For English-version news, please visit : Use of defective tiles to produce pervious concrete
ในอุตสาหกรรมการผลิตกระเบื้อง โรงงานส่วนใหญ่มักต้องเผชิญปัญหาสินค้ามีตำหนิในทุกรอบการผลิต คิดเป็นปริมาณร้อยละ 5-10 ของสินค้าทั้งหมด ซึ่งสินค้ามีตำหนิเหล่านี้ไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ เมื่อสะสมไว้เป็นเวลานานทำให้ไม่มีสถานที่จัดเก็บ โรงงานส่วนใหญ่จึงมักกำจัดทิ้งด้วยการบด ก่อนนำไปใช้ถมที่หรือฝังกลบ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับบริษัทเคนไซ ซีรามิคส์ อินดัสตรี้ จำกัด วิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต ‘คอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็ว’ จากกระเบื้องมีตำหนิ เพื่อลดปัญหาวัสดุเหลือทิ้งและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช.
คุณวิทยา ทรงกิตติกุล นักวิจัย ทีมวิจัยอีโคเซรามิกและจีโอพอลิเมอร์ เอ็มเทค สวทช. อธิบายว่า บริษัทเคนไซ ซีรามิคส์ อินดัสตรี้ จำกัด เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องตกแต่งสำหรับปูพื้นและบุผนังรายใหญ่ของประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยปัจจุบันนอกจากการนำกระเบื้องมีตำหนิบางส่วนมารีไซเคิลเป็นวัสดุตั้งต้นสำหรับผลิตกระเบื้องใหม่แล้ว บริษัทยังได้ร่วมกับทีมวิจัยพัฒนาสูตรการผลิต ‘คอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็ว’ เพื่อนำกระเบื้องมีตำหนิสะสมมาหลายปีซึ่งยังคงมีเหลืออยู่มากมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นในการผลิตสินค้าชนิดใหม่ของบริษัท
สำหรับกระบวนการแปรรูปกระเบื้องมีตำหนิสู่คอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็ว ทีมวิจัยใช้วิธีการบดกระเบื้องที่มีตำหนิด้วยเครื่องบดขนาดใหญ่จนได้วัสดุที่มีขนาดอนุภาคเหมาะสม ก่อนนำมาขึ้นรูปด้วยสูตรจำเพาะ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความแข็งแรง คงทน และน้ำซึมผ่านได้ดี
คุณวิทยา อธิบายว่า สูตรการผลิตคอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็วที่ทีมวิจัยได้ร่วมกับบริษัทพัฒนาขึ้นมีมากถึง 3 รูปแบบ ซึ่งมาจากวัตถุดิบตั้งต้น 3 ชนิด คือ กระเบื้องชนิดไม่เคลือบ กระเบื้องเคลือบ และหินจากธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อให้ได้กระบวนการผลิตจากวัตถุดิบที่หลากหลาย ผลิตได้จำนวนมาก ทันต่อความต้องการของลูกค้า โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบทั้ง 3 แบบ ได้รับการทดสอบความแข็งแรง ความหนาแน่น และการซึมผ่านของน้ำดี ได้ค่าผ่านตามมาตรฐานที่สหรัฐอเมริกากำหนด และรองรับแรงกดอัดได้ตามเกณฑ์ของคอนกรีตปูพื้น การประยุกต์ใช้งานผลิตภัณฑ์สามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการปูพื้นทางเท้า จัดตกแต่งสวน หรือใช้งานกับสถานที่ที่มีระบบระบายน้ำ เพื่อช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังและช่วยระบายความร้อน
แม้ประเทศไทยจะยังมีการผลิต จำหน่าย และใช้งานคอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็วไม่แพร่หลาย แต่ในหลายประเทศมีการใช้งานผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มายาวนาน รวมถึงมีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย เช่น สนามกีฬา ถนน และลานจอดรถ
คุณวิทยา เล่าว่า ในบางประเทศมีการปูพื้นพื้นที่ที่ต้องการใช้งานด้วยก้อนกรวด ก่อนนำคอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็วมาวางทับ เพื่อให้น้ำที่ไหลผ่านผลิตภัณฑ์ผ่านการกรองอีกขั้นจนค่อนข้างสะอาด เหมาะแก่การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ หรือบางแห่งมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีลักษณะเป็นกล่องคอนกรีตทึบที่บรรจุด้วยคอนกรีตน้ำซึมผ่านเร็ว และมีท่อสำหรับระบายน้ำออก เพื่อควบคุมทิศทางการระบายน้ำไปยังจุดที่ต้องการ
“นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์อีกหลายรูปแบบ เช่น การใช้เป็นขอบสระว่ายน้ำเพื่อดึงน้ำที่ล้นออกจากสระกลับเข้าสู่ระบบใหม่ หรือใช้เป็นกำแพงกรองลมในพื้นที่ที่มีลมพัดผ่านค่อนข้างแรง เพื่อช่วยลดความแรงของลม และเพิ่มความปลอดโปร่งให้แก่พื้นที่ภายในแนวกำแพง”
ปัจจุบันทีมวิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่บริษัทเคนไซ ซีรามิคส์ อินดัสตรี้ จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทกำลังพัฒนาขนาดและรูปแบบให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และจัดเตรียมสายการผลิตและช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผู้ที่สนใจติดตามการวางจำหน่ายสินค้าได้ที่ www.kenzai.co.th
การร่วมแรงนำความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการตลาด มาพัฒนารูปแบบวิธีการที่จะใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดครั้งนี้ ถือเป็นตัวอย่างอันดีของการผสานกำลังและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมพัฒนากระบวนการผลิตที่คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG
เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และเนคเทค สวทช.