หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปี 3 ฉ.4 – “Hendy Sense” เซ็นเซอร์ควบคุมระบบให้น้ำเพื่อการเกษตร
จดหมายข่าว สวทช. ปี 3 ฉ.4 – “Hendy Sense” เซ็นเซอร์ควบคุมระบบให้น้ำเพื่อการเกษตร
7 ก.ค. 2560
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

“Hendy Sense” เซ็นเซอร์ควบคุมระบบให้น้ำเพื่อการเกษตร

ในโลกแห่งยุคนวัตกรรมดิจิทัล ที่นำระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเซ็นเซอร์ต่างๆ มาทำให้เกิดระบบอัจฉริยะที่สามารถเชื่อมข้อมูลทุกสรรพสิ่งเข้าหากันได้สำเร็จ ไม่ได้เพียงเอื้ออำนวยให้นักธุรกิจหรือพนักงานออฟฟิศทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านสมาร์ตโฟนเท่านั้น แต่ทุกวันนี้เกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่ ก็สามารถดูแลให้น้ำผลผลิตไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ได้เช่นกัน ด้วยนวัตกรรม “Hendy Sense” (เฮนดี้ เซนส์) หรือ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์กับการควบคุมระบบการให้น้ำ ผลงานวิจัยพัฒนาโดย นายนริชพันธ์ เป็นผลดี ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center : TMEC) หน่วยงานภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

Hendy Sense เป็นระบบการให้น้ำอัตโนมัติตามค่าความชื้นในดินที่เหมาะสมตามชนิดพืชที่ปลูก และใช้ปรับสภาพแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ของโรงเรือนให้เหมาะสมกับพืชได้อย่างอัตโนมัติ โดยใช้ระบบควบคุมบริหารจัดการผ่านสมาร์ตโฟน ซึ่งใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android

นายนริชพันธ์ กล่าวว่า ทีเมค เป็นศูนย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเซ็นเซอร์ เมื่อผลิตเซ็นเซอร์ขึ้นมาแล้ว ทีมวิจัยก็สนใจถึงการนำไปใช้กับอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ซึ่งส่วนตัวสนใจด้านเกษตร จึงเริ่มพัฒนา Hendy Sense โดยมีเป้าหมายการออกแบบที่ตรงตามชื่อ คือ ต้องการให้เป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย สะดวก และราคาถูก ดังนั้นในการพัฒนาจึงเลือกใช้เซ็นเซอร์เฉพาะที่จำเป็น มี 4 ตัวหลัก คือ เซ็นเซอร์วัดแสง อุณหภูมิ ความชื้นดิน และความชื้นอากาศ จากนั้นได้พัฒนาเว็บแอปพลิเคชันและตัวอุปกรณ์ทรานสมิตเตอร์ (Transmitter) ทำหน้าที่เป็นตัวรับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ แล้วแปลงสัญญาณส่งไปที่เว็บเซิร์ฟเวอร์ (Web Server) เพื่อรับและส่งข้อมูลให้ผู้ใช้งานผ่านสมาร์ตโฟน

สำหรับจุดเด่นของ Hendy Sense คือ เกษตรกรสามารถกำหนดชนิดพืชที่ปลูก และค่าความชื้นดิน ความชื้นอากาศ อุณหภูมิ และความเข้มแสง ที่เหมาะสมในแอปพลิเคชันได้ด้วยตนเอง โดยระบุเป็นตัวเลขสูง-ต่ำ ที่พืชชนิดนั้นๆ ยอมรับได้ ซึ่งนั่นทำให้ Hendy Sense ใช้ได้กับพืชผลทุกชนิด ขณะเดียวกันในแอปพลิเคชันได้จัดทำข้อมูลของพืชไว้ให้เลือกจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว เมลอน มะเขือเทศ กุหลาบ และกล้วยไม้ พร้อมกันนี้ Hendy Sense ยังมี ระบบการแจ้งเตือน แบบเรียลไทม์ คือ เมื่อเซ็นเซอร์วัดค่าสภาวะจากตัวแปรต่างๆ แล้วพบว่ามีตัวเลขสูงหรือต่ำกว่าที่ระบุไว้ ระบบจะแจ้งเตือนทันที โดยหากสภาวะต่างๆ อยู่ในช่วงที่เหมาะสมจะขึ้นสัญลักษณ์เป็นสีฟ้า แต่หากสูงหรือต่ำเกินจากค่าที่กำหนด ก็จะขึ้นสัญลักษณ์เป็นสีแดง

“สมมติว่าเกษตรปลูกข้าว และความชื้นในดินควรอยู่ที่ 60% เมื่อเซ็นเซอร์วัดความชื้นในดินพบว่า มีค่าต่ำกว่า 60% ระบบจะแจ้งเตือนไปที่สมาร์ตโฟน โดยแสดงตัวเลขและสัญลักษณ์ความชื้นเป็นสีแดง ขณะเดียวกันตัวเครื่อง Hendy Sense ที่ติดตั้งในแปลงก็มีระบบการทำงานที่เชื่อมต่อกับระบบให้น้ำอัตโนมัติอยู่แล้ว จึงสั่งเปิด-ปิดการให้น้ำได้ทันที หรือผู้ใช้จะเลือกใช้วิธีสั่งเปิด-ปิด ระบบให้น้ำด้วยตนเองผ่านสมาร์ตโฟนก็ทำได้

ทั้งนี้ Hendy Sense นำไปใช้บริหารจัดการการเพาะปลูกได้ทั้งพืชสวน พืชไร่ หรือ พืชที่ปลูกในโรงเรือน โดยหากเป็น พืชสวน พืชไร่ ซึ่งควบคุมสภาพแวดล้อมไม่ได้ทั้งหมด จะเน้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นหลัก เพื่อให้พืชได้น้ำอย่างเพียงพอ ขึ้นกับค่าความชื้นของดินที่วัดได้ ส่วนกรณีของโรงเรือน ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น แสง จึงใช้ออกแบบโรงเรือนและช่วยปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกได้ เช่น หากเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความเข้มแสงได้ค่าสูงกว่าที่กำหนด ผู้ใช้สามารถออกแบบระบบให้ปิดสแลนกันแดด พ่นหมอกน้ำ หรือ เปิดพัดลมระบายอากาศภายในโรงเรือนได้อัตโนมัติ ส่วนแนวทางการนำไปติดตั้งใช้งานนั้น ถ้าเป็นโรงเรือน ใช้ Hendy Sense 1 ชุด น่าจะเพียงพอ แต่หากเป็นในสวนอาจติดตั้งระบบ 1 ชุด ต่อ 1 ไร่ หรือ 5 ไร่ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และชนิดของพืชที่ปลูก”

ปัจจุบันมีการนำ Hendy Sense ไปทดลองใช้งานแล้วในแปลงปลูกมะเขือเทศที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ แปลงปลูกเมลอน จ.สุพรรณบุรี พบว่า ได้ผลผลิตค่อนข้างดี อีกทั้งล่าสุดยังนำโมเดลไปจัดแสดง พร้อมบรรยายพิเศษให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในงานมหานครผลไม้ไทย จ.จันทบุรี ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก

“ประโยชน์สำคัญของ Hendy Sense คือ ช่วยบริหารจัดการน้ำของเกษตรกรได้ ยกตัวอย่างทุเรียนซึ่งเป็นพืชที่ขาดน้ำไม่ได้ ถ้าขาดน้ำคือ เจ๊งเลย เพราะฉะนั้นวันนี้คุณให้น้ำทุเรียนพอเพียงหรือยัง เซ็นเซอร์ตอบได้ทันที แต่หากถามว่าแล้วให้น้ำเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ วันนี้อาจยังตอบไม่ได้ทันที แต่เกษตรกรสามารถใช้เซ็นเซอร์ทำวิจัยเองได้ โดยอาจจะเก็บข้อมูล 1 ปี แล้วดึงข้อมูลจากเซ็นเซอร์มาวิเคราะห์ ซึ่ง Hendy Sense รายงานผลเป็นกราฟ หรือ ข้อมูลเชิงสถิติได้ ทำให้เกษตรกรวิเคราะห์ได้ว่าการให้น้ำอย่างน้อยที่สุดควรจะเป็นเท่าไหร่ และเมื่อวันหนึ่งเกษตรกรมีชุดข้อมูลเป็นของตัวเอง ก็จะช่วยให้เขาทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ ตั้งโปรแกรมให้เป็น “ระบบควบคุมอัตโนมัติ” ที่ช่วยให้ปลูกพืชในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีที่สุด”

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการควบคุมการให้น้ำพืชผลอย่างเพียงพอและพอเพียงของ Hendy Sense ไม่เพียงช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตดี มีรายได้ และลดค่าใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยเกษตรกรบริหารจัดเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

“สิ่งที่คาดหวังต่อการพัฒนา Hendy Sense มากที่สุด คือ คือเกษตรกรใช้งานง่าย สะดวก และใช้งานที่ไหนก็ได้ เมื่อเราตั้งค่าข้อมูลสภาวะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการปลูกพืชได้อย่างอัตโนมัติแล้ว เกษตรกรอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในสวนเลย เท่ากับช่วยลดเวลาการทำงาน และไปจัดการงานอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น”

-สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สวทช.-

7 ก.ค. 2560
0
แชร์หน้านี้: