หน้าแรก เจาะลึก AMED Telehealth แพลตฟอร์มหลังบ้าน ‘Home Isolation’ ‘เตียงเสมือน’ แนวรับใหม่ของบุคลากรทางการแพทย์
เจาะลึก AMED Telehealth แพลตฟอร์มหลังบ้าน ‘Home Isolation’ ‘เตียงเสมือน’ แนวรับใหม่ของบุคลากรทางการแพทย์
4 ส.ค. 2564
0
บทความ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา ที่แพร่เชื้อได้เร็วจนจำนวนผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ทำให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดภาวะงานล้นมือเกินจะต้านทานกับไวรัสมรณะ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาตรการเรื่องแนวทางการดูแลตนเองที่บ้านของผู้ป่วยระหว่างรอเตียง (Home Isolation : HI) อย่างเป็นทางการ ซึ่งแน่นอนว่าการกำหนดให้คนไข้กลุ่มสีเขียวรักษาตัวที่บ้านนั้น ระบบหลังบ้านในการสื่อสารระหว่าง ‘แพทย์’ กับ ‘คนไข้’ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลในการรรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตามอาการ

ดังนั้นในเวลานี้ แพลตฟอร์มชื่อว่า AMED Telehealth ถือเป็น ‘ปฏิบัติการระบบหลังบ้าน’ ที่สำคัญของ Home Isolation ซึ่งออกแบบโดยนักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีระบบตรวจสุขภาพทางไกล (AMED Telehealth) มาประยุกต์ใช้ โดยมีการเซททั้งระบบใช้งานที่แรกคือ โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ (เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน) เพื่อดูแลคนพิการที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 ก่อนจะนำมาต่อยอดกับแอปพลิเคชันไลน์ของแต่ละโรงพยาบาล และเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานที่ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องนี้นำไปใช้งานได้

นายวัชรากร หนูทอง นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยได้รับการติดต่อขอใช้แพลตฟอร์มดังกล่าว ให้เป็นระบบหลังบ้าน ‘Home Isolation’ ของ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวรับใหม่ของบุคลากรทางการแพทย์ ในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการ (กลุ่มสีเขียว) ให้ได้กักตัวอยู่กับบ้านและสังเกตอาการตนเองแยกกับคนในครอบครัว โดยมีทีมแพทย์พยาบาลในระบบ HI ของ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ดูแลผ่านระบบไลน์แอปพลิเคชันอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถติดตามอาการผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวได้อย่างใกล้ชิดได้จนถึงปัจจุบัน      

@ ‘เตียงเสมือน’ แม้อยู่บ้าน แต่ใกล้หมอ 

นายวัชรากร อธิบายว่า AMED Telehealth เป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) โดยผู้ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้จะเป็นหน่วยที่ให้บริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลของ รัฐ/เอกชน คลินิก ที่มีแพทย์ พยาบาลหรือสหวิชาชีพ ที่สนใจ ใช้ติดตามอาการ รักษา ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดผ่านระบบ Telemonitoring, Telehealth, Teleconsultation ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“จุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มนี้มาจากระบบตรวจสุขภาพทางไกล ซึ่งทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ (HII) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. ได้เคยมีการนำไปใช้กับสถานที่กักตัวที่ จ.นราธิวาส ช่วงโรคโควิด-19 ระบาดครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นใช้ตู้คอนเทรนเนอร์เป็นห้องปลอดเชื้อและมอนิเตอร์อุณหภูมิร่างกายผู้ป่วย กับค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด วันละ 1-2 ครั้ง โดยผู้ป่วยสามารถแชทกับแพทย์หรือพยาบาลผ่านระบบวิดีโอคอลทางไกล เสมือนอยู่ใกล้ชิดกับแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแล

จากนั้นได้มีการนำเสนอแพลตฟอร์มให้แพทย์ โรงพยาบาลสนาม จ.เชียงใหม่ ซึ่งที่นั่นแพทย์มีความประสงค์อยากให้เพิ่มระบบ การวินิจฉัยโรค การรักษาทางไกล ทำให้เพิ่มระบบการรักษาทางไกลและสิ่งจำเป็นที่แพทย์ต้องใช้งานในลักษณะคำสั่งแพทย์ เช่น การสั่งเอกซเรย์ การสั่งยา นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอแพลตฟอร์มให้กับคณะผู้บริหารโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน กทม. ได้รับทราบ และที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะการเพิ่มฟังก์ชัน เช่น ให้เจ้าหน้าที่พยาบาลสามารถช่วยลงทะเบียนให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบ IT ได้ เช่น ผู้สูงอายุแนะนำให้มีระบบกรองข้อมูลสัญญาณชีพ ตามเกณฑ์มาตรฐานของแพทย์และพยาบาล และล่าสุดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ติดต่อขอใช้กับระบบ Home Isolation ของโรงพยาบาล” นักวิจัย A-MED ระบุ

@ แอดLINE เพิ่มเพื่อน พร้อม‘กักตัวที่บ้าน’

หลักเกณฑ์และข้อควรปฏิบัติการกักตัวที่บ้านใครเข้าข่ายบ้างนั้น กรมการแพทย์ ระบุข้อมูลว่า ไม่มีอาการ อายุน้อยกว่า 60 ปี สุขภาพแข็งแรง อยู่คนเดียวหรือมีคนอยู่ร่วมไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน ไม่มีโรคร่วม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ที่สำคัญ ต้องยินยอมกักตัวและอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ เป็นต้น โดยหากผู้ที่เข้าเกณฑ์เบื้องต้นและสมัครใจเข้ากักตัวที่บ้าน ให้ทำการติดต่อสายด่วน สปสช. โทร. 1330 ทุกวัน 24 ชั่วโมง เมื่อโรงพยาบาลใกล้บ้านของท่านรับเรื่องจากระบบ 1330 และพร้อมดูแลท่านแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะให้ทำการเพิ่มเพื่อน ผ่าน LINE Official Account (Line OA) ของโรงพยาบาลที่แพลตฟอร์มสร้างขึ้นให้ใช้งาน โดยที่แพลตฟอร์มจะซ่อนอยู่เบื้องหลังของระบบ Line OA ทำให้ผู้ป่วย รู้สึกคุ้นเคยกับการใช้งานแพลตฟอร์มได้ง่ายและรวดเร็ว

ภายหลังจากผู้ป่วยแอดเพิ่มเพื่อนกับไลน์ OA ของโรงพยาบาลแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยยืนยันตัวตนสำหรับเปิดใช้งานครั้งแรกด้วยระบบ One-Time-Password (OTP) ส่งผ่าน SMS มายังโทรศัพท์มือถือที่ทำการลงทะเบียนในนามผู้ป่วย เมื่อทำการยืนยัน OTP สำเร็จ ผู้ป่วยสามารถเข้าใช้งาน โดยใช้รหัสผู้ใช้งานใช้เป็นเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ถือเป็นการเข้าสู่ระบบ Home Isolation อย่างสมบูรณ์ เพื่อใช้เป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ป่วย กับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลต่อไป

“แอปพลิเคชันไลน์ ของแต่ละโรงพยาบาลจะเป็นเหมือนหน้ากาก เป็นช่องทางเพื่อเข้าถึงระบบหลังบ้านของ Home Isolation ซึ่งระบบหลังบ้านในที่นี้ คือ แพลตฟอร์มที่ชื่อว่า AMED Telehealth ของทีมวิจัย A-MED สวทช.ที่ได้ออกแบบและพัฒนาระบบหลังบ้านให้สามารถเก็บข้อมูลที่จำเป็นของผู้ป่วย ให้กับบุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้ในการติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 ใช้งานง่ายผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์พีซี ครอบคลุมทั้งระบบปฏิบัติการวินโดว์ แอนดรอยด์ และไอโอเอส

โดยผู้ป่วย มีหน้าที่รายงานสัญญาณชีพจากเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว อุณหภูมิร่างกาย ความดัน สื่อสารไลน์แอปพลิเคชันในรูปแบบ วิดีโอคอล แชท รวมถึงการถ่ายภาพรายงานอาการสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดพิมพ์ เพื่อส่งให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้ประเมินและให้คำปรึกษาในการรักษารายวัน หากกรณีผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์ ก็มีฟังก์ชันให้สามารถติ๊กเครื่องหมายรายงานอาการได้ เช่น มีอาการเหนื่อย มีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะและเจ็บคอ โดยระบบทั้งหมดนี้ทีมวิจัย A-MED สวทช. ออกแบบระบบบริหารข้อมูลเพื่อรองรับการทำงานของแพทย์พยาบาลเป็นลักษณะโรงพยาบาลเสมือนให้กับผู้กักตัวอยู่บ้าน เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลในช่วงวิกฤตการระบาดโรคโควิด-19”

@ ระบบหลังบ้าน ลดภาระบุคลากรด่านหน้า  

สำหรับแพทย์และพยาบาลที่เข้ามาในระบบหลังบ้านของ Home Isolation จะสามารถเห็นจำนวนเตียง จำนวนผู้ป่วย ว่าอยู่ในระบบมาแล้วกี่วัน มีการรายงานอาการไว้อย่างไรบ้าง และสามารถเปิดการคัดกรองเคสที่น่ากังวลได้ว่าแบ่งเป็นกลุ่มอะไรบ้าง เช่น กลุ่มสีเขียวป่วยโควิดแต่ไม่มีอาการ กลุ่มสีเหลืองสีส้ม คือ เริ่มมีอาการบางอย่างก็อาจจะติดตามอาการใกล้ชิดมากขึ้น แต่ถ้าสีแดงเป็นเคสฉุกเฉินที่ต้องการเตียงรองรับในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการเสียชีวิต หากกรณีคนไข้เริ่มมีอาการเป็นสีแดงต้องมีการจำหน่ายคนไข้ (ส่งต่อ) มายังโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาใกล้ชิด หรือบางเคสที่อยู่ในกลุ่มสีเขียวและรักษาตัวที่บ้านจนหายดี ก็สามารถจำหน่ายออกจากระบบ HI ได้เช่นกัน

“จุดเด่นของระบบหลังบ้านของ Home Isolation นี้ ทีมวิจัยได้สร้างแดชบอร์ด (Dashboard) ที่เพิ่มออเดอร์สำหรับแพทย์ เพื่อช่วยให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์และพยาบาลอย่างเป็นระบบ ซึ่งยังไม่มีระบบใดทำมาก่อน เช่น แพทย์มีคำสั่งให้พยาบาลแบบวันเดียว (One Day) หรือสั่งการแบบต่อเนื่องทุกวัน (Continuous) โดยหากแพทย์สั่งแบบต่อเนื่อง พยาบาลจะต้องติดตามคนไข้รายนั้นๆ ใกล้ชิด เช่น สั่งให้ยา สั่งเอกซเรย์ สั่งอาหาร สั่งแล็บ สั่งให้คำปรึกษาพิเศษ เป็นต้น ซึ่งเป็นระบบที่แพทย์และพยาบาลใช้งานได้ง่ายผ่านมือถือเพื่อติดตามและสั่งการได้ตลอด 24 ชั่วโมง”

ทั้งนี้แพลตฟอร์ม AMED Telehealth จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแล และวิเคราะห์อาการคนไข้ในระบบ HI ร่วมกันอย่างใกล้ชิดและแม่นยำบนฐานข้อมูลชุดเดียวกัน ที่สำคัญคือการลดการเดินทางมายังโรงพยาบาลของผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการลดภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า

@ เล็งดึง ‘นักสังคมสงเคราะห์’ ดูแลเชิงสังคม

แน่นอนว่าการกักตัวที่บ้านของผู้ป่วยโควิด-19 นอกจากสภาพแวดล้อมและความเข้าใจของคนในครอบครัวแล้ว เพื่อนบ้านและชุมชนนั้นๆ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องสร้างความเข้าใจ ไม่ให้เกิดการรังเกียจและสร้างปัญหาจนกระทบสภาพจิตใจของผู้ป่วยที่กักตัวในระบบ HI ด้วย

“ขณะนี้เริ่มมีปัญหาส่งผลกระทบทางสังคม เช่น ความวิตกกังวลในการกักตัวของคนป่วยที่เป็นผู้นำครอบครัว เกิดมีความกังวลว่าเขาไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ หรือ กรณีคนละแวกชุมชนไม่เข้าใจอาการของโรค เกิดการไม่ยอมรับการกักตัวที่บ้าน ซึ่งทีมวิจัยอาจจะต้องมีการพัฒนาระบบเพิ่มเติม เพื่อดึงนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาช่วยสร้างความเข้าใจ และรับทราบความวิตกกังวลของผู้ป่วย โดยมีแนวคำถามจากทีมสหวิชาชีพมาช่วยเหลือ เช่น คำถามว่าผู้ป่วยรู้สึกกดดันเรื่องอะไร ต้องการจะให้ใครเข้ามาช่วยเหลือเรื่องอะไรบ้าง เพื่อทำการส่งข้อมูลให้นักสังคมสงเคราะห์ได้วิเคราะห์และประสานการช่วยเหลือไปยังพื้นที่ ท้องถิ่นหรือระดับจังหวัดต่อไป”

นักวิจัย A-MED สวทช. บอกด้วยว่า อย่างไรก็ดีอยากฝากว่า หากโรงพยาบาลใดที่อยากทำระบบ HI อย่างแรกคือต้องมีใจและมีความพร้อมที่อยากจะทำเพิ่มเติม เพราะเข้าใจดีว่าทีมแพทย์และพยาบาลมีภาระงานหนักที่ต้องดูแลผู้ติดเชื้อในสถานการณ์นี้ ซึ่งทีมวิจัย A-MED สวทช. พร้อมสนับสนุนระบบอย่างเต็มความสามารถ โดยติดต่อทีมวิจัยเพื่อใช้แพลตฟอร์มได้ที่ อีเมล a-med@nstda.or.th เพื่อเป็นอีกกองหนุนด้านการบริหารจัดการคนป่วยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าผ่านพ้นวิกฤตโรคโควิด-19 ไปด้วยกัน

แม้ ‘เตียงเสมือน’ ในระบบ Home Isolation เป็นแนวรับใหม่ของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ช่วยบรรเทาสถานการณ์เตียงในโรงพยาบาลเต็ม แต่ระบบหลังบ้าน AMED Telehealth กลับช่วยเติมเต็มระยะห่างของคนไข้กลุ่มสีเขียว ให้รู้สึกอุ่นใจและใกล้หมอในสถานการณ์แบบนี้มากยิ่งขึ้น

แชร์หน้านี้: