วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 5 เดือน พฤษภาคม 2564
การประชุม Thailand and Sweden Sustainable Development Forum 2021 “From Green and Inclusive Development to Business Opportunities”
ดร.มาณพ สิทธิเดช อัครราชทูตที่ปรึกษา สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้เช้าร่วมการประชุม Thailand and Sweden Sustainable Development Forum 2021 “From Green and Inclusive Development to Business Opportunities” เมื่อวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2564 ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม มหาวิทยาลัยการเกษตรแห่งสวีเดน (Swedish University of Agricultural Science: SLU) กรมป่าไม้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย
การประชุมเชิงปฏิบัติการใน 3 หัวข้อหลัก
การประชุมแบ่งเป็นกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ 3 หัวข้อดังนี้
เมืองอัจฉริยะยั่งยืน (Sustainable Smart Cities for All) การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาช่วยในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและเอกชนในการออกแบบเมือง ความสำคัญของการเข้าถึงข้อมูลและศึกษาของประชาชน การออกแบบเมืองสำหรับผู้พิการ แนวทางการจัดการขยะ และแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณ
ป่าไม้ยั่งยืนเพื่อประชาชน: โอกาสทางเศรษฐกิจและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (Sustainable Forestry for the People) การสร้างสมดุลระหว่างการรักษาสิ่งแวดล้อมกับการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของป่าไม้ การเปรียบเทียบนโยบายป่าไม้ไทยกับสวีเดน แนวทางการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้โดยอาศัยคนในชุมชน และการให้คนในชุมชนได้รับประโยชน์จากป่าไม้บทบาทของภาคธุรกิจต่อการป่าไม้ที่ยั่งยืน การเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรป่าไม้ในท้องถิ่น การพัฒนามาตรฐานไม้ รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือด้านป่าไม้ระหว่างไทยกับสวีเดน
ระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้นที่ยั่งยืน (Innovation Ecosystem for Sustainable Development: Grooming Startups and Unicorns) การแลกเปลี่ยนข้อมูลระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้นของสองประเทศ การให้ข้อมูลการสร้างระบบที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ แนวทางการสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เข้ามาอยู่ในระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้น ประเด็นการจัดทำกฎหมายใหม่ของสวีเดนจะช่วยส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมแนวทางการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงความต้องการของบริษัทขนาดใหญ่และนักลงทุนกับเทคโนโลยี และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
การบรรยายและให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ Horizon Europe
ในโอกาสนี้ ดร.มาณพ สิทธิเดช ได้แนะนำให้ทราบถึงภารกิจของสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภารกิจคือ การสร้างความร่วมมือด้านวิจัยและนวัตกรรมระหว่างประเทศไทยและยุโรป โดยเฉพาะกับคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการวิจัยและนวัตกรรม (DG Research & Innovation) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดทำกรอบโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรปฉบับที่ 9 ที่มีชื่อว่า Horizon Europe (2021-2027) ในภาพรวมซึ่งประกอบด้วย 3 Pillar หลัก ดังนี้
Pillar 1: ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ (Excellent Science)
การทำงานในด้าน Excellent Science มีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ การสร้างและกระจายความรู้ ทักษะ เทคโนโลยี และแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ ๆ การเข้าถึงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยชั้นนำระดับโลก และส่งเสริมการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนนักวิจัยเพื่อเพิ่มความน่าดึงดูด ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ต่อไปนี้
สภาวิจัยยุโรป (European Research Council, ERC): สภาวิจัยยุโรปเป็นองค์กรแรกในยุโรปที่ให้ทุนด้านการวิจัยแก่นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทั่วโลก โดยทุนจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ค่าทำวิจัย ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ การทำวิจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะการวิจัยชั้นแนวหน้า (Frontier Research) ซึ่งส่วนมากเป็นการวิจัยขั้นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การวิจัยเชิงประยุกต์ในสาขาใหม่ ๆ
โครงการ Marie Sktodowska-Curie actions (MSCA): โดยโครงการ MSCA มุ่งเน้นเปิดรับใบสมัครจากนักวิจัยทั่วโลกได้มีโอกาสทำวิจัยร่วมกันโดยเฉพาะในหน่วยงานของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เป้าหมายหลักคือ ต้องการส่งเสริมการพัฒนาทางอาชีพและการให้การอบรมแก่นักวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์ทุกสาขาผ่านการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างประเทศในระดับนานาชาติ และระหว่างสาขาต่าง ๆ กัน โครงการ MSCA เปิดให้ทุนแก่งานวิจัยในทุกสาขาตั้งแต่การวิจัยขั้นพื้นฐานไปถึงงานนวัตกรรมบริการ
โครงการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย (Research Infrastructures actions): โครงการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย มีเป้าหมายส่งเสริมการพัฒนาการบริการ ความรู้ และเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อใช้สำหรับการวิจัยในยุโรป โดยนักวิจัยจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมภายใต้โครงสร้างพื้นฐานการวิจัยของยุโรปรวมถึงการเข้าถึงระบบการคำนวณประสิทธิภาพสูง (high performance computing, HPC)
Pillar 2: ความท้าทายระดับโลกและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในยุโรป (Global Challenges and European Industrial Competitiveness)
การทำงานด้าน Global Challenges and European Industrial Competitiveness เน้นการสนับสนุนการวิจัย โดยมีการกำหนดพันธกิจหลักเพื่อมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาและความท้าทายทางสังคม 5 ด้านได้แก่
1) การปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ 2) โรคมะเร็ง 3) ทะเลและแหล่งน้ำสะอาด 4) เมืองอัจฉริยะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และ 5) สุขภาพอาหารและดิน และมีการจัดแบ่งโครงการวิจัยเพื่อให้ทุนออกเป็น 6 คลัสเตอร์ ได้แก่ 1) สุขภาพ 2) วัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการมีส่วนร่วมของสังคม 3) ความมั่นคงของพลเมืองเพื่อสังคม 4) ดิจิทัลอุตสาหกรรม และอวกาศ 5) สภาพภูมิอากาศ พลังงานและการ โดยดร.มาณพ สิทธิเดช ได้เน้นการให้ข้อมูลของคลัสเตอร์ 4) ดิจิทัล อุตสาหกรรม และอวกาศ และ คลัสเตอร์ 5) สภาพภูมิอากาศ พลังงาน และการขนส่ง พร้อมทั้งข้อมูลคลัสเตอร์ 6) อาหาร เศรษฐกิจชีวภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งข้มูลใน 3 คลัสเตอร์ดังกล่าวสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
คลัสเตอร์: ดิจิทัล อุตสาหกรรม และอวกาศ
คลัสเตอร์นี้มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างของอุตสาหกรรมยยุโรปให้เป็นดิจิทัล เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม และรักษาความเป็นอิสระและอำนาจอธิปไตยในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้จะผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมหมุนเวียนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ และจัดการการพึ่งพาเทคโนโลยีและทรัพยากรจากประเทศอื่น ๆ และความขาดแคลนทางพลังงาน
คลัสเตอร์: สภาพภูมิอากาศ พลังงาน และการขนส่ง
คลัสเตอร์นี้มีวัตถุประสงค์ในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขณะที่ยังรักษาความสามารถในการแข่งขันของอุตสากรรมพลังงานและอุตสาหกรรมขนส่งของยุโรปได้ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางต่อสภาพภูมิอากาศ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อตกลง (Paris Agreement) เพื่อรักษาอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และความพยายามที่จะให้อุณหภูมิที่จะให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โครงการวิจัยจะสนับสนุนต้องศึกษาถึงสาเหตุ วิวัฒนาการ ความเสี่ยง ผลกระทบ และโอกาสที่เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ละประเภทไว้ รวมถึงการพัฒนาระบบพลังงานและระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศอัจฉริยะ ปลอดภัย ยืดหยุ่น แข่งขันได้ มีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น
คลัสเตอร์: อาหาร เศรษฐกิจชีวภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม
คลัสเตอร์นี้มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการใช้และจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ และดิน ด้วยเหตุนี้จึงจะมุ่งส่งเสริมโครงการวิจัยในประเด็นต่อไปนี้ การผลิตขั้นปฐมภูมิอย่างยั่งยืน (เกษตรกรรม ป่าไม้ การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ) ห่วงโซ่มูลค่า ระบบอาหาร อุตสาหกรรมชีวพื้นฐาน การรับมือและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การแก้ปัญหาจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และมลพิษ
Pillar 3: นวัตกรรมแห่งยุโรป (Innovative Europe)
1.EIC Pathfinder: ทุนวิจัยและนวัตกรรมที่เน้นการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิดและวิสัยทัศน์ทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีโอกาสต่อยอดในอนาคตไปใช้ได้จริงในตลาด การสมัครขอรับทุนในหมวดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบเปิด (Open calls) ที่ไม่ได้กำหนดหัวข้อชองการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับหัวข้อท้าทายที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย ปัญญาประดิษฐ์ การตรวจวัดคลื่นสมอง การรักษาและบำบัดด้วยเซลล์และยีน พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว และการพัฒนาวัสดุเนื้อแข็งที่สร้างจาวัตถุดิบธรรมชาติ
2.EIC Transition: เป็นทุนที่สนับสนุนการนำผลงานวิจัยนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมออกสู่ท้องตลาด การให้ทุนเน้นโครงการที่นำผลงานวิจัยจากโครงการนำร่องของ EIC Pathfinder และโครงการวิจัยที่ผ่านการประเมินจากสภาวิจัยยุโรป ไปต่อยอดสร้างเป็นธุรกิจ
3.EIC Accelerator: เป็นทุนสนับสนุนการลงทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจเริ่มต้น ในการนำนวัตกรรมที่บริษัทตนเองพัฒนาสู่ตลาดแล้วไปขยายผลสู่ตลาดใหม่ ๆ ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำสมัยที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสีเขียวและดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ
Sciences to Society ศาสตร์สู่สังคม
การประชุมวิชาการของนักเรียนไทยในทวีปยุโรปครั้งที่ 10 (The 10th Thai Student Academic Conference, TSAC 2021) 8-9 พฤษภาคม 2564
ที่มาของงานประชุม
เมื่อวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2564 ดร.มาณพ สิทธิเดช ได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการของนักเรียนไทยในทวีปยุโรปครั้งที่ 10 (The 10th Thai Student Academic Conference) หรือ TSAC 2021 ซึ่งจัดโดยภาคีเครือข่ายองค์การนักเรียนไทยในทวีปยุโรป เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักเรียนไทยในทวีปยุโรป ประกอบด้วย
– สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสในพระบรมราชูปถัมภ์
– สมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในพระบรมราชูปถัมภ์
– สมาคมนักเรียนไทยในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
– สมาคมนักเรียนไทยในสมาพันธรัฐสวิส
– กลุ่มนักเรียนไทยในราชอาณาจักรเบลเยียม
เป้าหมาย เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการวิจัยและองค์ความรู้ของนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในทวีปยุโรป นอกจากนี้ เพื่อสร้างเครือข่ายทางวิชาการที่เข้มแข็งในหมู่นักวิชาการรุ่นใหม่ ที่มุ่งมั่นสรรค์สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคต โดยมีผู้สนใจและเข้าร่วมงานทั้งหมด 78 คน
แนวคิดของการจัดงาน TSAC 2021
งานประชุมวิชาการฯ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Sciences to society – ศาสตร์สู่สังคม” เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ปัจจัยสำคัญที่ประชาคมโลกต้องปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกและขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านความท้าทาย
โดยสรุปวัตถุประสงค์การจัดงานสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ข้อดังนี้
– เพื่อให้นักเรียนไทยในทวีปยุโรปตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในฐานะนักเรียนต่อสังคมไทย และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเข้าสู่ประชาคมโลก
– เพื่อสนับสนุนความสำเร็จทางวิชาการของนักเรียนไทยในทวีปยุโรป
– เพื่อส่งเสริมเครือข่ายทางวิชาการระหว่างนักเรียนที่มีความแตกต่างกันในด้านความสามารถทางวิชาการและภูมิหลังทางสังคม รวมทั้งกับหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมไทยในอนาคต และ
– เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความสามารถทางการวิจัยให้สอดคล้องกับปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งจะเพิ่มในโอกาสและความก้าวหน้าของประเทศไทย
การมีส่วนร่วมในการจัดงาน TSAC 2021 ของสำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์
ยุโรปเป็นผู้นำในการส่งเสริมการขับเคลื่อนทั้งด้านการวิจัย การรังสรรค์นวัตกรรม และนโยบายในการจัดการกับความท้าทายของโลก โดยประเทศที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในยุโรป ได้แก่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์
ยุโรปมีจุดเด่นด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เช่น ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการพัฒนาสัญญาณ Wifi ครั้งแรกของโลก เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการเกษตร และมีระบบ urban water systems เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ในขณะที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และเครื่องมือแพทย์ และเป็นแหล่งกำเนิดแนวคิด industry 4.0 สาธารณรัฐฝรั่งเศส มีศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (CNRS) เป็นที่ตั้งของบริษัทระดับโลกด้านผลิตและประกอบเครื่องบินบริษัท Airbus สมาพันธรัฐสวิส มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและการแพทย์ เป็นที่ตั้งของสถาบัน CERN เป็นต้นกำเนิดของ world wide web (www) ราชอาณาจักรเบลเยียม มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและเภสัชกรรม เป็นแหล่งผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท Pfizer&Biontech Johnson & Johnson และ AstraZeneca
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaiscience.eu/uploads/journal_20210617150333-pdf.pdf