หน้าแรก ศุภมาส ร่วมผลักดันไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เร่งขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนาด้าน EV ด้วยขุมพลังด้านกำลังคน เครื่องมือและเทคโนโลยีของ สวทช.
ศุภมาส ร่วมผลักดันไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เร่งขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนาด้าน EV ด้วยขุมพลังด้านกำลังคน เครื่องมือและเทคโนโลยีของ สวทช.
20 ก.พ. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) ได้ประชุมบอร์ด กวทช. พร้อมมอบหมายให้ สวทช. ดำเนินงานเชิงรุกในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านการใช้รถ ICE มาสู่รถไฟฟ้า หรือ EV-Transformation เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย อว. FOR EV ตอบโจทย์บอร์ดอีวี ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 และผลักดันไทยขึ้นแท่นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของภูมิภาค และ 10 อันดับแรกของโลก

ด้านศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า สวทช. พร้อมเดินหน้าทำงานทันทีหากรัฐบาลให้การสนับสนุน  เพราะเรามีขุมพลังทั้งในด้านกำลังคน การวิจัยพัฒนา และเทคโนโลยีที่สมัย สามารถสนับสนุนการดำเนินงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าตาม 4 พันธกิจสำคัญของประเทศ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริการทดสอบตามมาตรฐาน การส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการเพิ่มบุคลากรวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม

 “สวทช. ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าที่ครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่การพัฒนาแพลตฟอร์มยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV Platform) ระบบขับขี่อัตโนมัติ การพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาในกลุ่มมอเตอร์ ระบบขับเคลื่อน และโครงสร้างน้ำหนักเบา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สมรรถนะ และลดต้นทุนของยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลวัสดุในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในหนทางช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเป็นปัญหาขยะมลพิษในอนาคต ไม่เพียงเฉพาะยานยนต์ สวทช. ยังศึกษาวิจัยถึงการเชื่อมต่อในระบบ IoT ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และสื่อสาร ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ในหลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น

ในด้านความปลอดภัย สวทช. มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริการทดสอบ สอบเทียบ วิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานสากล อาทิ การทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าและความปลอดภัยสำหรับระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ทั้งคัน การทดสอบอุปกรณ์อัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ทดสอบชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียม โมดูลแบตเตอรี่ของจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่แพ็กของยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการยกระดับอุตสาหกรรมการดัดแปลงรถยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงหรือ EV Conversion เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวว่า ในด้านการส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยกลไก EV Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. รวมถึงการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิต สวทช. ได้พัฒนากลไกสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงของการลงทุน มีการดำเนินงานทั้งกลไกด้านการเงิน ภาษี และมาตรการส่งเสริมภาคธุรกิจ และให้คำปรึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรมบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการในกระบวนการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

 

“สิ่งสำคัญในการเตรียมรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า คือ การเพิ่มบุคลากรวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม สวทช. มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมพัฒนาและแลกเปลี่ยนบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูง อีกทั้งยังได้พัฒนาส่งเสริมเพิ่มทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมด้วยการจัดหลักสูตรการอบรมและการสอบมาตรฐาน เพื่อสร้างกำลังคนที่ช่วยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ

แชร์หน้านี้: