หน้าแรก นาโนเทค สวทช. พัฒนา nSPHERE หมวกแรงดันบวก-ลบ ตอบโจทย์วิกฤตโควิด-19
นาโนเทค สวทช. พัฒนา nSPHERE หมวกแรงดันบวก-ลบ ตอบโจทย์วิกฤตโควิด-19
2 ก.ย. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

 

สำหรับวิกฤตโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน การขาดแคลนวัคซีน ประสิทธิภาพการป้องกันการติดต่อของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ รวมไปถึงการกลายพันธ์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เมื่อพิจารณาจากรูปการณ์แล้ว สถานการณ์เช่นนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงและเปราะบางสูง และยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงแนวโน้มที่ดีขึ้นได้ในเวลาอันใกล้ กลยุทธ์การรับมือข้อหนึ่งที่สำคัญมากและไม่สามารถละเลยได้ คือ มาตรการลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรด่านหน้า หรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับบริการจากสถานพยาบาลไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น ฟอกเลือด คลอดบุตร หรือประสบอุบัติเหตุ จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับเครือข่ายพัฒนา “nSPHERE หมวกแรงดันบวก-ลบ” นวัตกรรมเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ ด้วยแนวคิดประกอบง่าย ผลิตได้เร็ว ราคาไม่แพง สู่การใช้งานเป็นอุปกรณ์ส่วนบุคคลที่สะดวก น้ำหนักเบา และสามารถนำส่วนควบคุมกลับมาใช้ซ้ำได้ เตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เอกชน กระจายการผลิตตอบความต้องการใช้งาน

 

ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ หัวหน้าทีมวิจัยเข็มระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช.

 

ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ หัวหน้าทีมวิจัยเข็มระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. อธิบายหลักการเบื้องต้นว่า nSPHERE เป็นหมวกที่สามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนาได้ด้วยระบบการกรองประสิทธิภาพสูงร่วมกับการควบคุมความดันภายในหมวกให้สูงหรือต่ำกว่าภายนอกแล้วแต่กรณี เพื่อตัดโอกาสการเล็ดลอดของละอองไอจามซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยที่หมวกแรงดันบวก หรือ nSPHERE(+) เหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์หรือด่านหน้า ความดันภายในหมวกสูงกว่าภายนอก ในทางกลับกันหมวกแรงดันลบหรือ nSPHERE(-) สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการนั้น ความดันภายในหมวกต่ำกว่าภายนอก ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการควบคุมเชื้อในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่นับว่ามีประสิทธิภาพสูงวิธีหนึ่งในปัจจุบัน

“สาเหตุที่ต้องเป็นหมวกเพราะความจริงแล้วเชื้อที่แพร่กระจายได้อยู่บริเวณศีรษะตั้งแต่คอขึ้นไปกว่า 95% ครับ ที่เหลืออยู่ในเลือดกับอุจจาระ ซึ่งหากเราจัดการกับบริเวณนี้ได้ โดยไม่ต้องขังผู้ติดเชื้อในตู้แคบ ๆ ได้ บางคนยังแข็งแรงเดินไปมาได้ การเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อก็น่าจะสะดวกขึ้นครับ” ดร. ไพศาลกล่าว พร้อมชี้ว่า ที่หลายคนสงสัยว่า ใส่หน้ากากอนามัยธรรมดาก็น่าจะเพียงพอแล้ว จุดนี้เป็นเรื่องจริงสำหรับพื้นที่เปิดโล่งครับ เพราะเมื่อศึกษาการฟุ้งกระจายของละอองหายใจพบว่า การใส่หน้ากากอนามัยทั่วไป ทำหน้าที่ในลักษณะการเบี่ยงเบนทิศทางการฟุ้งออกไปทางขอบหน้ากากมากกว่าการกรอง โดยเฉพาะเวลาหายใจออก ถ้าคนใส่แว่นจะทราบดีครับ แต่พอเราใส่หน้ากากให้กระชับเพื่อให้เกิดกลไกการกรองที่มีประสิทธิภาพ เช่น n95 เราก็จะหายใจลำบากมาก ดังนั้น ในพื้นที่ปิดที่ต้องอยู่ด้วยกันนาน ๆ เช่น ห้องฟอกเลือด ห้องคลอดบุตร จุดพักรอ หรือ เมื่อผู้ติดเชื้อต้องใช้พื้นที่หรืออุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น จุดนี้ค่อนข้างเสี่ยงมากครับ โดยเฉพาะเมื่อไวรัสกลายพันธุ์สามารถลอยตัวในอากาศ แพร่กระจายได้แม้ไม่สัมผัส หรืออยู่ใกล้ ๆ

 

หมวกแรงดันบวก หรือ nSPHERE(+)

 

หมวกแรงดันลบหรือ nSPHERE(-)

 

สำหรับหลักการในการพัฒนา nSPHERE หมวกแรงดันบวก-ลบ นั้น ถือเป็นหลักการง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนมาก นักวิจัยนาโนเทคชี้ว่า ในการออกแบบ เรากำหนดให้อากาศที่เข้าและออกจากหมวกถูกกรองด้วยการดูดอากาศผ่านฟิลเตอร์แต่มีความแตกต่างระหว่าง nSPHERE ลบและบวก คือ แบบลบ เราเน้นให้อากาศขาออกจากหมวกสะอาดที่สุด เพราะผู้สวมใส่มีหรืออาจมีเชื้อ แต่ในทางกลับกัน หมวกแบบบวก เราเน้นให้อากาศขาเข้าสะอาดที่สุดเนื่องจากต้องป้องกันเชื้อแพร่กระจายจากภายนอกสู่ผู้สวมใส่

“โจทย์นี้หินมาก ๆ ครับ เมื่อเราพยายามพัฒนาให้เป็นอุปกรณ์สวมใส่ส่วนบุคคล โดยเฉพาะกับ nSPHERE(-) ที่เป็นแนวคิดใหม่ สร้างความดันให้เป็นลบ ทำงานตรงกันข้ามกับ PAPR (Powered Air Purifying Respirator) ที่แพทย์มักจะเป็นผู้ใช้ แต่เรามีแนวคิดว่า หากทั้งผู้ติดเชื้อและผู้ดูแลได้ใช้ก็น่าจะมีประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย มาช่วงหลังเราจึงพัฒนาทั้งบวกและลบ เพื่อสร้างกลไกการป้องกันที่แน่นหนา ลดโอกาสแพร่เชื้อได้มากยิ่งขึ้น”

และเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จึงเลือกใช้ฟิลเตอร์กรองอากาศประสิทธิภาพสูง หรือ HEPA ซึ่งต้องมีการออกแบบให้เหมาะสมต่อการใช้งานในลักษณะสวมใส่เป็นอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ความยากจึงตกไปอยู่ที่ประสิทธิภาพและราคา ที่จะสะท้อนความคุ้มค่าของ nSPHERE ให้ได้ ดร.ไพศาลและทีมจึงพยายามหา benchmark ในการพัฒนาเชิงความคุ้มค่าครับ เช่น สำหรับ nSPHERE(-) ซึ่งเปรียบเทียบการใช้งานกับการลงทุนสร้างห้องแรงดันลบ ส่วน nSPHERE(+) อาศัยการเทียบค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด PAPR แต่ละครั้งกับการใช้งานหมวกแบบใช้แล้วทิ้ง

 

ใช้แล้วทิ้ง ลดความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อ

“สาเหตุที่ตอนแรกเราออกแบบหมวกให้ใช้ครั้งเดียวทิ้งก็เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้งานหมวกฯ จะไม่กลายเป็นพาหะในการแพร่กระจายเชื้อ ดังนั้นการออกแบบจึงให้ทุกส่วนประกอบที่สัมผัสกับละอองหายใจ ไอจาม จะถูกกำหนดให้ทิ้งทั้งหมด นั่นคือเราให้ทิ้งหมวกทั้งใบ ฟิลเตอร์ เซนเซอร์ และพัดลมดูดอากาศในทีเดียวเลย โดยที่ต้นทุนไม่หนักเกินไป ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด PAPR ตามมาตรฐานทั่วไปครับ” ดร.ไพศาลกล่าว พร้อมชี้ว่า ข้อดีของการทิ้งหมวกทั้งใบ คือ ให้ความมั่นใจว่า ฟิลเตอร์ไม่รั่วระหว่างการใช้งาน และไม่เป็นที่สะสมเชื้อไวรัสครับ เพราะตามข้อกำหนดทั่วไปของการใช้ PAPR นั้น ควรจะเป็นอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล แต่เนื่องจากราคาค่อนข้างแพง มีตั้งแต่ของจีนหลักหมื่นไปจนถึงยี่ห้อดังหลักแสน โดยส่วนใหญ่บุคคลาการทางการแพทย์จึงมักใช้ร่วมกันแต่ใช้วิธีทำความสะอาด ปัญหาจึงตกไปอยู่ที่มาตรการทำความสะอาดว่ารัดกุมมากเพียงพอหรือไม่นั่นเองครับ นอกจากนั้น การเปลี่ยนฟิลเตอร์ PAPR นั้น จริง ๆ แล้วต้องนำไปทดสอบการรั่วก่อนนำไปใช้งานด้วย จุดนี้เองด้วยสถานการณ์แบบนี้จึงไม่น่าจะทำได้ครับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นแบบได้ถูกนำไปทดลองใช้งานภายใต้สถานการณ์จริง นักวิจัยนาโนเทคเผยว่า คุณหมอและพยาบาลได้เสนอให้เป็นอุปกรณ์ส่วนบุคคลแบบใช้ซ้ำได้ ทำให้ต้นทุนต่อการใช้งานแต่ละครั้งน้อยลงไปอีก แต่เรากำหนดระยะเวลาใช้งานสะสมต่อหมวกหนึ่งใบไว้ เพื่อไม่ให้ใช้งานในลักษณะถาวร โดยมีชุดทำความสะอาดด้วย UV/Ozone ให้ด้วยในกรณีที่มีการใช้งานจำนวนมาก

 

นวัตกรรมไทย ใช้ได้จริง

“หลายคนอาจสงสัยว่า เราใส่เซนเซอร์วัดความดันไว้ทำไม จริง ๆ เป็นเพราะตอนเราทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของหมวกฯ เราพบว่าบรรยากาศภายนอกหมวกมีความดันขึ้นลงตลอดเวลา เราจึงติดเซนเซอร์วัดค่าเอาไว้ แล้วเราก็พบว่าค่าความแตกต่างความดันที่เราอยากได้ ควบคุมได้ลำบาก ในเชิงการออกแบบก็ทำได้ยาก เพราะถ้าความดันในหมวกฯ สูงหรือต่ำเกินไปก็จะทำให้อึดอัด ไม่สะดวกสบาย เช่น อาจหูอื้อ หรือขาดอากาศหายใจ ดังนั้นเราจึงเสนอแนวคิด ระบบการเตือนเมื่อความดันภายในหมวกไม่เป็นไปตามกำหนด โดยเราให้มีการวัดความดันภายในและภายนอกหมวกเปรียบเทียบกับตลอดเวลาครับ” ดร.ไพศาลกล่าว

จุดนี้กลายเป็นจุดเด่นของ nSPHERE ทำให้การเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อทำได้จริงในเชิงปฏิบัติ เนื่องจากการเข้าออกจากห้อง การเข้าลิฟต์ หรือ พาหนะโดยสาร มีความแตกต่างความดันอยู่ตลอดเวลา ระบบเดิมจะไม่มีสัญญาณเตือน แต่ nSPHERE ให้ความสำคัญ ณ จุดนี้มากเป็นพิเศษ

หลายคนกังวลเรื่องของต้นทุน แต่นักวิจัยมองว่า เราประนีประนอมต้นทุนได้ แต่เรื่องความปลอดภัยเราไม่ควรประนีประนอม จุดนี้เองทำให้ทีมวิจัยต้องนึกวิธีการผลิตและเลือกใช้วัสดุราคาประหยัด ซึ่งจริง ๆ ยากมาก แต่เราเล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ระยะยาว เนื่องจากหากกระบวนการผลิตหมวกสามารถทำได้ง่าย ลงทุนไม่สูงเกินไป เราก็จะสามารถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ง่าย นำไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้างได้อย่างทันท่วงที

ดร.ไพศาลอธิบายว่า โถงหมวกฯ เราเลือกใช้กระดาษเคลือบกันน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก ใช้หลักการพับคล้าย Origami สร้างจากกระดาษเพียงแผ่นเดียวเพื่อหลีกเลี่ยงรอยต่อ เรากำหนดแบบให้ใช้กระดาษขนาดไม่เกิน 60×90 เซนติเมตร ด้วย เพราะอยากให้โรงพิมพ์ทั่วไปสามารถพิมพ์ได้ครับ จุดนี้เราต้องทำการออกแบบสลับกับขึ้นต้นแบบกว่า 50 รอบ กว่าจะได้แบบที่เห็นในปัจจุบัน

“แค่ความหนากระดาษ ก็ต้องเลือกหลายรอบมากครับ เพราะต้องแข็งแรงพอ แต่ก็ต้องพับง่าย น้ำหนักเบา ดูเหมือนง่ายนะ แต่รายละเอียดเยอะมาก ผ่านการคิดมานับครั้งไม่ถ้วน”

ความตั้งใจในช่วงแรกของทีมวิจัย ดร.ไพศาลกล่าวว่า จริง ๆ ตอนแรก เราอยากให้ nSPHERE เป็นหมวกที่ใคร ๆ ก็ประกอบขึ้นได้ คล้าย ๆ ประกอบเก้าอี้  IKEA เพราะเราเชื่อว่าคนติดเชื้อจะมีจำนวนมาก อันนี้ตอนแรกเกือบคิดผิดแล้ว ดังนั้น แค่ขั้นตอนการพับขึ้นรูปหมวก เราก็คิดอย่างละเอียดว่า จะทำอย่างไรให้ง่ายที่สุด เมื่อปีที่แล้วเราถึงกับลงพื้นที่โรงเรียนประถม มัธยม มหาวิทยาลัย อสม. ฯลฯ กว่า 10 จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อทดสอบว่าดีไซน์เราดีพอสำหรับการประกอบได้เองหรือไม่ เป็นประสบการณ์ที่ในฐานะนักวิจัยจะไม่มีทางลืมเลยครับ เพราะมีอาสาสมัครกว่า 1000 คน มาทดลองพับ และได้ข้อคิดเห็นมาเยอะมาก

“ในขณะที่ส่วนคอนโทรลเลอร์ เราใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หาได้ง่าย สามารถซื้อส่วนประกอบได้ไม่ยาก ผมขอยกตัวอย่างสายสัญญาณที่ใช้เชื่อมระหว่างกล่องควบคุมกับตัวหมวก เราเลือกใช้สาย LAN ที่หาได้ทั่วไป และใช้ประโยชน์จากกลไกการล๊อคเข้ากับช่องเสียบ จุดนี้เพื่อป้องกันสายหลุดเมื่อใช้งาน ซึ่งอาจจะมีการขยับตัวหรือพลั้งเผลอไปโดนครับ โดยออกแบบให้คอนโทรลเลอร์ทำงานง่าย ๆ ชาร์จไฟผ่านสาย USB มีไฟบอกสถานะต่าง ๆ เช่น ความดันไม่เป็นไปตามที่กำหนด ระดับแบตเตอรี่ ไฟเตือนแบตเตอรี่ใกล้หมด ที่สำคัญเราออกแบบให้คอนโทรลเลอร์ใช้งานได้ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง”

ซึ่งการที่ต้องเป็น 4 ชั่วโมง เพราะนักวิจัยได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ ว่าอยากนำไปใช้ในศูนย์ไตเทียม ซึ่งแออัด และมีรายงานพบการติดเชื้อในห้องฟอกเลือด ผู้ป่วยหลายรายมีอาการ แต่ก็จำเป็นต้องให้บริการเนื่องจากเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เป็นสถานการณ์ที่แทบไม่มีทางหลีกเลี่ยงเลยครับ การให้คอนโทรลเลอร์เพียงพอต่อการใช้งานระหว่างฟอกเลือดในแต่ละครั้งจึงจำเป็น ลดความเสี่ยงและต้นทุนลงได้อย่างมาก

 

หมวกแรงดันบวก หรือ nSPHERE(+) และหมวกแรงดันลบหรือ nSPHERE(-)

 

ผ่านมาตรฐานระดับสูง ส่งต่อสู่ผู้ใช้จริง

ความท้าทายอย่างหนึ่งของนวัตกรรมนี้คือ เรื่องของมาตรฐาน ดร.ไพศาลเผยว่า ทีมวิจัยส่งนวัตกรรม nSPHERE นี้ ไปทดสอบมาตรฐานที่มีความท้าทายสูง เนื่องจากการทดสอบยังไม่มีมาตรฐานรองรับชัดเจนเพราะมีลักษณะเป็นนวัตกรรมที่มีข้อบ่งใช้ใหม่ จึงต้องมีการประยุกต์ใช้มาตรฐานใกล้เคียงตามข้อมูลที่ทาง CDC และ OSHA กำหนดเป็นไกด์ไลน์เอาไว้ อาทิ มาตรฐาน ISO 14644-3 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กับห้อง Clean Room ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่หมวกของเรามีปริมาตรช่องอากาศไม่ถึงลูกบาศก์ฟุต ดังนั้นในทางปฏิบัติจริง จึงต้องขอความร่วมมือจากผู้ทดสอบ และต้องใช้กรอบที่กำหนดขึ้นเฉพาะเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งสุดท้ายก็สามารถผ่านมาตรฐานในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจาก CDC หลายเท่าตัว สร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยที่มีข้อกังวลมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังได้นำหมวกไปทดสอบความปลอดภัยด้านไฟฟ้า และการแผ่รังสีรบกวน ที่ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ในมุมของวัสดุเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับโครงสร้างกระดาษเคลือบกันน้ำ

เมื่อรวบรวมผลการทดสอบมาตรฐานเหล่านี้ไปใช้อ้างอิงพร้อมกับการทดสอบที่นาโนเทค สวทช. สร้างขึ้น เช่น เทคนิคการใช้การกระเจิงแสงเลเซอร์ต่อละอองฝุ่นจำลอง และการใช้กล้อง thermal camera ช่วยระบุตำแหน่งจุดอับทำให้ร้อนเมื่อสวมใส่ ก็ทำให้สร้างความเชื่อมั่นในนวัตกรรมนี้ได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ปัจจุบัน มีการนำไปใช้งาน รวมถึงการใช้ในเชิงสาธิตกว่า 900 ชุด ใน 37 หน่วยงานและสถานพยาบาลทั่วประเทศ อาทิ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ), โรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์, โรงพยาบาลสิรินธร, โรงพยาบาลลาดกระบัง, โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่, โรงพยาบาลกำแพงเพชร เป็นต้น

 

จับมือเครือข่ายวิทยาลัยเทคนิคเพิ่มกำลังผลิตเร่งด่วน

ความท้าทายต่อมาคือ กำลังการผลิตไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก ด้วยทีมวิจัยมองว่า หากจะใช้นวัตกรรมนี้ให้ได้ประสิทธิภาพ ต้องผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ซึ่งการออกแบบให้สามารถประกอบได้เองแก้ปัญหานี้ได้ แต่ก็มีความกังวลเรื่องของประสิทธิภาพหากนำไปประกอบเอง ในช่วงแรก จึงรวมทีมทั้งนักวิจัย และกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน มีอาสาสมัครมาช่วยนิดหน่อย ประกอบหมวกฯ เพื่อนำไปแจกจ่ายยังสถานพยาบาลที่แสดงความจำนงค์ขอรับไปใช้ในพื้นที่

“จุดนี้ เราพยายามจะตอบเรื่อง speed และ scale ให้ได้ จากเริ่มแรกเราผลิตได้ไม่กี่สิบใบต่อวัน จนตอนนี้เราได้กว่า 100 ใบ กำลังขยายกำลังผลิตสู่พันธมิตร เช่น วิทยาลัยเทคนิคในแต่ละภูมิภาค เช่น วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี, วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่, วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย, วิทยาลัยเทคนิคอยุธยา ตั้งเป้าไว้ที่ 800 ใบต่อวันครับ” ดร.ไพศาลกล่าว

 

ส่งไม้ต่อเอกชน รับความต้องการเร่งด่วน

“ในขั้นตอนของการพัฒนาเทคโนโลยี เราผ่านมาแล้ว เหลือแค่ขั้นตอนของการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้อื่นสามารถนำไปผลิตได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด แต่ก็สำคัญที่สุด เพราะมองว่า หากสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้จริง จะตอบความตั้งใจที่ริเริ่มนวัตกรรมนี้ขึ้น สามารถช่วยลดความเสี่ยง ลดการแพร่กระจายเชื้อ เกิดประโยชน์กับประชาชน ในขณะเดียวกัน นวัตกรรมไทยในราคาที่เอื้อมถึง ก็จะเป็นเม็ดเงินที่สร้างรายได้กับผู้ผลิตไทย รวมถึงกลายเป็นเงินภาษีกลับคืนให้ประเทศ ส่งต่อเป็นงบประมาณให้เกิดงานวิจัยไทยได้อีก จะทำให้ยั่งยืนได้”

ดร.ไพศาลแย้มว่า ปัจจุบันมีผู้ประสงค์ขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วหลายราย โดยอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา คาดว่าจะทราบผลเร็ว ๆ นี้ ซึ่งพยายามทำให้เป็นนวัตกรรมที่ราคาไม่แพง และเปิดถ่ายทอดสิทธิแบบ Non Exclusive เพื่อให้เกิดการกระจาย เพิ่มจำนวนการผลิตไปสู่ผู้ใช้ได้มากและเร็ว ทันสถานการณ์และความต้องการ

“รางวัลของงานนี้ไม่ใช่เงินทองหรือชื่อเสียง แต่เป็นคำขอบคุณจากบุคลากรด่านหน้าและผู้เกี่ยวข้อง ที่ใช้หมวก nSPHERE แล้วมั่นใจ อยู่รอดปลอดภัยเมื่อเกิดความเสี่ยงติดเชื้อ มีหลายครั้งที่คุณหมอ พยาบาล โทรมาบอกว่า ถ้าไม่ได้หมวกน่าจะติดไปแล้ว เป็นการยืนยันเบื้องต้นว่า นวัตกรรมที่เราทำน่าจะมีประโยชน์จริงๆ และสิ่งที่เราคิดก็เป็นจริงได้ ซึ่งหลังจากนี้ ถ้าเราถ่ายทอดเทคโนโลยีเสร็จ เราก็อยากทดสอบผลสัมฤทธิ์ของการใช้งานในเชิงสถิติในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ร่วมกับสถาบันบำราศนราดูร รวมถึงการผลักดันให้เป็นอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ตามนิยามของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเราจำเป็นต้องทดสอบความสามารถในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ไม่ใช่เพียงละอองไอจาม จุดนี้เองเราร่วมมือกับโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลในการทำการทดสอบอยู่ครับ” ดร.ไพศาลเล่าถึงแผนอนาคต

นอกจากนี้ nSPHERE Pressurized Helmet ยังเปิดระดมทุน RDI เพื่อสมทบทุนการผลิต nSPHERE สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานรับมือสถานการณ์โควิด-19 ในสถานพยาบาล ผ่านบัญชี “เงินบริจาคกองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ธนาคารกรุงเทพ สาขาอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 080-0-13324-1

แชร์หน้านี้: