หน้าแรก สวทช. จับมือ มรภ. ลำปาง ลงนามความร่วมมือสู่ชุมชน มุ่งเน้นเกษตร บริหารจัดการน้ำ กำลังคน
สวทช. จับมือ มรภ. ลำปาง ลงนามความร่วมมือสู่ชุมชน มุ่งเน้นเกษตร บริหารจัดการน้ำ กำลังคน
1 ก.พ. 2566
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

(วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566) ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา การบริการวิชาการการจัดการความรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มุ่งเน้น 3 ด้านคือ การเกษตร การบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนากำลังคน นำร่องด้วยฐานข้อมูลด้านคุณภาพน้ำประปาที่มีการปนเปื้อนฟลูออไรด์ โลหะหนัก และสารเคมีตกค้างด้วยนาโนเทคโนโลยี ในโรงเรียนพื้นที่ลำปางกว่า 100 แห่ง เพื่อสร้างนวัตกรคุณภาพน้ำ 100 คน รวมถึงนวัตกรรมตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำในพื้นที่จังหวัดลำปางกว่า 270 ครัวเรือน ด้วยเป้าหมาย 2 ลด 3 เพิ่ม คือ ลดโรค ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มการเข้าถึงน้ำสะอาด เพิ่มคุณภาพน้ำและคุณภาพชีวิต

 

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ขับเคลื่อนไทยด้วยนโยบาย BCG เพื่อสร้างความเข้มแข็งสำหรับเศรษฐกิจฐานราก” ว่า นับเป็นวันที่เฝ้ารอคือ การทำข้อตกลงระหว่าง สวทช. ที่เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่และมีผลกระทบในระดับสูงของประเทศ เทียบเคียงต่างชาติได้อย่างดี กับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางที่ก่อนหน้านี้ เราได้ปฏิรูปมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ให้มีความโดดเด่นในแง่ของการมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยสาระสำคัญในวันนี้มี 2 เรื่องคือ การบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการบำบัดน้ำเสียด้วยองค์ความรู้ทางเคมี และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่สร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยขั้นสูงและหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเชิงพื้นที่

โดยเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ โดยเพาะการบำบัดน้ำเสียด้วยองค์ความรู้ทางเคมีนั้น เราจะเห็นว่า ปกติการบำบัดน้ำเสียจะใช้ระบบกรองต่างๆ ซึ่งบางครั้ง ก็จำเป็นต้องใช้ไส้กรองพิเศษ อาทิ เซรามิก ซึ่งเป็นเคมีขั้นสูงมาช่วยแก้ปัญหาสารปนเปื้อนต่างๆ ที่ระบบกรองธรรมดาอาจจะไม่เพียงพอ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะปัญหาสำคัญของไทยคือ คุณภาพน้ำ ที่แม้เราจะมีน้ำมากจนบางครั้งเกิดน้ำท่วม หรือเกิดภาวะน้ำแล้งสลับกัน ก็จำเป็นต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค

“ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ เชื่อได้ว่าจะเป็นการนำ “ความรู้สู่การปฏิบัติ” ที่เห็นภาพชัดเจน ที่ผ่านมาไทยเรามีการนำความรู้สู่การปฏิบัติไม่มากนัก แต่ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับวิชาเคมีที่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คน และไม่รู้ว่าจะนำไปใช้ได้อย่างไร การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการนำองค์ความรู้ด้านเคมีทั้งอินทรีย์และอนินทรีย์มาต่อยอดใช้ประโยชน์ในแง่การบริหารจัดการน้ำที่สำคัญอย่างมาก และอยากให้ต่อยอดเรื่องของน้ำเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะเรื่องของการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำในแต่ละพื้นที่เพื่อดูความเสี่ยงต่อสุขภาพ ที่จะสามารถนำผลการวิเคราะห์ไปขยายผลเพื่อดูความเสี่ยงเชิงสุขภาพ ร่วมกับหน่วยงานทางการแพทย์ต่อไป” ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนกกล่าว

 

 

สาระสำคัญอีกหนึ่งเรื่อง ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สวทช. หน่วยงานที่สร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยขั้นสูง หรือเรียกว่า เป็น Scientific Partner และ มรภ.ลำปาง ในฐานะหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเชิงพื้นที่ ทำงานเป็น Local Partner ร่วมกันนำองค์ความรู้ด้านเคมีสู่การปฏิบัติใช้จริงในพื้นที่ เกิดการพัฒนา ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ภายในท้องถิ่น เชื่อว่า จากความร่วมมือนี้จะประสบความสำเร็จอย่างมาก และอยากให้มีโอกาสแบบนี้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆ อีก โดยอยากให้ได้มาเยี่ยมชม สวทช. เพื่อนำสู่ความร่วมมือที่จะนำความรู้สู่การปฏิบัติในมิติอื่นๆ ต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. พร้อมเป็นขุมพลังหลักของประเทศในการใช้ประโยชน์จาก วทน. ของรัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด โดยอาศัยความสามารถของบุคลากรวิจัย ความพร้อมทางด้านเครื่องมือของ สวทช. ไปเสริมสร้างระบบวิจัยของประเทศให้เข้มแข็งโดยทำงานร่วมกับภาคเอกชน หน่วยวิจัย มหาวิทยาลัย รวมทั้งมหาวิทยาลัยในเชิงพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

“ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา การบริการวิชาการการจัดการความรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนาเพิ่มความเข้มแข็งทางวิชาการ การพัฒนากำลังคนและจัดการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่นำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน จะเป็นการตอกย้ำความร่วมมือของหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ที่ สวทช. จะร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนจังหวัดการพัฒนาด้านการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) กรอบความร่วมมือดำเนินงานวิจัยและพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ร่วมกันจัดหาและสนับสนุนทรัพยากร ร่วมแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ และร่วมกันพัฒนาบุคลากร พัฒนาหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

 

 

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือที่กล่าวไปข้างต้นนั้น โครงการนำร่องที่จะเกิดขึ้นมี 3 ด้านคือ ด้านการพัฒนากำลังคน ที่นักวิจัยนาโนเทค ร่วมพัฒนาหลักสูตรและอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี ในรูปแบบ Cooperative and Work Integrated Education (CWIE) ในปี 2565 ที่ผ่านมา, ด้านการเกษตร โดยทำโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรการเกษตรโดยการใช้ชุดทดสอบสารตกค้าง GT-Pesticide Residual test kit เพื่อตรวจสอบคุณภาพผลผลิตเกษตรปลอดภัย และเทคนิคการขยายสารชีวภัณฑ์คุณภาพ และการพัฒนาจุดเรียนรู้ด้านเกษตรปลอดภัยและเกษตรอัจฉริยะ ที่บ้านสัก ต.บ้านเอื้อม

ส่วนด้านบริหารจัดการน้ำนั้น จะเป็นการร่วมดำเนินการโครงการการตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคด้วยวิทยาศาสตร์ (โครงการบูรณาการน้ำ ปี 2566) ได้แก่ โครงการพัฒนาฐานข้อมูลด้านคุณภาพน้ำประปาที่มีการปนเปื้อนฟลูออไรด์ โลหะหนัก และสารเคมีตกค้างด้วยนาโนเทคโนโลยีสำหรับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดลำปาง และโครงการนวัตกรรมตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคที่มีการปนเปื้อนฟลูออไรด์ โลหะหนัก และสารเคมีตกค้างด้วยนาโนเทคโนโลยี

“เป้าหมายคือ ฐานข้อมูลคุณภาพน้ำในพื้นที่โรงเรียนของจังหวัดลำปางมากกว่า 100 โรงเรียน สร้างนวัตกรพัฒนาคุณภาพน้ำ 100 คน รวมถึงนวัตกรรมตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำในพื้นที่จังหวัดลำปางกว่า 270 ครัวเรือน ที่นำสู่คุณภาพน้ำที่มีมาตรฐาน น้ำประปาหมู่บ้านสำหรับชุมชน พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการขยายผลการพัฒนาฐานข้อมูลและคุณภาพน้ำโดยอาศัยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการพัฒนากำลังคน ตามเป้าหมาย 2 ลด 3 เพิ่ม คือ ลดโรค ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มการเข้าถึงน้ำสะอาด เพิ่มคุณภาพน้ำและคุณภาพชีวิต” ศาสตราจารย์ดร.ชูกิจ ย้ำ

รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (มรภ.ลำปาง) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางเป็นมหาวิทยาลัยที่มีพันธกิจ ตามยุทธศาสตร์ราชภัฏ โดยเน้น การพัฒนาท้องถิ่น การผลิตบัณฑิตและการยกระดับการศึกษา ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้ดำเนินการมาอย่างยาวนานในจังหวัดลำปางและจังหวัดลำพูน รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง โดยเน้นการยกระดับรายได้และคุณภพชีวิต การพัฒนาคุณภาพชีวิต การจัดการฐานข้อมูล และการบูรณาการฐานภูมิปัญญาจนเกิดองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาชุมชนควบคู่กับการพัฒนาบัณฑิต มีความรู้โดดเด่นเชิงพื้นที่ กระบวนการการทำงานเชิงพื้นที่เป็นการยอมรับในระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและครูระดับโรงเรียน

จากที่มรภ.ลำปาง มีความสนใจในความร่วมมือกับสวทช. ที่รู้กันดีว่า เป็นหน่วยงานที่นำความสามารถอันเหนือชั้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยให้ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งได้ดำเนินงานผ่านการทำงานร่วมกันของศูนย์ทั้ง 5 ศูนย์แห่งชาติ ได้แก่ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) มุ่งพัฒนางานด้านนาโนเทคโนโลยี ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มุ่งพัฒนางานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) มุ่งพัฒนางานด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวัสดุต่างๆ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มุ่งพัฒนางานด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) มุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของประเทศ

จุดเริ่มต้นความร่วมมือของสองหน่วยงานความร่วมมือปี 2555-2564 การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรสู่ชุมชน กลุ่มเกษตรกร 5 กลุ่ม ในพื้นที่จังหวัดลำปาง และในงบประมาณ พ.ศ. 2565 โครงการพัฒนาการผลิตน้ำสะอาดในชุมชน โดยเทคโนโลยีเครื่องกรองน้ำ: ชุมชนบ้านป่าสัก ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง จากงบประมาณวิจัย วช.งบประมาณ พ.ศ. 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยได้มีโครงการร่วมมือ แผนบูรณาการน้ำ ปี 2566

สำหรับความคาดหวังที่มีต่อความร่วมมือ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ เผยว่า มี 3 เรื่องคือ ความร่วมมือ จะนำไปสู่การพัฒนาด้านการวิจัยร่วมกัน เช่น การพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อขอทุน,การพัฒนาบุคลากรร่วมกัน เป็นการร่วมกันพัฒนาหลักสูตร การเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ที่ปรึกษาวิจัยร่วมกัน และการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์และข้อมูลทางวิชาการ เป็นการส่งเสริมนักศึกษา และบุคลากรไปแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงาน

“มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นหน่วยงานในการอำนวยการเชิงพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชี้เป้าประเด็นปัญหา รวมถึงรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ชุมชน โดย บุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จะรับการถ่ายทอดองค์ความรู้จาก สวทช.  ดังเช่นที่ คณะวิทยาศาสตร์รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเคลือบเซรามิกแบบซิลเวอร์นาโนสำหรับฆ่าเชื้อในระบบกรองน้ำชุมชนจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. การพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน เช่น หลักสูตรวิทยาศาสตร์ เคมี ที่มีการแต่งตั้งอาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ที่ปรึกษาวิจัยร่วม การจัดการและสนับสนุนทรัพยากร เช่น การใช้ทรัพยากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกัน” อธิการบดี มรภ.ลำปาง กล่าว

แชร์หน้านี้: