For English-version news, please visit : Thailand presents BCG Health program to APEC Health Working Group
(24 สิงหาคม 2565) ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ : ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเครื่องมือแพทย์ ได้รับเกียรติให้นำเสนอในเวทีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting: SOM) ของคณะทำงานสุขภาพ APEC ถึงแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อน BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย ในด้านการพึ่งพาตนเองและการลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขของไทย พร้อมกันนี้ได้นำเสนอตัวอย่างผลงานด้านเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์แก่ทีมผู้บริหารและผู้แทนสมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC จำนวนกว่า 80 คน ที่เยี่ยมชมศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในประเด็นการขับเคลื่อนด้านการแพทย์และสาธารณสุขในรูปแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าทันสมัย สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy model : BCG) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการประชุม APEC Health Week ของคณะทำงานด้านสุขภาพ (Health Working Group : HWG) APEC ที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธาน BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ ได้รับเชิญให้บรรยายพิเศษในหัวข้อ Bio-Circular-Green Economy and Health โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขและเครื่องมือแพทย์นั้นถือเป็น 1 ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย BCG ซึ่งรัฐบาลไทยได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ภายในปี 2570 ผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานเทียบเท่าสากล ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศมีปริมาณความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากอัตราการเจ็บป่วยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุรวมทั้งผลกระทบของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ยังได้บรรยายสรุปถึงแนวทางพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model ในภาพรวม ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญ และผลักดันอย่างเต็มที่ ในส่วนของสาขาเครื่องมือแพทย์ได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนใน 4 มิติ ได้แก่ สร้างการพึ่งพาตนเองเพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุข ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการดูแลสุขภาพ เพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการศึกษาดูงานของคณะทำงานสุขภาพ APEC มีการนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยที่มีความสอดคล้องกับนโยบาย BCG ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นอาคารใต้ดินลึก 15 เมตร ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งทางรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน นับเป็นแห่งแรกในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการรักษาจะใช้เครื่องเร่งอนุภาคไซโคลตรอน ซึ่งจะเร่งอนุภาคโปรตอนไปทำลายก้อนมะเร็ง โดยเนื้อเยื่อปกติที่อยู่หน้าก้อนมะเร็งจะได้รับปริมาณรังสีน้อย และเนื้อเยื่อที่อยู่หลังก้อนมะเร็งแทบไม่ได้รับรังสีเลย ทำให้การรักษามีความแม่นยำสูง ช่วยลดผลข้างเคียง เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานขึ้น
2.ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ นับเป็นศูนย์กลางการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้การดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีความผิดปกติบนใบหน้าตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดจากอุบัติเหตุ ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตที่มีคุณภาพในสังคมได้ โดยมีผู้ป่วยส่งต่อมาจากสถาบันทางการแพทย์ทั่วประเทศ ให้การดูแลรักษาผ่าตัดผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะหลากหลายประเภทมากกว่า 3,000 ราย จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางการรักษาผู้ป่วยโรคงวงช้าง โดยมีเทคนิคการผ่าตัดแก้ไขความพิการด้วยวิธี “จุฬาเทคนิค” และถูกนำไปใช้ทั่วโลก
3.สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ให้การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยอย่างครบวงจร ทั้งการเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัย การจัดการขณะเกิดภัย และการฟื้นฟูบูรณะสู่ภาวะปกติ บรรเทาทุกข์ผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนการประชานามัยพิทักษ์ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้มั่นคง ทัดเทียม อย่างยั่งยืน สอดคลองกับยุทธศาสตร์สภากาชาดไทยในด้านบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นเลิศครบวงจร โดยให้บริการทางการแพทย์ผ่านทางสถานีกาชาด 13 แห่ง ให้บริการด้านรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ ส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคแก่ประชาชน อีกทั้งการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ด้านจักษุศัลยกรรมฯ ศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการอื่นๆ รวมถึงหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ เป็นต้น
4.หมอพร้อม แอปพลิเคชัน เป็นการพัฒนาด้านสาธารณสุขดิจิทัลที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงแรกเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารกับประชาชนในช่วงการระบาด ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลวัคซีนของตนเองได้ พร้อมประเมินติดตามอาการภายหลังการรับวัคซีน โดยปัจจุบัน “หมอพร้อม” ถือว่าเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดในด้านสาธารณสุขของประเทศไทย มีประชาชนมากกว่า 32 ล้านคน เข้าถึงแพลตฟอร์มนี้ทั้งแอปพลิเคชันและ Line OA และมีการพัฒนาต่อยอดอย่างไม่สิ้นสุด
ทั้งนี้การประชุมคณะทำงานสุขภาพ APEC ถือเป็นการประชุมด้านสุขภาพระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากการระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีเป้าหมายคือการช่วยสร้างความตื่นตัวในระดับสากลทั่วภูมิภาคเอเปค เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสุขภาพหลังวิกฤตโควิด 19
///////////////////