หน้าแรก เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ พันธมิตรภาคอุตสาหกรรม เปิดตัว “ค้ำคูณ” ต้นแบบรถสามล้อไฟฟ้า ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก บพข.
เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ พันธมิตรภาคอุตสาหกรรม เปิดตัว “ค้ำคูณ” ต้นแบบรถสามล้อไฟฟ้า ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก บพข.
1 เม.ย. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยกลุ่มวิจัยระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (RMT) ร่วมกับ บริษัท เทคโนโลยีอีสานเหนือ จำกัด โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ เปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้าต้นแบบรุ่นใหม่ “ค้ำคูณ” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อยกระดับขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ พร้อมเป็นหนึ่งตัวอย่างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การขนส่งสาธารณะในเมือง

ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ สวทช. กล่าวว่า “การพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งแห่งอนาคตและระบบนิเวศธุรกิจ” การขนส่งแห่งอนาคตนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ตลอดจนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ ในวันนี้ เราได้รวบรวมผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการขนส่งแห่งอนาคตมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการพัฒนาธุรกิจภายใต้บริบทเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการเปิดตัวต้นแบบ “ค้ำคูณ” ผลงานจากโครงการวิจัยร่วมระหว่างเอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ บริษัท เทคโนโลยีอีสานเหนือ จำกัด โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การขนส่งสาธารณะในเมือง

ศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมพิธีเปิดตัวต้นแบบรถสามล้อไฟฟ้า “ค้ำคูณ” ในวันนี้ ตามแผนพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ตามนโยบาย “อว. For EV” ของ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ท่านศุภมาส อิศรภักดี บพข. ร่วมกับ สกสว. ได้ปรับแผนด้าน ววน. (วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) มุ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็น Flagship สำคัญของกองทุนส่งเสริม ววน. เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ โดยในปี 2566 บพข. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ววน. ด้านยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 445.5 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 610 ล้านบาท โดยได้สนับสนุนทุนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่องในหลายด้านรวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟ้ฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ซึ่ง ต้นแบบรถสามล้อไฟฟ้า “ค้ำคูน” นี้ ได้ตอบโจทย์การวิจัยในด้านนี้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข.ใน โปรแกรม 10 ยกระดับความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจ แผนงานย่อยการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในปีงบประมาณ 2565 และ บพข. พร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่อง เพื่อยกระดับเทคโนโลยี เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนต่อไป

คุณไพรัตน์ เอื้อชูยศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ส.อ.ท. มุ่งมั่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่การยกระดับจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่อุตสาหกรรมใหม่ หนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ที่ ส.อ.ท. ให้ความสำคัญคือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ และเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยมุ่งเน้นให้ภาครัฐรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนของโลก สร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และยกระดับชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเพื่อมุ่งการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โครงการต้นแบบรถสามล้อไฟฟ้า “ค้ำคูณ” เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนารถสามล้อไฟฟ้าที่ปลอดภัย สะดวก ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

คุณวิกรม วัชระคุปต์ รองประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว กล่าวถึงการเปิดตัวในครั้งนนี้ว่า “ตามแผนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Next-gen Automotive) และการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emission) ในปี 2065 ประกอบกับนโยบาย 30@30 ของภาครัฐที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยกำหนดเป้าหมายให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ “

คุณวิกรม กล่าวต่อว่า “ผมในฐานะตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต และสภาธุรกิจไทย-ลาว ปรารถนาจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการผลิตระดับภูมิภาค ซึ่งช่วยนำไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ศักยภาพสูง เช่น อุดรธานี ในฐานะเมืองศูนย์การคมนาคมขนส่ง และเมืองหน้าด่านสำคัญที่เชื่อมต่อไปยัง สปป. ลาว ได้สะดวก นอกจากนี้ ในฐานะผู้ริเริ่มประสานงานระหว่างตัวแทนภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดอุดรธานี และคณะวิจัยเอ็มเทค สวทช. เพื่อให้เกิดการดำเนินโครงการวิจัยพัฒนารถสามล้อไฟฟ้ารูปแบบใหม่ตอบโจทย์ความท้าทายแห่งอนาคตทั้งในมิติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผมจึงมีความยินดี ที่ได้เห็นผลงานการวิจัยและพัฒนาต้นแบบสามล้อไฟฟ้า “ค้ำคูณ” สำเร็จลุล่วงในวันนี้ ภายใต้การสนับสนุนทุนการวิจัยจาก บพข. และมีวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือร่วมให้การสนับสนุนโครงการวิจัยทั้งในรูปแบบ In-cash และ In-kind อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในวันนี้ว่าถือเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนเข้าสู่กระบวนการนำต้นแบบไปต่อยอดขยายผลและพัฒนาเป็นธุรกิจเชิงอุตสาหกรรมและบริการต่อไป ผมขอเป็นกำลังให้กับคณะวิจัย และผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจาก การนำผลงานที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาเข้าสู่ภาคธุรกิจที่แท้จริงเพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม ยังคงมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้าอีกมากมาย”

รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวสัดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า “กลุ่มวิจัยระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ หรือ RMT เอ็มเทค สวทช. มีพันธกิจด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสร้างนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ โดยปัจจุบัน RMT ดำเนินกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในด้านที่เกี่ยวข้องกับระบบราง และเทคโนโลยีในด้านยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ ภายใต้นโยบายการวิจัยและพัฒนาด้านความปลอดภัยทางถนน หรือ road safety ของเอ็มเทค ภายใต้แนวคิด “Smart Mobility” ที่หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-gen Automotive) ของรัฐบาล”

รศ.ดร.เติมศักดิ์ กล่าวต่อว่า “ต้นแบบรถสามล้อไฟฟ้า “ค้ำคูณ” นี้ ได้เน้นย้ำถึงความเชี่ยวชาญของคณะวิจัยเอ็มเทค ที่ได้ใช้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่จับต้องได้ โดยการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานเกี่ยวข้องอื่น ซึ่งในอนาคตจะมีขยายผลสู่การผลิตและใช้งานเชิงพาณิชย์ต่อไป
ผมหวังว่านวัตกรรม “ค้ำคูณ” นี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม พร้อมยกระดับความรู้เชิงเทคนิคให้กับประเทศ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคต อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนพลังงาน และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทั้งในและต่างประเทศต่อไป”

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ค้ำคูณ” เป็นหนึ่งในแผนงาน EV-Innovation ของ สวทช. ในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจาก บพข. อีกทั้งยังตอบสนองนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะในภูมิภาค และมีแผนขยายผลนวัตกรรมนี้สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังมีแผนต่อยอดสู่การใช้งานไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยแต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
ผมขอขอบคุณคณะวิจัย สวทช. ทุกท่าน คณะอาจารย์และนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ บุคลากรจากทุกภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดอุดรธานี ที่ร่วมแรงร่วมใจจนสามารถสร้าง “ค้ำคูณ” ให้เป็นนวัตกรรมตอบสนองและตอบโจทย์ “การขนส่งแห่งอนาคต” และนำมาเปิดตัวให้สาธารณะรับทราบในวันนี้ ต้นแบบรถ “ค้ำคูณ” นี้ เป็นหนึ่งในแผนงาน EV-Innovation ของ สวทช. ในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจาก บพข. อีกทั้งยังตอบสนองนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะในภูมิภาค และมีแผนขยายผลนวัตกรรมนี้สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังมีแผนต่อยอดสู่การใช้งานไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยแต่รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านต่อไป”

แชร์หน้านี้: