หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 3 ฉ.7 – 10 เทคโนโลยี พลิกโฉมธุรกิจ
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 3 ฉ.7 – 10 เทคโนโลยี พลิกโฉมธุรกิจ
16 ต.ค. 2560
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

10 เทคโนโลยี พลิกโฉมธุรกิจ

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามามีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมแทบทุกด้านและอาจปฏิวัติโลกธุรกิจให้เปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับ เร่งปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีแห่งอนาคต ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คัดเลือก “10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจ (10 Technologies to Watch)” ที่กำลังมาแรงในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านี้ มาแนะนำในกิจกรรม “NSTDA Investors’ Day 2017” ภายใต้งาน Thailand Tech Show 2017

1. สารเสริมสุขภาพเนรมิตได้ (Phytonutrients)

เอาใจคนรักสุขภาพที่ไม่มีเวลา และสร้างโอกาสทางธุรกิจ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสกัดสารสำคัญชนิดต่างๆ จากพืชผัก ผลไม้ ที่ปลอดภัยมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีการสกัดแบบไม่ใช้สารเคมี เพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามต้องการได้ดั่งเนรมิต และผลิตในรูปแบบต่างๆ ทั้งแคปซูล ผง แท่ง หรือละลายน้ำ ซึ่งล่าสุดมีบริษัทที่ทำผลิตภัณฑ์จากพืชออกสู่ตลาดแล้ว อาทิ อาหารเสริมแบบชง ที่มีทั้งโปรตีน ไฟเบอร์ วิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระและโพรไบโอติก ของบริษัท Vega One และเนื้อไก่เทียมที่ทำจากถั่วของ บริษัท Beyond Meat เป็นต้น

2. เนื้อสัตว์ไม่ต้องฆ่า (Cellular Agriculture)

อนาคตอันใกล้เราอาจไม่ได้กินเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์ม แต่ถูกส่งตรงมาจากห้องแล็บแทน ด้วยเทคโนโลยี Cellular Agriculture เป็นการเพาะเลี้ยงเซลล์จากสเต็มเซลล์ ซึ่ง Prof.Mark Post จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ทดลองนำเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อวัวที่เลี้ยงในห้องปฏิบัติการมาทำเป็นแฮมเบอร์เกอร์ทานโชว์ออกอากาศทางโทรทัศน์ของประเทศอังกฤษ และขณะนี้ บริษัท Memphis Meats ใน Silicon Valley ผลิตเนื้อไก่ เป็ด และวัว จากการเพาะเลี้ยงได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก พร้อมตั้งเป้าวางขายผลิตภัณฑ์ในปี 2564

3. จุลินทรีย์ผลิตสารมูลค่าสูงจากอากาศ (From-Air-To-Chemicals Bacteria)

แนวคิดการใช้จุลินทรีย์ดึงคาร์บอนไดออกไซด์มาสร้างสารมูลค่าสูงกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตาสามารถผลิตแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ ซินนีโคค็อกคัส (Synechococcus) ที่สังเคราะห์แสงโดยตรึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ แล้วเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาล เพื่อส่งต่อให้แบคทีเรียชีวาเนลลา (Shewanella) เปลี่ยนเป็นกรดไขมัน ซึ่งนำไปใช้ผลิต “คีโตน” วัตถุดิบตั้งต้นสำคัญของสารประกอบอินทรีย์อื่นๆ และน้ำมันดีเซลได้

4. บรรจุภัณฑ์กินได้ (Edible Packaging)

ขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดปัญหามลพิษ บรรจุภัณฑ์กินได้ จึงเป็นนวัตกรรมที่กำลังถูกจับตามอง ทีมนักวิจัยของ Skipping Rocks Lab ประเทศอังกฤษ ได้พัฒนา Edible water bottle หรือ “Ooho” บรรจุภัณฑ์กินได้ ที่ผลิตจากสารสกัดสาหร่ายสีน้ำตาลผสมกับสารประกอบแคลเซียม ภายในบรรจุเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่าหรือน้ำหวาน ซึ่งผู้บริโภคสามารถทานได้ทั้งคำ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย และที่สำคัญขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กินได้ออกวางจำหน่ายแล้ว คือ บริษัท ซี โอ สวนสระแก้ว จำกัด ที่ผลิต juice ball น้ำผลไม้ที่ห่อหุ้มด้วยสารสกัดจากสาหร่ายซึ่งกินได้ทั้งคำเช่นเดียวกัน

5. ถุงปลูกเพิ่มผลผลิต (Nonwovens for Agriculture)

ผ้าไม่ถักไม่ทอ หรือ Nonwovens เป็นวัตถุดิบที่ถูกนำมาใช้แทนกลุ่มผ้า กระดาษ และพลาสติกมากขึ้น เพราะผลิตได้รวดเร็ว ปริมาณมาก ต้นทุนต่ำ ยิ่งเฉพาะในด้านการเกษตร เริ่มมีการใช้งานแพร่หลาย ล่าสุดนักวิจัยจากศูนย์เอ็มเทค สวทช. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนา “ถุงปลูกนอนวูฟเวน” สำหรับปลูกพืช ซึ่งถุงชนิดนี้มีรูพรุนเหมาะต่อการผ่านของน้ำและอากาศ ทำให้รากพืชเติบโตแผ่กระจายได้ดี ช่วยเพิ่มปริมาณผลิตผลทางการเกษตรให้มากขึ้น

6. หุ่นยนต์หมอนาโน (Medical Nanorobot)

หุ่นยนต์ขนาดเล็กจิ๋ว หรือ Nanorobot หนึ่งในเทคโนโลยีที่อาจมาเปลี่ยนรูปแบบการรักษาของแพทย์ในอนาคตอันใกล้ เช่น การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาที่ยังขาดความจำเพาะ จึงทำลายเซลล์มะเร็งเป้าหมายได้แค่ 1–2% ที่เหลือกลับทำลายเซลล์ดี ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ ตามมา ขณะนี้มีทีมวิจัยที่ศึกษาการนำ T Cell มาใช้เป็น Nanorobot นำส่งยาที่ใช้ฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะ ทำให้เซลล์มะเร็งตาย โดยไม่กระทบต่อเซลล์ปกติอื่นๆ

7. เข็มจิ๋วจิ้มไม่เจ็บ (Nano Needle)

การฉีดยาเป็นเรื่องเจ็บตัวและไม่พึงปรารถนาของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่เรื่องนี้อาจกลายเป็นอดีตไปในไม่ช้า ด้วยเทคโนลีเข็มขนาดเล็กมากๆ ที่เรียกว่า Micro/Nano Needles หรือ MNN มีเส้นผ่านศูนย์กลางระดับไมโครและนาโนเมตร คือราว 1 ในล้าน และ 1 ในพันล้านส่วนของเมตรเท่านั้น ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 นักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการทดสอบประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับอาสาสมัคร โดยใช้แผ่น MNN เป็นครั้งแรก และขณะนี้มีงานวิจัยสร้างเข็มจิ๋วที่เหมาะกับการฉีดยาหรือวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการฉีดอินซูลินสำหรับการรักษาโรคเบาหวาน อีกด้วย

8. บล็อกเชนเพื่อสุขภาพ (Blockchain for Health)

ปัญหาข้อมูลสุขภาพ ครอบคลุมการถ่ายโอนข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วย เป็นปัญหาสำคัญของระบบรักษาพยาบาลในปัจจุบัน การนำบล็อกเชนมาใช้แบ่งปันข้อมูลผู้ป่วย จะช่วยให้โอนย้ายผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลได้สะดวกขึ้น การวินิจฉัยโรคมีความถูกต้องมากขึ้น เช่น บริษัทสตาร์ทอัพชื่อ เจม (Gem) สร้างระบบชื่อ Gem Health Network ใช้แพลตฟอร์มการเข้ารหัสข้อมูลและการยืนยันตัวตนแบบบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูง และยังมีการร่วมมือกับบริษัท Citi สร้างระบบการเคลมค่ารักษาพยาบาลผ่านบล็อกเชนได้อีกด้วย

9. โรงยิมสมอง (Brain Gym)

สมองเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนมาก งานวิจัยสมองถือเป็นความท้าทายระดับประเทศหรือระดับโลก เห็นได้จากประเทศสหรัฐอเมริกา มี US BRAIN Initiative ที่ตั้งเป้าจะทำแผนที่การทำงานของสมอง เป็นศาสตร์ด้าน นิวโรอินฟอร์เมติกส์ (neuroinformatics) ที่ช่วยให้สามารถออกแบบเกมส์ หรือ แอปพลิเคชันสำหรับฝึก หรือเสริมประสิทธิภาพการใช้สมอง ที่เรียกว่า Serious Gaming หรือ Game for Health

10. การพิมพ์ฟังก์ชัน 3 มิติ (Functional 3D Printing)

ในอนาคตอันใกล้ วัสดุใหม่ๆ เช่น วัสดุคอมพอสิต จะช่วยให้สามารถพิมพ์วัสดุที่มีคุณสมบัติเฉพาะต่างๆ ได้หลากหลายขึ้น ทำให้สร้างอุปกรณ์ที่ทำงานได้เลยหลังพิมพ์เสร็จ เรียกว่า Functional 3D Printing เช่น การพิมพ์พลาสติกที่สามารถนำความร้อน เพราะมีวัสดุโลหะผสมอยู่ เช่น วัสดุผสมคอมพอสิต กับอนุภาคหรือเส้นใยของทองแดง หรืออะลูมิเนียม ซึ่งสามารถนำไปใช้ทดแทนชิ้นส่วนโลหะได้ เช่น ชิ้นส่วนโคมไฟรถยนต์ หรือใช้ระบายความร้อนในวงจรอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ดีการรู้ทันทิศทางและแนวโน้มเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากจะเป็นภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการตั้งรับและลงทุนได้อย่างเหมาะสมแล้ว ยังเป็นข้อมูลสำคัญให้ประชาชนก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

16 ต.ค. 2560
0
แชร์หน้านี้: