆ และกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ในส่วนของบุคลากรของ สวทช. กวทช. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของบุคลากร รวมทั้งการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อใช้ปรับปรุงการบริหารและดูแลบุคลากรของ สวทช. นอกจากนี้ กวทช. ยังให้ความสำคัญและส่งเสริมการรักษาข้อมูลที่เป็นความลับของลูกค้าอย่างจริงจัง รวมทั้งการไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมให้ สวทช. มุ่งมั่นในการสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า สร้างผลงานและ ให้บริการที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและปลอดภัย โดยมีนโยบายคุณภาพ สวทช. เป็นแนวทางให้บุคลากรทุกคนใช้ในการปฏิบัติงานตามมาตรฐาน ISO 9001:2008
กวทช. มีความรับผิดชอบในการกำกับดูแลให้มีระบบบริหารจัดการองค์กรที่สำคัญ ได้แก่ การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน การบริหารจัดการสารสนเทศ และการบริหารทรัพยากรบุคคล สร้างความมั่นใจในความเพียงพอ และประสิทธิภาพของระบบต่างๆ ดังกล่าว ตลอดจนติดตามผลการดำเนินงานของ สวทช. เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
การบริหารความเสี่ยง
กวทช. ให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลที่ดี และเห็นว่าระบบบริหารความเสี่ยงองค์กร (Enterprise Risk Management) ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จะช่วยลดความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของ สวทช. จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อกำกับดูแลการบริหารจัดการความเสี่ยงของ สวทช. ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด (อ้างถึง ประกาศสวทช. เรื่อง นโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงของสวทช. (วันที่ 31 ตุลาคม 2554)) รวมทั้งจัดให้ สวทช. มีระบบบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับกรอบการบริหารความเสี่ยงตามมาตรฐาน ISO 31000:2009
สวทช. มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการความเสี่ยงที่มีผู้อำนวยการเป็นประธาน เป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยง จัดการให้ความเสี่ยงต่างๆ อยู่ในวิสัย และขอบเขตที่พึงประสงค์ โดยจัดให้มีการประเมินและทบทวนความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ประมวลวิเคราะห์ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และจัดทำรายงานการติดตามประเมินผลการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งส่งเสริม สื่อสาร พัฒนาความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารความเสี่ยงให้กับบุคลากรทุกระดับ
สวทช. ได้นำ Bow Tie Diagram (แผนภาพแสดงความเชื่อมโยงองค์ประกอบสำคัญในการบริหารความเสี่ยง ซึ่ง CSIRO ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการความเสี่ยงองค์กร) มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุ ผล กระทบ พิจารณาทางเลือกในการควบคุมหรือลดความเสี่ยง รวมถึงใช้ในการประชุม รายงานผล ปรึกษาหารือ สื่อสารร่วมกับคณะกรรมการจัดการความเสี่ยง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ สวทช. ได้จัดทำคู่มือการบริหารความเสี่ยง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหาร และบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติให้มีความสอดคล้องกันทั่วทั้งองค์กร
การควบคุมภายใน
ระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินงานตามภารกิจของ สวทช. ให้บรรลุเป้าหมาย กวทช. จึงกำหนดให้ สวทช. ต้องจัดระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอและเหมาะสม แต่ยังคงรักษาความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน สนับสนุนให้ สวทช. มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี โดยให้มีการกำหนดนโยบาย การวางแผน การดำเนินการ การควบคุม การติดตาม/ประเมินผล และรายงานเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายในอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ และสอดคล้องกับการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้บุคลากรทุกระดับตระหนักถึงความสำคัญ และเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการควบคุมภายใน
ระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพจะทำให้การบริหารทรัพยากรและทรัพย์สินของ สวทช. มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รายงานทางการเงินและการดำเนินงานที่มิใช่การเงินมีความถูกต้อง เชื่อถือได้และสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจได้ทันเวลา และทำให้การดำเนินงานและการปฏิบัติงานเป็นไปตามนโยบาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับฯ ที่เกี่ยวข้อง
สวทช. มีการจัดทำคู่มืออำนาจดำเนินการ (Authorization Manual) ในระดับบริหารและระดับปฏิบัติการอย่างชัดเจนที่ครอบคลุมถึงการควบคุมทางการเงิน การบริหารทรัพยากรบุคคล นโยบายและแผนงบประมาณ รวมถึงการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีระบบการป้องกันควบคุมทรัพย์สิน รวมทั้งข้อมูลในระบบสารสนเทศอย่างปลอดภัยและเหมาะสม จัดให้มีระบบรับข้อเสนอแนะจากลูกค้าภายนอก และข้อเสนอแนะของบุคลากรจากโครงการ Voice of You การจัดทำคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานในระบบงานที่สำคัญให้เป็นไปตามมาตรฐาน ISO 9001รวมถึงการจัดทำระบบการประเมินการควบคุมภายในด้วยตนเอง (Control Self-assessment) เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรมีความรับผิดชอบในการประเมินความเสี่ยง และพัฒนาระบบการควบคุมภายในด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงขององค์กรมีประสิทธิผล
นอกจากนี้ สวทช. ได้นำระบบสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการกระบวนการทำงานที่สำคัญเพื่อให้ระบบการควบคุมภายในมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แก่ การบริหารจัดการโครงการ การบริหารงบประมาณ การเงินและบัญชี พัสดุ งานขายและการบริการ การบริหารทรัพยากรบุคคล การประเมินผลงานวิชาการ โดยระบบสารสนเทศดังกล่าวมีการกำหนดสิทธิการเข้าใช้งานและมีกระบวนการอนุมัติ (workflow) ตามลำดับชั้นหรือตามวงเงิน รวมทั้งจัดให้มีการตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าว (IT Audit) ทั้งด้านการควบคุมระบบงาน (Application Controls) และการควบคุมทั่วไป (IT General Controls) ตามแผนของสำนักตรวจสอบภายใน
คณะกรรมการจัดการ (ซึ่งมีผู้อำนวยการเป็นประธาน) ทำหน้าที่บริหารจัดการให้ระบบควบคุมภายในมีประสิทธิภาพ และติดตามการรายงานเกี่ยวกับการควบคุมภายในของระบบงานที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน โดยมีคณะอนุกรรมการตรวจสอบเป็นผู้สอบทานการประเมินประสิทธิผลของระบบการควบคุมภายใน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สวทช. มีระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอเหมาะสม และมีประสิทธิผล
การตรวจสอบภายใน
กวทช. ให้ความสำคัญและสนับสนุนให้ สวทช. มีการดำเนินงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบเพื่อช่วย กวทช. ในการกำกับดูแล และจัดตั้งสำนักตรวจสอบภายใน (ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการตรวจสอบ โดยรายงานต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบในด้านงานตรวจสอบภายใน และรายงานต่อผู้อำนวยการในด้านข้อเสนอแนะจากผลการตรวจสอบ และด้านการบริหารหน่วยงาน) เพื่อให้เป็นกลไกการตรวจสอบที่สามารถดำเนินการสนับสนุนภารกิจของ สวทช. ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์ขององค์กร รวมทั้งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ กวทช. และฝ่ายบริหารว่า ระบบการควบคุมภายในที่ สวทช. กำหนดขึ้นมีความเพียงพอและเหมาะสม สามารถช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้นอกจากนี้ กวทช. ยังส่งเสริมให้ฝ่ายบริหารและบุคลากรตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบภายในในด้านการสร้างคุณค่าและผลประโยชน์แก่องค์กร
สำนักตรวจสอบภายในทำหน้าที่สอบทานและประเมินประสิทธิผลของระบบบริหารความเสี่ยง ระบบการควบคุมภายใน และการกำกับดูแลกิจการของ สวทช. ตามแผนการตรวจสอบประจำปี ซึ่งได้พิจารณาจากวัตถุประสงค์ พันธกิจ แผนกลยุทธ์ และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในระดับภาพรวม (Risk Based Audit Approach) รวมถึงจุดควบคุมที่สำคัญ (Key control point) และความคิดเห็นเพิ่มเติมของฝ่ายบริหาร โดยแผนการตรวจสอบจะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบ การปฏิบัติงานของสำนักตรวจสอบภายในยึดถือกฎบัตรสำนักตรวจสอบภายในที่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ รวมทั้งสอดคล้องตามกรอบโครงสร้างการปฏิบัติงานวิชาชีพตรวจสอบภายในระดับสากล (The International Professional Practices Framework : IPPF) และตามแนวทางของ COSO
รายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงาน
การบริหารจัดการสารสนเทศ
กวทช. ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Governance) ซึ่งเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการที่ดีทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ต้องมีการควบคุมการจัดการและการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เพื่อให้บรรลุกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร โดยมอบให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ สวทช. รวมทั้งบริหารจัดการ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนแม่บท ICT และสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture) ที่ออกแบบไว้ โดยมีกลไกการอนุมัติโครงการและจัดสรรทรัพยากร ICT อย่างสอดคล้องและเหมาะสม
นอกจากนี้ สวทช. ได้จัดให้มีนโยบายและแนวปฏิบัติด้านระบบสารสนเทศของ สวทช. และแผนเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินด้าน ICT รวมทั้งมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ICT และการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวข้อง (Compliance) เพื่อให้บริการที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานระบบสารสนเทศ และลดความเสี่ยงทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว (อ้างถึง ระเบียบ สวทช. เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติด้านระบบสารสนเทศของสวทช. (วัน ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556))
การบริหารทรัพยากรบุคคล
กวทช. สนับสนุนให้ สวทช. ใช้หลักCompetency Based ManagementและPerformance Based Managementในการบริหารทรัพยากรบุคคล ดังนี้
- Competency Based Managementใช้เป็นหลักในการสรรหาคัดเลือก การพัฒนาบุคลากร และวางแผนความก้าวหน้าทางอาชีพ
- Performance Based Managementใช้เป็นหลักในการบริหารผลการปฏิบัติงาน
หลักการทั้งสองถูกเชื่อมโยงสู่การปฏิบัติจริงอย่างมีประสิทธิผลโดยใช้ Individual Action and Development Plan (IADP) เป็นเครื่องมือในการกำหนดแผนงานรายบุคคลและระดับคุณภาพผลงานเพื่อนำไปสู่การบริหารและประเมินผลการปฏิบัติงาน ประกอบด้วยการกำหนดแผนงานรายบุคคล (Individual Action Plan : IAP) และการกำหนดแผนพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan : IDP) เพื่อให้บุคลากรวางแผนและส่งเสริมการพัฒนาตนเองไปสู่การเพิ่มผลการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ สวทช. ยังให้ความสำคัญกับค่านิยมหลัก ๕ ประการที่บุคลากรของ สวทช. ต้องยึดถือและปฏิบัติ โดยกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาต้องประเมินพฤติกรรมที่สะท้อนค่านิยมหลักดังกล่าวของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกปี และมีน้ำหนักความสำคัญร้อยละ 30 ของการประเมินผลการปฏิบัติงานตาม IAP
สวทช. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของบุคลากรในองค์กรทุกระดับตลอดช่วงการทำงาน เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรมีขีดความสามารถตามลักษณะงานที่ถือครองอยู่ รวมถึงมีศักยภาพรองรับการเติบโตในสายอาชีพในอนาคต โดยเริ่มจากการสร้างความรู้พื้นฐาน และความเข้าใจเกี่ยวกับองค์กรให้กับบุคลากรเริ่มงานใหม่ผ่านโครงการปฐมนิเทศ การเชื่อมโยงข้อมูลผลประเมินขีดความสามารถ (Functional competency gap) เข้ากับการพัฒนาความสามารถของบุคลากร และการกำหนดแผนการพัฒนาบุคลากรของ สวทช. เพื่อให้มี competency ที่เหมาะสมกับตำแหน่งตามที่องค์กรกำหนด ด้วยวิธีการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ระดับบังคับบัญชาและผู้บริหารระดับต้น ระดับกลางอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ของบุคลากรวิจัยผ่านกระบวนการฝึกอบรมสัมมนา การเข้าร่วมประชุมวิชาการ การนำเสนอผลงาน การศึกษาดูงาน การปฏิบัติงานวิจัยทั้งภายในและภายนอก รวมถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้ สวทช. ให้ความสำคัญกับการสร้างความผูกพันของบุคลากรต่อองค์กร (Employee Engagement) โดยมีการสำรวจข้อมูลความผูกพันของพนักงานทั่วทั้งองค์กร เพื่อหาสาเหตุปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพัน ความสอดคล้องกันระหว่างความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้องค์กรประสบความสำเร็จ และความพึงพอใจกับงานที่ท้าท้าย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงกลไกการบริหารและดูแลบุคลากรของ สวทช. อย่างต่อเนื่องภายใต้ข้อบังคับที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล
การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน
กวทช. กำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานประจำปี โดยมีทิศทางเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนกลยุทธ์ของ สวทช. ทั้งนี้มีการนำเครื่องมือ Balanced Scorecard (BSC) มาใช้เป็นแนวทางในการแปลงวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์องค์กรไปสู่ชุดของตัวชี้วัดผลสําเร็จ (BSC KPI) ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดตามมุมมองทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ มุมมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มุมมองลูกค้า พันธมิตร และการเงิน มุมมองกระบวนการภายใน และมุมมองความสามารถขององค์กร ทั้งนี้ BSC KPI จะเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของผู้บริหารสูงสุดของ สวทช. ใน 2 ระดับบนเท่านั้น ได้แก่ ผู้อำนวยการ สวทช. รองผู้อำนวยการ สวทช. รวมถึงผู้อำนวยการศูนย์แห่งชาติ ในขณะที่ระดับอื่นๆ ที่เหลือจะเป็นการกำหนดตัวชี้วัดโดยใช้ IADP
นอกจากนี้ กวทช. ยังกำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องรายงานผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงเปรียบเทียบกับเป้าหมายให้ กวทช. ทราบอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะๆ รวมทั้งการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในด้านต่างๆ และรายงานทางการเงิน เพื่อให้ กวทช. รับทราบผลการดำเนินงานว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ และให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการดำเนินงานของ สวทช.
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง โดยนำผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงตอบสนองความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนอย่างสมดุลด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ และการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นคุณลักษณะของผลงานที่มีคุณภาพดังนี้
- ความถูกต้อง ความครบถ้วน
- ความรวดเร็ว และความตรงต่อเวลา
- ความเป็นเลิศ
- ความสอดคล้องต่อกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
- ความถูกต้องตามหลักจริยธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้
- ความเชื่อมโยงในองค์รวม
ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
กวทช. ให้ความสําคัญกับความปลอดภัยในการทํางานของบุคลากรของ สวทช. และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยสนับสนุนให้ สวทช. นําระบบการจัดการความปลอดภัยตามมาตรฐาน มอก. 18001มาใช้บริหารความปลอดภัยในทุกกิจกรรมและทุกพื้นที่ปฏิบัติงาน ตลอดจนปรับปรุงและพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง สวทช. ได้รับใบรับรองระบบการจัดการความปลอดภัยจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) ว่า เป็นหน่วยงานที่มีการจัดการความปลอดภัยที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน มอก.18001:2554 และ BS OHSAS 18001:2007
ในด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมโดยรอบ กวทช. ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและควบคุมการปนเปื้อนของมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม และให้มีการจัดการมลพิษทั้งหมดตามข้อกำหนดของกฎหมายและมาตรฐานสากล จึงส่งเสริมให้ สวทช. วางรากฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของผู้บริหารและบุคลากรทุกคนที่ต้องปฏิบัติ (อ้างถึง ประกาศ สวทช. เรื่อง นโยบายอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม (วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557))
กวทช. ส่งเสริมให้ สวทช. นำระบบการจัดการพลังงานมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ยังช่วยลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก รวมทั้งเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สวทช. จึงประกาศนโยบายการอนุรักษ์พลังงาน (อ้างถึง ประกาศ สวทช. เรื่อง นโยบายการอนุรักษ์พลังงาน (วันที่ 17 มีนาคม 2554)) เพื่อให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานจัดการพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้ถือเป็นหน้าที่ในการปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ สวทช. ยังเป็นหน่วยงานที่จัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) อย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อมุ่งเน้นกระบวนการลดกิจกรรมปล่อยก๊าชเรือนกระจก และสร้างความตระหนักของผลกระทบทางด้านพลังงานที่ส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้กับบุคลากรของ สวทช.
กวทช. มีนโยบายการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และสม่ำเสมอตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้ สวทช. เปิดเผยรายงานผลการดำเนินงาน รายงานทางการเงิน และรายงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบไว้ในรายงานประจำปีของ สวทช. นอกจากนี้ สวทช. ยังกำหนดให้ผู้บริหารที่รับผิดชอบทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานของ สวทช. ผ่านสื่อต่างๆ และบนเว็บไซต์ของ สวทช. เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง
สวทช. เป็นหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินงานตามพันธกิจวิจัย พัฒนา ออกแบบและวิศวกรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐาน และมีระบบบริหารจัดการภายในที่สนับสนุนการดำเนินงานทุกส่วน มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการใช้งานของข้อมูลที่เกี่ยวข้องหลากหลายประเภท จึงตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการดำเนินการอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับข้อมูลที่ สวทช. จัดทำขึ้น และ/หรือข้อมูลที่ สวทช. ได้รับมาที่ประสงค์ให้เก็บเป็นความลับหรือมีภาระผูกพันให้เก็บเป็นความลับ
เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่รักษาข้อมูลข่าวสารลับของหน่วยงาน ประกอบกับข้อบังคับ กวทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้พนักงานและพนักงานโครงการมีหน้าที่รักษาความลับ สวทช. จึงได้ประกาศนโยบายการรักษาความลับ และแนวปฏิบัติในการรักษาความลับ (อ้างถึง ประกาศ สวทช. เรื่อง นโยบายการรักษาความลับ (วันที่ 9 มกราคม 2556) และ ประกาศ สวทช. เรื่อง แนวปฏิบัติในการรักษาความลับ (วันที่ 9 มกราคม 2556))
นโยบายการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์
กวทช. ให้ความสำคัญเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยจะไม่ให้กรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษา ผู้บริหาร บุคลากร และผู้ปฏิบัติงานให้ สวทช. ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน โดยในจรรยาบรรณการดำเนินงานของ สวทช. ได้กำหนดแนวทางในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ส่วนตนต่อผลประโยชน์ของ สวทช. เพื่อให้กรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษา ผู้บริหาร บุคลากรทุกระดับและผู้ปฏิบัติงานให้ สวทช. ถือปฏิบัติ (ดูรายละเอียดในจรรยาบรรณของกรรมการและอนุกรรมการ ข้อ 5.1 (2) และระเบียบ สวทช. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของพนักงานและพนักงานโครงการ พ.ศ. 2557 ข้อ 15 )
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต ตามหลักธรรมาภิบาล ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เพื่อเป็นการสนับสนุน สร้างวัฒนธรรม ค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรมสุจริตของบุคลากร ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติทุกระดับในการปฏิบัติงาน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการกระทำอันมีผลต่อการใช้ดุลพินิจหรือการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติหรือเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจึงมีนโยบายไม่รับ ของขวัญหรือของกำนัล (No Gift Policy) เพื่อรณรงค์ให้บุคลากรของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ทุกระดับไม่รับ ของขวัญหรือของกำนัลจากการปฏิบัติหน้าที่ในทุกเทศกาลหรือโอกาสอื่นใด
- ดาวน์โหลดประกาศ [TH] | [EN]
- แบบรายงานการรับของขวัญและของกำนัล จากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) [Word] | [PDF]
- แบบรายงานการรับของขวัญและของกำนัล (มาตรา 128) [Word] | [PDF]
- รายงานการรับของขวัญและของกำนัล จากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
- รายงานการรับของขวัญและของกำนัล [มาตรา 128] ประจำปีงบประมาณ 2566
2567
2566
2565
2564
2563
2562
2561
2566
2565
2564
2563
2562
2561
นโยบาย การบริหารจัดการความเสี่ยง (ประกาศ ณ วันที่ 8 กันยายน 2563)
2567
2566
2565
2564
2563
2562
เพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี กวทช. ได้กำหนดให้มีจรรยาบรรณการดำเนินงานของ สวทช. เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการประพฤติปฏิบัติสำหรับกรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษา ผู้บริหาร บุคลากร และผู้ปฏิบัติงานให้ สวทช. ตลอดจนส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนแก่ สวทช. เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติในระยะยาว
กวทช. มุ่งหวังให้กรรมการ และอนุกรรมการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่สูงสุด และต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ สวทช. และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มที่ได้มอบความไว้วางใจให้กับ กวทช. (Fiduciary Duty) โดยจัดให้มีจรรยาบรรณของกรรมการ และอนุกรรมการ ไว้ดังนี้
2. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต หลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ส่วนตนต่อผลประโยชน์ของ สวทช. เพื่อให้การบริหารงานมีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยรวมถึง
- ไม่นำข้อมูลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ไปใช้แสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
- ไม่ใช้ความลับของ สวทช. ในทางที่ผิด และไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของ สวทช. แม้พ้นสภาพหรือสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ที่ สวทช. ไปแล้ว
- ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากการเป็นกรรมการ/อนุกรรมการ
- ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องที่กำลังพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการ
- ไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้ส่วนเสียจากการทำสัญญาของ สวทช.
- ไม่รับสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดอันเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของ สวทช. เพื่อประโยชน์ส่วนตนและครอบครัว
3. ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และพร้อมที่จะแสดงความเห็นของตนอย่างอิสระ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ สวทช. ผู้บริหาร และพนักงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการเข้าประชุมทุกครั้งยกเว้นกรณีที่มีเหตุจำเป็น
4. ใช้ความระมัดระวังและรอบคอบในการปฏิบัติหน้าที่ โดยการตัดสินใจใดๆ ของกรรมการ/อนุกรรมการได้ทำโดยสมเหตุสมผล และมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเพียงพอ
ผู้บริหารของ สวทช. เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจและได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บริหารงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ สวทช. จึงควรต้องถือปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้บริหารดังนี้
- บริหารงานตามนโยบายและเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงการกำกับดูแลการดำเนินงาน การรายงานผลการดำเนินงาน และการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
- เป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างที่ดีตามค่านิยมหลักของ สวทช. รวมทั้งส่งเสริมให้พนักงาน และพนักงานโครงการยึดมั่นในค่านิยมหลัก และจรรยาบรรณที่ สวทช. ใช้ในการดำเนินงาน รวมถึงติดตามให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง
- สร้างเสริมความมั่นใจในการทำงานให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในด้านผลตอบแทนที่เป็นธรรม การแต่งตั้งโยกย้าย การให้รางวัลและการลงโทษที่เป็นธรรมโดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ วุฒิภาวะ ตลอดจนความเหมาะสมที่เกี่ยวข้องของพนักงานและพนักงานโครงการ ตลอดจนดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานและพนักงานโครงการ
- ไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งไม่ดำเนินการใดๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อองค์กร
- ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง กล้าเปลี่ยนแปลงและกล้าตัดสินใจบนพื้นฐานของประโยชน์ขององค์กร ส่วนรวม และประเทศชาติ
- ยึดถือประมวลจริยธรรมของพนักงานและพนักงานโครงการของ สวทช. เป็นแนวปฏิบัติในการบริหารงาน
สวทช. ได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับพนักงานและพนักงานโครงการขึ้นเป็นประมวลจริยธรรมเพื่อให้บุคลากรทุกคนยึดถือเป็นแนวทางในการประพฤติตนและปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความโปร่งใส และไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ (อ้างถึง ระเบียบ สวทช. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของพนักงานและพนักงานโครงการ พ.ศ. 2557)
สำหรับบุคลากรวิจัยของ สวทช. (นักวิจัยรวมถึงผู้ช่วยวิจัย) ต้องยึดถือจรรยาบรรณนักวิจัยที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (อ้างถึง จรรยาบรรณนักวิจัย โดยสำ นักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วันที่ 21 เมษายน 2541)) เป็นแนวทางในการดำเนินงานวิจัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมและหลักวิชาการที่เหมาะสม นอกเหนือจากการประพฤติปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมของพนักงานและพนักงานโครงการ
ที่ปรึกษาที่ว่าจ้างโดยข้อกำหนดของงาน (Terms of Reference : TOR) และผู้ปฏิบัติงานให้ สวทช. (ได้แก่ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานชุดต่างๆ ที่ผู้อำนวยการ สวทช. หรือผู้อำนวยการศูนย์แห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้ง รวมถึงบุคลากรวิจัยที่มิใช่พนักงาน (Non Co-researcher : NCR) ตามที่ระบุในระเบียบ สวทช. ว่าด้วยเงินสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานชาวต่างประเทศและชาวไทย) ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ สวทช. และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มความสามารถเพื่อผลประโยชน์ของ สวทช. และประเทศ รวมถึงต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ส่วนตนต่อผลประโยชน์ของ สวทช.
การใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์และสาธารณสุข ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสัตว์ สวทช. จึงได้กำหนดแนวนโยบายจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อคุ้มครองชีวิตและสวัสดิภาพของสัตว์ระหว่างการวิจัย และปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักจรรยาบรรณและเป็นไปตามมาตรฐานสากลดังนี้
- สวทช. ต้องดูแลเรื่องจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ในการดำเนินงานวิจัยของหน่วยงานและในงานวิจัยของภาคธุรกิจในพื้นที่ดูแลรับผิดชอบของ สวทช. โดยจัดให้มีแนวปฏิบัติและคู่มือสำหรับนักวิจัยทางด้านจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการสร้างความเข้าใจและความตระหนักในเรื่องจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ต่อบุคลากรของ สวทช. และผู้ที่เกี่ยวข้อง
- โครงการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการโดยนักวิจัยของ สวทช. และนักวิจัยภายนอกที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สวทช. รวมทั้งโครงการวิจัยใดๆ ที่เป็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ซึ่งดำเนินการอยู่ภายในพื้นที่ดูแลรับผิดชอบของ สวทช. จะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์ของ สวทช.
- โครงการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย และจรรยาบรรณหรือจริยธรรมแห่งวิชาชีพ อีกทั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสัตว์ระหว่างการดำเนินการวิจัยให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานสากล