หน้าแรก SCI UPDATE: ‘อุปกรณ์ตัดสับปะรด’ เครื่องมือช่วยเกษตรกรตัดและเก็บสับปะรดในขั้นตอนเดียว
SCI UPDATE: ‘อุปกรณ์ตัดสับปะรด’ เครื่องมือช่วยเกษตรกรตัดและเก็บสับปะรดในขั้นตอนเดียว
5 มี.ค. 2563
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

Cover SCI UPDATE: ‘อุปกรณ์ตัดสับปะรด’ เครื่องมือช่วยเกษตรกรตัดและเก็บสับปะรดในขั้นตอนเดียว


พอกันที ‘ตัดสับปะรดแล้วได้แผล’

สับปะรดเป็นหนึ่งในผลไม้ที่นิยมปลูกกันมากในภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และกระบี่ ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ยังต้องประสบปัญหาขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ที่มีต้นทุนการจ้างแรงงานถึง 2 ขั้นตอน เพราะในการเก็บสับปะรด เกษตรกรต้องใช้มีดหรือตะขอพร้าตัดก้านของผลสับปะรด แล้วใช้แรงงานคนนำตะกร้อมาเดินเก็บใส่เข่งยกขึ้นรถอีกทอด ที่สำคัญหลายครั้งเมื่อเกษตรกรเข้าไร่ไปตัดผลสับปะรด มักได้บาดแผลจากการถูกหนามใบสับปะรดตำ ถูกมีดบาด และถูกสัตว์ที่ซ่อนตัวอยู่ในพงทำร้าย ทำให้การหาแรงงานภาคเกษตรในการเก็บสับปะรดค่อนข้างยาก

อดิศร มยาเศรษฐ และ ธรรมนูญ รุจิญาติ

เพื่อแก้ปัญหาภายในท้องถิ่นหรือชุมชน ธรรมนูญ รุจิญาติ และ อดิศร มยาเศรษฐ นักศึกษา ปวส. 2 จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จึงคิดค้น ‘อุปกรณ์ตัดสับปะรด’ ที่ช่วยให้เกษตรกรทำงานได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ลดความเมื่อยล้า รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาลดต้นทุน ปัญหาแรงงาน ซึ่งสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์ ‘Enjoy Science: Young Maker Contest’ ปีที่ 4 จัดโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

ธรรมนูญ อธิบายถึงเหตุผลในการพัฒนาอุปกรณ์ตัดสับปะรดว่า การทำไร่สับปะรดเป็นหนึ่งในอาชีพที่สร้างรายได้หลักและรายได้เสริมให้แก่คนใต้ แต่เมื่อได้พูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่เรื่องการทำไร่สับปะรด กลับพบว่าเป็นอาชีพที่มีความไม่ปลอดภัยในการทำงานอยู่บ้าง หลายครั้งที่เกษตรกรเข้าไร่ไปตัดผลสับปะรด มักออกมาด้วยอาการบาดเจ็บจากหนามแหลมของใบสับปะรดแทง มีดที่คมมากบาดมือ หรือบางครั้งก็โดนสัตว์ที่ซ่อนตัวอยู่ในพงทำร้าย จากความทุกข์ดังกล่าวเกษตรกรได้ขอให้ช่วยพัฒนาอุปกรณ์ที่จะทำให้การทำงานปลอดภัยมากขึ้นให้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาอุปกรณ์ตัดสับปะรด ที่พัฒนาร่วมกับกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานจริง

“อุปกรณ์ตัดสับปะรดที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นอุปกรณ์แบบ 2 in 1 คือสามารถใช้ตัดและจับผลสับปะรดได้ในเครื่องมือเดียว อุปกรณ์มีลักษณะเป็นแท่งสแตนเลสยาวประมาณ 1 เมตร อุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ ฝั่งหนึ่งเป็นที่บีบควบคุมการทำงาน อีกฝั่งเป็นกรรไกรตัดและที่หนีบผลสับปะรด มีเชือกสำหรับสะพายพาดอุปกรณ์ไว้บนบ่า อุปกรณ์หนักประมาณ 1.3 กิโลกรัม ผลิตจากสแตนเลส 304 ปลอดสนิม การควบคุมการทำงานของอุปกรณ์สามารถแยกควบคุมได้จากที่บีบ 2 จุด ที่บีบแรกสำหรับควบคุมการทำงานของกรรไกรในการตัดผลและแต่งใบ ที่บีบที่สองสำหรับควบคุมที่หนีบผลเพื่อจับไม่ให้ผลที่ตัดร่วงลงพื้น โดยมีการออกแบบให้ผู้ตัดสามารถยืนตัดได้สะดวกในท่าหลังตรงหรือก้มหลังไปหาต้นสับปะรดเพียงเล็กน้อยได้ ไม่ต้องก้มหลังมากเพื่อยื่นมือเข้าไปตัดและจับผลที่ต้นเหมือนการใช้มีดตัดแบบเดิม เพื่อให้การทำงานปลอดภัย และลดโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่หลังจากการทำงานระยะยาว

ความริเริ่มในการสร้างสรรค์ ‘อุปกรณ์ตัดสับปะรด’ ไม่เพียงผลักดันให้พวกเขาก้าวสู่การเป็นนวัตกร แต่อุปกรณ์ที่ทำขึ้นด้วยความใส่ใจและห่วงใยในปัญหาของชุมชน ทำให้ผลงานเป็นที่พึงพอใจของเกษตรกร

อดิศร กล่าวถึงผลตอบรับของเกษตรกรที่นำไปทดลองใข้งานจริงว่า มีกระแสตอบรับที่ดีมาก เพราะนอกจากจะตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยในการทำงานตามที่ร้องขอแล้ว ยังทำให้การทำงานสะดวกสบายขึ้นกว่าการใช้อุปกรณ์รูปแบบเดิมมากอีกด้วย เกษตรกรทุกเพศทุกวัยสามารถใช้อุปกรณ์นี้ช่วยกันทำงานได้ จากที่คนหนึ่งเคยเก็บได้อย่างมากแค่ 5-10 ไร่/วัน เมื่อใช้อุปกรณ์นี้สามารถเก็บได้มากขึ้นเป็น 30-35 ไร่/วัน นอกจากนั้นอุปกรณ์มีราคาเพียง 2,500 บาท ถือว่าคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับความสามารถของอุปกรณ์

“ตอนนี้ได้เปิดให้เกษตรกรสั่งซื้ออุปกรณ์ได้ที่ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจวิทยาลัยเทคนิคสุราษฏร์ธานี (ศูนย์บ่มเพาะศักยภาพนักศึกษา) ซึ่งได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตให้แก่รุ่นน้อง ปวส.1 และ ปวช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้น้องได้ใช้เป็นตัวเลือกหนึ่งในการหารายได้หลังเลิกเรียน และเสริมประสบการณ์อาชีพ”

ธรรมนูญ รุจิญาติ และ อดิศร มยาเศรษฐ

ธรรมนูญ รุจิญาติ และ อดิศร มยาเศรษฐ

อดิศร ทิ้งท้ายถึงบทสรุปที่ได้เรียนรู้จากการก้าวมาเป็นนวัตกรเพื่อสังคมครั้งนี้ว่า การได้ลองเป็นนวัตกรเพื่อสังคม ทำให้ตนและเพื่อนได้มีโอกาสใคร่ครวญถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมรอบตัว และเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน เพื่อช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนั้นการได้ลองทำงานจากโจทย์จริงของสังคม ยังช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กว้าง ได้ฝึกวางแผนการทำงาน คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และพัฒนาผลงานร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย เป็นโอกาสที่ดีมากในการเตรียมความพร้อมก่อนออกไปทำงานจริง

อยากชวนให้ทุกคนลองเดินออกจากพื้นที่ปลอดภัย มาคิดสร้างสรรค์ทำประโยชน์เพื่อสังคม

///////////////

ผู้เรียบเรียงและภาพ: นางสาวภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.

กราฟิก: นางสาวฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.

5 มี.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: