เปิดใจเยาวชนคนเก่งได้รับทุนโครงการ JSTP ระยะยาว รุ่นที่ 24 และ JSTP-SCB รุ่นที่ 4 เผยความมุ่งมั่นเข้าค่ายกิจกรรมทำโครงงานวิทยาศาสตร์ มองเป็นโอกาสและความท้าทายกว่าจะถึงวันนี้
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้มอบทุนการศึกษาให้กับเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน : Junior Science Talent Project (JSTP) โดยเป็นทุน JSTP ระยะยาว รุ่นที่ 24 มีเยาวชนที่ได้รับทุน 9 คน และโครงการ JSTP-SCB รุ่นที่ 4 มีเยาวชนได้รับทุน 5 คน
นายโชติอนันต์ทรัพย์ โสภาเคน หรือ “น้องโชกุน” ซึ่งจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย และได้รับทุนโครงการ JSTP-SCB รุ่นที่ 4 ปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดใจว่า สมัครเข้าร่วมโครงการ JSTP เนื่องจากมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การได้รับทุนครั้งนี้ความยากและความท้าทายอยู่ที่การทำโครงงานวิทยาศาสตร์
น้องโชกุน เผยว่า โครงงานวิทยาศาสตร์ที่ทำเป็นแบบจำลองการจัดกลุ่มคำหรือจับคู่คำในภาษาไทยโดยเฉพาะภาษาข่าวหรือพาดหัวข่าวไทยที่มีคำแปลกๆ เกิดขึ้นมาก เพื่อนำไปประยุกต์ใช้รองรับการแปลภาษาในบริบทต่างๆ เช่น การแปลภาษาอังกฤษ หรือการแปลเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ในอนาคต โดยโครงการนี้ได้นักวิจัยจากเนคเทค สวทช. มาเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำ เพราะเป็นโครงงานที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางจริงๆ และในอนาคตตนเองก็มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือนักพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับระบบปัญญาประดิษฐ์
“การได้รับทุนวันนี้อาจยังไม่ใช่ความสำเร็จของผม แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำพาไปถึงความสำเร็จในอนาคต ซึ่งผมจะพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อที่จะได้ไปสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เป็นประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติต่อไป”
น.ส.นภัสสร หลิดชิววงศ์ หรือ “น้องเพลง” นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ หนึ่งในเยาวชนที่ได้รับทุน JSTP ระยะยาว รุ่นที่ 24 เผยว่า รู้จักโครงการ JSTP มาตั้งแต่ตอนเรียน ม.3 ก่อนจะมีโอกาสสมัครเข้าร่วมโครงการตอนอยู่ชั้น ม.4 โดยสมัครเข้ามาในสาขาคอมพิวเตอร์ เพราะส่วนตัวมีความถนัดและสนใจด้านคอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์หรือ AI
น้องเพลง เล่าว่า กว่าจะได้รับทุนโครงการ JSTP ต้องผ่านการเข้าค่ายทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ เยาวชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นเวลา 1 ปี ระหว่างนั้นต้องทำโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยโครงงานวิทยาศาสตร์ของตนเป็นแพลตฟอร์มระบบการตรวจสอบและคัดกรองผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยปัญญาประดิษฐ์ พัฒนาในรูปแบบแอปพลิเคชันชื่อว่า My Safe Zone เป็นแชทบอทให้ผู้ใช้งานได้พูดคุยกับแอนิเมชัน ซึ่งจะมี AI ตรวจจับน้ำเสียง ตรวจจับลักษณะใบหน้า และวิเคราะห์ข้อความที่สื่อสารออกมา เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นว่าผู้ใช้งานเข้าข่ายหรือมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
น้องเพลง ซึ่งเคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก Regeneron ISEF 2022 ที่สหรัฐอเมริกา เปิดใจด้วยว่า สำหรับการได้รับทุน JSTP ระยะยาวครั้งนี้ ถือว่ามาไกลเกินฝัน แต่เมื่อถูกถามว่าอนาคตจบไปจะทำงานเป็นนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์หรือไม่นั้น ยอมรับว่ายังไม่แน่นอน เพราะส่วนตัวชอบทั้งคอมพิวเตอร์ การแพทย์ รวมถึงยังชอบด้านรัฐศาสตร์และกฎหมาย
“หนูคิดว่าปลายทางการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ไม่ได้จำกัดว่าจบไปจะต้องเป็นนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ ถึงแม้จะได้ทุนเรียนด้านวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่สำหรับหนูคิดว่ามันกว้างกว่านั้น เพราะความเป็นวิทยาศาสตร์มันสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกอาชีพ คุณอาจจะเป็นศิลปินก็ได้โดยเอาความรู้วิทยาศาสตร์ไปผนวก แล้วสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อโลกหรือสังคม นั่นก็ถือว่าคุณประสบความสำเร็จแล้ว สำหรับปลายทางของโครงการนี้หนูคิดว่าเป็นโครงการที่เปิดกว้างมากกว่า อยู่ที่แต่ละคนว่าจะไปทางไหน”
นายสรวิช เตือนตรานนท์ หรือน้องไบร์ท นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ได้รับทุนโครงการ JSTP ระยะยาว รุ่นที่ 24 เผยว่า เคยสมัครเข้าร่วมโครงการ JSTP ในรุ่นชั้นมัธยมต้นสมัยตอนเรียนอยู่ชั้น ม.1 แม้ครั้งนั้นจะไม่ได้ทุนระยะยาว แต่ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้เจอเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้เป็นแรงบันดาลใจให้อยากกลับไปร่วมโครงการนี้อีกครั้ง จนขึ้นชั้น ม.5 ตนจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ JSTP ในรุ่นมัธยมปลาย และในที่สุดวันนี้ก็ได้รับทุนระยะยาว
“ตอนเด็ก ๆ ผมยังไม่รู้ว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร จนผมได้เข้าร่วมโครงการ JSTP ตั้งแต่ ม.ต้น ก็ทำให้ผมรู้ครับว่า ผมอยากเป็นนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์ต่อไปครับ”
น้องไบร์ท ยังมีคำแนะนำสำหรับน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ JSTP ว่า อยากให้ลองสมัครตั้งแต่ในรุ่นมัธยมต้นเพื่อค้นหาตัวเองก่อน และหากพลาดหวังไปก็ยังมีโอกาสสมัครในรุ่นมัธยมตอนปลายได้อีก
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project : JSTP) เป็นหนึ่งในโครงการด้านการพัฒนากำลังคนของ สวทช. ที่มีเป้าหมายในการเฟ้นหาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลายและปริญญาตรี เข้ามารับการส่งเสริมและพัฒนาในรูปแบบที่หลากหลายและเหมาะสมกับความถนัดของแต่ละคน โดยจัดหานักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงคอยให้คำดูแล แนะนำ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้แสดงศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก เพื่อพัฒนาเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีและนักวิจัยที่มีคุณภาพและมีจริยธรรมต่อไปในอนาคต และขอขอบคุณธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและร่วมสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เยาวชนในครั้งนี้
//////////////////////////////