สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ร่วมจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรอาหารและอาหารเพื่ออนาคต ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม zoom เพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
เนื้อหาและกิจกรรมที่ออกแบบเพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารในหลากหลายมุม ผ่านการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยความรู้พื้นฐานทางด้านอาหารและโภชนาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร นวัตกรรมทางอาหาร และแนวทางการพัฒนาอาหารเพื่ออนาคต สอดแทรกแนวทางการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ทางด้านอาหาร เพื่อให้เห็นแนวทางการพัฒนาและต่อยอดแนวคิดเป็นผลงาน/นวัตกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวันได้ อันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอาหาร ที่กำลังเติบโตในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมในระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนในพื้นที่ EEC (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) จำนวน 60 คน ทั้งนี้ยังมีบุคลากรทางการศึกษามากกว่า 30 ท่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. กล่าวต้อนรับ ด้วยอมตะวาจาจาก ม.จ.สิทธิพร กฤดากร “เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอาหารต่อมนุษย์ทุกคนบนโลก ดังนั้นการส่งเสริมให้ครูผู้สอนมีความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง จะทำให้สามารถนำกิจกรรมและสื่อจากหลักสูตรนี้ไปใช้เสริมในการออกแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาไปสู่การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะในสถานศึกษาที่เน้นการวัดผลจากการนำความรู้มาใช้งาน และจัดประสบการณ์ให้แก่นักเรียนแทนการท่องจำเนื้อหาได้อย่างยั่งยืนต่อไป
จากนั้นเป็นการบรรยายภาพรวมโครงการ โดย ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย 4 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรยานยนต์และขนส่งสมัยใหม่ 2) หลักสูตรอาหารและอาหารเพื่ออนาคต 3) หลักสูตรเคมีชีวภาพ “จากทรัพยากรชีวภาพสู่การวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์” 4) หลักสูตร อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ตอน ระบบ IoT กับการออกแบบกล่องปลูกพืชโดยใช้แสงเทียม สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักในเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC
โดยมี ดร.สมศักดิ์ ทองเนียม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง กล่าวเปิดการอบรม ต่อด้วยการบรรยายพิเศษ ภาพรวมการอบรมและพัฒนาครูหลักสูตรอาหารและอาหารสมัยใหม่ โดย อาจารย์ณภัทร ศรีละมัย ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา
กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรอาหารและอาหารเพื่ออนาคตนำโดยวิทยากรหลัก น.ส.สุปราณี สิทธิไพโรจน์สกุล นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. และทีมผู้ช่วยวิทยากร เริ่มการอบรมด้วยการแนะนำภาพรวมหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วยการบรรยายเนื้อหาความรู้และกิจกรรมปฏิบัติการเพื่อให้ครูมีความรู้ความเข้าใจ ได้ประสบการณ์เกี่ยวกับ อาหารในหลากหลายมุม เน้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้วยรูปแบบกิจกรรมและสื่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมผ่านช่องทางแชตหรือโปรแกรมช่วยสอนรวมถึงแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น padlet Quizlet classdojo PollEvalution mentimeter และการใช้ Canva ในการผลิตสื่อนำเสนอ
ต่อด้วยการบรรยายที่น่าสนใจในหัวข้อ “ความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอาหารในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร” โดย ผศ. ดร. กฤษกมล ณ จอม จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารในตลาดโลกและของประเทศไทย เชื่อมโยงให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และการพัฒนากำลังคนสู่ภาคอุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนเทรนด์การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในปัจจุบันและอนาคต ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยทำให้สามารถพัฒนาแนวคิดและผลิตผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้
กิจกรรมต่อมาเป็นการบรรยายในหัวข้อ “เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอาหาร” โดย ดร.ยุวเรศ มลิลา นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ นำเสนอแนวคิดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากไข่ พร้อมกิจกรรม “สนุกกับคุณสมบัติของไข่” เพื่อเรียนรู้คุณสมบัตของไข่ขาวและไข่แดง และการนำคุณสมบัติเชิงหน้าที่ที่สำคัญไปประยุกต์ใช้ในอาหารประเภทต่างๆ โดย น.ส.สุปราณี สิทธิไพโรจน์สกุล และ น.ส.จิดากาญจน์ สีหาราช
ต่อด้วยการบรรยายหัวข้อ “แนวคิดนวัตกรรมอาหารเพื่อความยั่งยืน” บรรยายแนวคิดอาหารเพื่อความยั่งยืน รวมถึงเทรนด์อาหารในอนาคตเพื่อความยั่งยืน และกิจกรรมกลุ่มในห้องย่อยของ Zoom เพื่อระดมสมอง คิดเมนู “ไข่พิชิตใจ” เมนูไข่ที่ไม่ใช้ไข่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาอาหารโปรตีนจากพืช
วันที่ 2 ของการอบรมเริ่มด้วย กิจกรรมบรรยาย หัวข้อ “แนวคิดสร้างสรรค์ อาหารโมเลกุล” ซึ่งเป็นอาหารที่มีรูปลักษณ์แปลกใหม่ที่นำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ เป็นแนวคิด ออกแบบในการประกอบอาหาร โดยใช้ส่วนประกอบสำคัญและเทคนิคการปรุงหรือประกอบอาหาร เพื่อสร้างอาหารที่มีรูปแบบแปลกใหม่ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการรับประทานอาหารที่อร่อยและสวยงาม และกิจกรรม สนุกกับอาหารโมเลกุล “กาแฟเม็ดป๊อป” ที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ทดลองทำอาหารโมเลกุลด้วยตนเอง โดยวิทยากร น.ส.กรกนก จงสูงเนิน และ น.ส.จิดากาญจน์ สีหาราช
ต่อด้วยกิจกรรม “นวัตกรรมอาหารเพื่อผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม” หลักโภชนาการ และความต้องการพลังงานและอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นกิจกรรมกลุ่ม ในห้องย่อยของ Zoom เพื่อระดมสมอง ร่วมกันวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ออกแบบอาหารสำหรับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่ เด็กน้อยวัยประถม วัยรุ่นวัยใส หนุ่มสาววัยทำงาน วัยแก่แต่เก๋า ผู้มีโรคประจำตัวโดยทำการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย เพื่อทดลองทำผลิตภัณฑ์ จุดเด่น ราคาขาย นำเสนอผลงานโปสเตอร์ Canva และ pitching
เสริมด้วยการบรรยาย หัวข้อ การนำกิจกรรม“อาหารและอาหารเพื่ออนาคต” ไปสู่การออกแบบการจัดทำรายวิชาเพิ่มเติมในสถานศึกษา โดย คณะศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง นำโดย ศน.อมร สุดแสวง และคณะศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา นำโดย ศน.ชยากานต์ เปี่ยมถาวรพจน์ ศน.ณภัทร ศรีละมัย เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเห็นแนวทางการนำความรู้กิจกรรม ที่ได้รับจากการอบรมนำไปใช้ปรับ ประยุกต์ใช้ในชั้นเรียนต่อไป ผ่านกิจกรรมระดมความคิดในกลุ่มย่อย ช่วยกันออกแบบร่างแนวทางการนำ นำเสนอแผน ก่อนที่จะสรุปกิจกรรมและร่วมกันวางแผนการดำเนินงานติดตามการนำกิจกรรมไปใช้ในสถานศึกษาต่อไป
เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากผู้เข้าร่วมอบรม จาก คุณครูปาณชีวัน รร.พนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” ฉะเชิงเทรา ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การอาหารที่น่าสนใจ เป็นเรื่องใหม่ที่ได้เรียนรู้เพิ่ม ตื่นตัวที่จะนำความรู้ที่น่าสนใจไปถ่ายทอดต่อ มีความคิดอยากสร้างนวัตกรรมทางอาหารใหม่ ๆ ขอบคุณสำหรับอาจารย์ทุกท่านสำหรับความรู้ที่ตั้งใจนำมาถ่ายทอดให้ค่ะ”
“วันนี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนในการผลิตอาหารที่ไม่เคยรู้ ความแตกต่างของ คหกรรม เชฟ ฟู้ดสไตส์ลิสต์ และนวัตกรอาหาร และได้ลงมือปฏิบัติง่ายๆ ที่สามารถนำมาสอนนักเรียนได้ สุดท้ายได้ใช้เทคโนโลยีและแอพที่ไม่เคยใช้ค่ะ” จาก คุณครูสุมาลี รร.สุนทรภู่พิทยา ระยอง
“มีกิจกรรมที่ได้ลงมือทำด้วยตัวเองทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และยังได้รับความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบันและอนาคต และการประยุกต์ใช้อาหารต่างๆ รวมถึงได้ทำงานร่วมกันกับครูต่างโรงเรียนได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีค่ะ” จากคุณครูช่อผกา รร.หนองใหญ่ศิริวรวาทวิทยา ชลบุรี
“เป็นการอบรมที่สนุก ได้เรียนรู้และทำกิจกรรมที่หลากหลาย และได้แนวคิดที่จะนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนต่อไปค่ะ” จาก คุณครูศศิญา รร.มัธยมสิริวัณวรี ๓ ฉะเชิงเทรา