สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ร่วมจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเทคโนโลยียานยนต์และขนส่งโลจิสติกส์ เรื่อง การขนส่งสินค้าจากร้านค้าถึงผู้บริโภคโดยตรง (Last Mile Delivery) ระหว่างวันที่ 26 – 28 กรกฎาคม 2565 ผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม zoom เพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างต่อเนื่องและเตรียมพร้อมรองรับการพัฒนากำลังคนสำหรับตลาดแรงงาน โดยเน้นการพัฒนาทักษะและสมรรถนะผู้เรียน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันธุรกิจขนส่งกลุ่ม Last Mile Delivery หรือการขนส่งสินค้าจากร้านค้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ในภาพรวมของประเทศเติบโตเป็นอย่างมาก เพราะผู้บริโภคหันมานิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นครูในระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนในพื้นที่ EEC (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) 80 โรงเรียน จำนวน 160 คน ทั้งนี้ยังมีบุคลากรทางการศึกษาอีกมากกว่า 10 ท่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการอบรม โดยกล่าวถึงหัวใจของหลักสูตร ซึ่งเชื่อมโยงกับ BCG Model อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม เน้นรักษ์สิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน ความเท่าเทียมทางสังคม การเข้าถึงทรัพยากร ที่จะช่วยส่งเสริมการออกแบบการเรียนรู้โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีเชื่อมโยง เนื้อหาความรู้สู่การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน
โดยได้รับเกียรติจาก นางจรัสพร ฉัตรทอง รองผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย กล่าวเปิดการอบรม และต่อด้วยการกล่าวต้อนรับ จาก ดร.สุธีรุจ อุปถัมภ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา และ ดร.สมศักดิ์ ทองเนียม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง
กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเทคโนโลยียานยนต์และขนส่งโลจิสติกส์ นำโดยวิทยากรหลัก ดร. ปิติวุฒญ์ ธีรกิตติกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ. ร่วมด้วยทีมวิทยากร นางสาวกมลรัตน์ ฉิมพาลี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนถนนหักพิทยาคม นางสาวธารทิพย จันทรนิมะ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ นางทิพย์สุดา สรณะ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนท่าใหม่ “พูลสวัสดิ์ราษฎร์นุกูล”และ ผศ.ดร.น้ำเพชร นาสารีย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยและพัฒนาหลักสูตร โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) เริ่มการอบรมด้วยการบรรยายแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการขนส่งแบบ last mile delivery ในปัจจุบัน เสริมด้วยกระบวนการและสื่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมผ่านช่องทางแชตและโปรแกรมช่วยสอน เช่น Mentimeter padlet
โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจในกิจกรรม “การเดินทางของฉันและเธอคือการเรียนรู้” เพื่อทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของจำนวนเส้นทางและรูปแบบเส้นทางที่เกิดขึ้นจากจำนวนจุดส่งของที่แตกต่างกัน ผ่านกิจกรรมปฏิบัติการรายบุคคล “Connect the Dots” ที่ผู้เข้าร่วมได้แชร์ผลผ่าน padlet
กิจกรรม “The Shortest path” จะเป็นปฏิบัติการทีมในห้องย่อยของ Zoom เพื่อค้นหาเส้นทางในการส่งของโดยใช้ระยะทางสั้นที่สุด โดยใช้ทักษะ Computational thinking ในการแก้ไขปัญหา และใช้โปรแกรม Geo-gebra ในการหาเส้นทางการเคลื่อนที่
หลังจากหาเส้นทางการเคลื่อนที่โดยการคำนวณแล้ว เริ่มวันที่ 2 ด้วยกิจกรรมกลุ่มย่อย “Fast and Furious” เพื่อปฏิบัติภารกิจทดลองนำรถขนส่งจำลองไปขนส่งสินค้าในเส้นทางต่าง ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับความคลาดเคลื่อน รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างการคำนวณและการปฏิบัติจริง
ต่อด้วยกิจกรรม “ส่งมาที่ฉัน ฉันรับไว้เอง” เพื่อร่วมกันค้นหาความสัมพันธ์ของปริมาณพลังงานที่ใช้ในการขนส่ง (ระยะทาง น้ำหนักสินค้าที่บรรทุก รวมทั้งรูปแบบเส้นทางการเคลื่อนที่)
เพื่อนำเข้ากิจกรรมกลุ่มย่อย “Save Energy Save the World” สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ Carbon footprint และพลังงาน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศแปรปรวนอันเป็นผลมาจากปริมาณการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น วางแผนการแก้ปัญหา การแบ่งงาน ค้นหาเส้นทางที่ใช้พลังงานน้อยที่สุดเป็นการบริหารจัดการการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
วันสุดท้ายของการอบรมเริ่มด้วยกิจกรรมกลุ่มย่อย “ส่งของเร็วสุด” เป็นการนำองค์ความรู้ที่ต้องใช้ในการหาคำตอบ ค้นหาเส้นทางที่ส่งของได้เร็วที่สุด และ เรียนรู้การใช้หลักการทาง optimization ในการค้นหาและปรับปรุงเส้นทางการส่งสินค้าให้ดีขึ้น
เชื่อมโยงไปสู่ภารกิจปฏิบัติการกลุ่ม “Logistic management system (LMS)” กิจกรรมสรุปประยุกต์ใช้องค์ความรู้และทักษะ ค้นหาแนวทางในการจัดการรูปแบบการส่งสินค้าของทีมที่สามารถทำให้เกิด Carbon footprint ที่ต่ำ และตอบสนองกับความต้องการของลูกค้า นำเสนอผลงานผ่าน Padlet
เสริมบทสรุปท้ายกิจกรรมทุกวันด้วย “การสะท้อนผลการเรียนรู้ การวัดและการประเมินผล” โดย ผศ.ดร.น้ำเพชร นาสารีย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยและพัฒนาหลักสูตร โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) เพื่อแนะนำแนวทางการต่อยอดกิจกรรมและนำกิจกรรมไปใช้ในสถานศึกษา แนวทางการวัดและประเมินผลสมรรถนะผู้เรียน รวมถึงการนำไปเชื่อมโยงกับวิทยฐานะ (ว PA) อันเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมอบรมต่อไป
เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากผู้เข้าร่วมอบรม คุณครูอรุณ กัณหา รร.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ระยอง “ได้เรียนรู้การบูรณาการความรู้ในรายวิชาต่างๆ มาใช้ในการจัดกิจกรรม การสร้าง challenge ในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนมีเป้าหมายในการทำงาน กิจกรรมสามารถนำมาใช้ปรับประยุกต์ในการจัดการเรียนรู้ได้”
“ได้รับแนวทางในการจัดกิจกรรมด้านวิทยาการคำนวณ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงทักษะในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูต่างโรงเรียน สามารถนำแนวคิดที่ได้ไปปรับใช้ในการทำงานต่อไป ได้รับองค์ความรู้ใหม่ ๆ และยังสามารถแก้ปัญหาคิดสร้างสรรค์สร้างยานยนต์ขึ้นมาจากอุปกรณ์ที่มีให้อย่างจำกัด และที่สำคัญยังสามารถนำไปต่อยอดจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพพัฒนาให้ผู้เรียนได้อย่างไม่มีข้อจำกัดในการเรียนรู้โดยการจัดกิจกรรมหรือในรายวิชาให้นักเรียนได้” จากคุณครูอนุสรณ์ ปิติวงศ์ รร.พนัสพิทยาคาร ชลบุรี
“ได้รับความรู้ในหัวข้อการขนส่งสินค้า แบบประหยัดพลังงานหรือลด carbon footprint ปัจจัยที่มีผลต่อความคลาดเคลื่อน เหนื่อยล้าปนสนุก” จากคุณครูอรณ๊ ทองอารีย์ รร.วิทยาราษฎร์รังสรรค์ ฉะเชิงเทรา