วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 7 เดือน กรกฎาคม 2564
สหภาพยุโรปกำหนดเป้าหมายใหม่ภายใต้ชุดร่างกฎหมาย “Fit for 55” เพื่อการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี ค.ศ. 2030
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้นำเสนอชุดร่างกฎหมาย “Fit for 55” ต่อรัฐสภายุโรป เพื่อพิจารณาใช้ในการกำหนดนโยบายด้านสภาพอากาศ พลังงาน การใช้ที่ดิน การขนส่ง และนโยบายด้านภาษี ให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2030 และ บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ตามนโยบาย European Green Deal ภายใต้ชุดร่างกฎหมาย “Fit for 55” สรุปได้ ดังนี้
เป้าหมายและข้อกำหนดภายใต้ชุดร่างกฎหมาย “Fit for 55”
ด้านการขนส่ง
- เป้าหมาย/ ข้อกำหนดโดยรวมของภาคการขนส่ง
- ลดการปล่อยมลพิษ/ ก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งทั้งทางบก ทะเล และอากาศให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 13 ภายในปี ค.ศ. 2030
- กำหนดสัดส่วนของการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพขั้นสูง (advanced biofuel) เป็นอย่างน้อยร้อยละ 2 จากพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในภาคการขนส่ง ภายในปี ค.ศ. 2030
- กำหนดสัดส่วนของการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพไฮโดรเจนเป็นอย่างน้อยร้อยละ 6 จากพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในภาคการขนส่ง ภายในปี ค.ศ. 2030
- เป้าหมาย/ ข้อกำหนดของภาคการขนส่งโดยรถยนต์
- ลดระดับการปล่อยมลพิษ/ ก๊าซเรือนกระจกโดยเฉลี่ยของรถยนต์ใหม่ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2030
- ลดระดับการปล่อยมลพิษ/ ก๊าญเรือนกระจกโดยเฉลี่ยของรถตู้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030
- ลดระดับการปล่อยมลพิษ/ ก๊าซเรือนกระจกโดยเฉลี่ยของรถยนต์ใหม่ร้อยละ 100 ภายในปี ค.ศ. 2035
- ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2035 รถยนต์ที่ผลิตขึ้นใหม่ในสหภาพยุโรปจะมีการปล่อยมลพิษ/ ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
- เป้าหมาย/ ข้อกำหนดของภาคการขนส่งทางอากาศ
- ผู้จัดหารเชื้อเพลิงสำหรับภาคการขนส่งทางอากาศจะต้องผสมเชื้อเพลิงที่มีความยั่งยืน เช่น เชื้อเพลิงสังเคราะห์คาร์บอนต่ำ ในอัตราส่วนที่สูงขึ้น
- ภายใต้กฎระเบียบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Emissions Trading System, ETS) ในสาขาการบิน สหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะลดการให้โควต้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปอย่างต่อเนื่อง และมีแผนจะหยุดให้โควตาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ฟรีในสาขาการบินในช่วงสิ้นปี ค.ศ. 2026
- เป้าหมาย/ ข้อกำหนดของภาคการขนส่งทางทะเล
- มีแผนกำหนดระดับสูงสุดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานของเรือขนส่ง เช่น รูปแบบของการกำหนดโควต้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับภาคการขนส่งทางทะเลภายใต้กฎระเบียบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ETS) เพื่อส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงที่ยั่งยืน และเทคโนโลยีไร้ก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งทางทะเล
- เรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่กว่า 5,000 ตันที่ต้องการเข้าจอดเทียบท่าเรือในสหภาพยุโรปจำเป็นต้องซื้อใบอนุญาตด้านมลพิษภายใต้ระบบการปล่อยไอเสีย
ด้านระบบพลังงาน
- เป้าหมาย/ ข้อกำหนดด้านการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน
- กำหนดสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 40 ของพลังงานทั้งหมดที่ผลิตได้ในยุโรป (ภายในปี ค.ศ. 2030)
- ภาคอุตสาหกรรม : เพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรมทุกปี ณ อัตราร้อยละ 1 ต่อปี
- เป้าหมายของการใช้พลังงานไฮโดรเจน
- ช่วงปี ค.ศ. 2020 ถึง ค.ศ. 2025 สหภาพยุโรปจะสนับสนุนการติดตั้งระบบการผลิตไฮโดรเจนแบบหมุนเวียนโดยใช้กระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (renewable hydrogen electrolysers) ให้ได้อย่างน้อย 6 กิกะวัตต์ในยุโรปโดยต้องผลิตไฮโดรเจนหมุนเวียนให้ได้ถึง 1 ล้านตัน
- ช่วงปี ค.ศ. 2025 ถึง ค.ศ. 2030 สหภาพยุโรปมีเป้าหมายให้พลังงานไฮโดรเจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบพลังงานแบบรวมอย่างน้อย 40 กิกะวัตต์
- เป้าหมายของการใช้พลังงานชีวภาพ (bioenergy)
- หลักเกณฑ์ด้านความยั่งยืนของการใช้พลังงานชีวภาพในสหภาพยุโรปมีความเคร่งครัดมากขึ้น เช่น
- ห้ามให้มีการใช้ชีวมวลประเภทไม้จากป่าปฐมภูมิ (primary forest) พื้นที่ดินพรุ (peatland) และพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ในการผลิตพลังงานชีวภาพ
- ห้ามใช้แรงจูงใจทางการเงินเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวมวลประเภทไม้ เช่น ท่อนซุง ตอไม้ และรากไม้ เพื่อผลิตเป็นพลังงาน
- การใช้ประโยชน์จากชีวมวลประเภทไม้ต้องยึดหลักการที่เรียกว่า “biomass cascading principle” เลือกใช้ชีวมวลเพื่อให้เกิดประโยชน์และมูลค่าเพิ่มสูงสุดด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
- เป้าหมาย/ ข้อกำหนดด้านการลดการใช้พลังงาน
- ลดปริมาณการใช้พลังงานขั้นต้น (primary energy consumption) เป็นพลังงานที่ใช้ในการผลิตและจัดหาพลังงานชนิดต่าง ๆ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 39 ภายในปี ค.ศ. 2030
- ลดปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย (final energy consumption) ที่ใช้โดยผู้บริโภค ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 36 ภายในปี ค.ศ. 2030
- แต่ละประเทศสมาชิกฯ จะต้องลดปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทุกปี ณ อัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2024 ถึง ค.ศ. 2030
- กำหนดสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 40 ของพลังงานทั้งหมดที่ผลิตได้ในยุโรป (ภายในปี ค.ศ. 2030)
ด้านสิ่งปลูกสร้าง อาคาร และบ้านเรือน
- เป้าหมาย/ ข้อกำหนดด้านการเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียน
- อาคาร/บ้านเรือน : กำหนดสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในอาคาร/ บ้านเรือน เป็นร้อยละ 49 ภายในปี ค.ศ. 2030
- ระบบทำความร้อนและความเย็น : เพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบทำความร้อนและความเย็นทุกปี และสัดส่วนโดยรวมจะต้องอยู่ที่อย่างน้อยร้อยละ 1 ภายในปี ค.ศ. 2030
- ระบบทำความร้อนและความเย็นจากศูนย์กลางเพื่อชุมชน (district heating and cooling) : เพิ่มสัดส่วนจากศูนย์กลางที่จะกระจายไปยังชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ (district heating and cooling) อัตราร้อยละ 1 ต่อปี และสั่ดส่วนโดยรวมอย่างน้อยร้อยละ 1.4 ภายในปี ค.ศ. 2030
- เป้าหมาย/ ข้อกำหนดด้านการใช้พลังงานในกิจการของภาครัฐ
- กิจการของภาครัฐทั้งหมด เช่น การศึกษา การบริการสุขภาพ การประปา การบำบัดน้ำ และไฟบนท้องถนน จะต้องลดการใช้พลังงาน ณ อัตราร้อยละ 7 ต่อไป
- ในทุก ๆ ปี ประเทศสมาชิกจะต้องมีการปรับปรุงอาคารของภาครัฐในสัดส่วนอย่างต่ำร้อยละ 3 ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางพลังงานอาคาร
ด้านการใช้ที่ดินและพื้นที่ป่า และการเกษตร
- กำหนดเป้าหมายการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Sink ให้ได้อย่างต่ำ 310 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2030
- การใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าไม้ และเกษตรกรรมจะต้องไม่มีการปล่อยก๋าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2035
- กำหนดแผนปลูกต้นไม้จำนวน 3,000 ล้านต้นทั่วยุโรปภายในปี คศ.2030
รายงานผลลัพธ์และศักยภาพด้านนวัตกรรมของสหภาพยุโรป ประจำปี ค.ศ. 2021 (European Innovation Scoreboard 2021)
การจัดลำดับ 4 กลุ่มประเทศนวัตกรรม
ในการจัดลำดับ คณะกรรมาธิการยุโรปแบ่งหมวดหมู่ เป็น 4 หมวด ได้แก่
- ผู้นำนวัตกรรม (innovation leaders) ได้แก่ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และเบลเยียม
- ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับสูง (Strong innovators) ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก ออสเตรีย เอสโตเนีย ฝรั่งเศส และไอร์แลนด์
- ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับกลาง (moderate innovators) ได้แก่ อิตาลี ไซปรัส มอลตา สโลวีเนีย สเปน เช็กเกีย ลิทัวเนีย โปรตุเกส และกรีซ
- ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมพอประมาณ (modest innovators) ได้แก่ โคเอเชีย ฮังการี ลัตเวีย โปแลนด์ สโลวะเกีย บัลกาเรีย และโรมาเนีย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaiscience.eu/uploads/journal_20210819091021-pdf.pdf