หน้าแรก คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน
คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน
16 พ.ค. 2567
0
BCG
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน

 

โดยทั่วไปหากไม่ได้มีรถยนต์ส่วนตัวไว้ใช้งาน หนึ่งในขนส่งสาธารณะที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภาคอีสานก็คือ สกายแล็บ (Skylab)รถสามล้อเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้เดินทางสะดวก รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 7 คน หรือจะปรับมาใช้ขนส่งสินค้า อาทิ ผลิตผลทางการเกษตรก็คล่องตัวเช่นกัน แต่ในวันนี้วันที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาโลกร้อนในระยะที่ยากจะหวนกลับคืน สิ่งที่แต่ละภาคส่วนจำเป็นต้องตระหนักและช่วยกันอย่างเร่งด่วน คือ ลดการปล่อยมลพิษ สภาอุตสาหกรรม จังหวัดอุดรธานี จึงลุกขึ้นเป็นตัวแทนคนในจังหวัดเดินหน้าพัฒนาแซนด์บ็อกซ์ (sand box) ขนส่งสายกรีน โดยเริ่มจากพัฒนาสามล้อไฟฟ้าที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของสกายแล็บแต่เพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น

 

คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน
สกายแล็บ (Skylab)

 

คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน
สกายแล็บ (Skylab)

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม จังหวัดอุดรธานี พัฒนาต้นแบบรถสามล้อไฟฟ้า ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

 

‘KHamKoon ยกระดับความปลอดภัย เพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ยานยนต์สมัยใหม่ที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ท้องถิ่น ขับขี่ได้อย่างปลอดภัย และมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ ความต้องการของคนจังหวัดอุดรธานีที่เป็นโจทย์ในการดำเนินงานให้กับทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. นักวิจัยจึงได้ดำเนินภารกิจครั้งนี้โดยเลือกใช้สกายแล็บเป็นโจทย์ตั้งต้น เพื่อคงไว้ซึ่งภาพจำของคนในจังหวัด รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยได้ร่วมกันตั้งชื่อให้กับสามล้อไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ว่า ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’

 

คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน
คุณชัยวิวัฒน์ เกยูรธำมรงค์, คุณวัลลภ รัตนถาวร, คุณยศวัฒน์ เศรษฐกุลสิทธิ์ และคุณอรรถพล พลาศรัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่ง เอ็มเทค สวทช.

 

ดร.วัลลภ รัตนถาวร ทีมวิจัยเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่ง กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. เล่าว่า รถสามล้อทั่วไปจะมีจุดศูนย์ถ่วงอยู่ใกล้กับล้อหน้า เมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วจะเกิดการสไลด์ ล้อยก หรือพลิกคว่ำได้ง่าย ทีมวิจัยจึงได้นำความเชี่ยวชาญด้านระบบขับเคลื่อนและระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ออกแบบ การเพิ่มเสถียรภาพในการเข้าโค้งให้แก่รถโดยเทคโนโลยีเฉพาะที่พัฒนาขึ้น คือ มอเตอร์ควบคุมการขับเคลื่อนที่ควบคุมล้อแต่ละล้อได้อย่างอิสระตามสถานการณ์การขับขี่แบบอัตโนมัติซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้งานพบว่า ผู้ขับขี่สามารถขับต้นแบบรถ KHamKoon แล้วกลับรถหรือเปลี่ยนทิศทางรถอย่างรวดเร็ว (J-turn) ที่ความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างปลอดภัย ตรงตาม มอก.3264-2564 ที่เป็นมาตรฐานสากล หรือมีความปลอดภัยในการขับขี่มากขึ้นกว่าเดิม

 

คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน
ต้นแบบรถ KHamKoon (ค้ำคูณ)

 

“ส่วนด้านโครงสร้างรถทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์โครงสร้างซึ่งอยู่ในกลุ่มวิจัยเดียวกันได้ดำเนินการออกแบบใหม่โดยปรับแต่งให้เป็นรถที่คงไว้ซึ่งลักษณะเค้าโครงเดิมของสกายแล็บ แต่มีความแข็งแรงและความปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยทีมวิจัยได้ใช้หลักการ finite element analysis หรือการคำนวณเพื่อวิเคราะห์ความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการสร้างแบบจำลองยานยนต์ด้วยเทคโนโลยี simulation จนได้เป็นผลงานการออกแบบ โครงสร้างรถที่มีศักยภาพในการเป็นเกราะเสริมความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร ส่วนประเด็นสุดท้ายด้านการเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทีมวิจัยได้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จากระบบสันดาปภายใน ให้เป็นระบบไฟฟ้า (EV) โดย KHamKoon ผ่านการออกแบบให้ใช้แบตเตอรี่ความจุ 12 kWh เป็นแหล่งพลังงาน ทำให้วิ่งได้ระยะทาง 120-150 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง การชาร์จแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ใช้แท่นชาร์จ AC type 2 ที่มีให้บริการทั่วไปในปัจจุบันได้ และสามารถปรับการผลิตรถให้ใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุมากขึ้นและใช้รูปแบบการชาร์จแบบเร็ว (fast charge) ได้ หากมีความต้องการในอนาคต ปัจจุบันทีมวิจัยได้ส่งมอบต้นแบบรถ KHamKoon คันแรกให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีแล้ว

 

คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน

 

คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน

 

คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน

 

คนอุดรฯ พร้อมลุยต่อกับ แซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน

การจะลงทุนปรับเปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะในระดับจังหวัดไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย เพราะต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนระบบนิเวศ สภาอุตสาหกรรม จังหวัดอุดรธานี ในฐานะตัวแทนของประชาชนในจังหวัด จึงได้เป็นแกนนำในการนำร่องวางแผนจัดทำแซนด์บ็อกซ์ระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน
คุณอนุพงศ์ มกรานุรักษ์ รองประธาน สภาอุตสาหกรรม จังหวัดอุดรธานี

 

คุณอนุพงศ์ มกรานุรักษ์ รองประธาน สภาอุตสาหกรรม จังหวัดอุดรธานี อธิบายว่า การดำเนินงานความร่วมมือในการพัฒนารถ KHamKoon ร่วมกับเอ็มเทค สวทช. สภาอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะนำต้นแบบรถ KHamKoon มาใช้ในการทำแซนด์บ็อกซ์ขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นสิ่งที่ทางสภาอุตสาหกรรมได้ดำเนินงานคู่ขนานไปกับการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเอ็มเทคตั้งแต่เริ่มต้นก็คือการวางกลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนแผนงานนี้ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ภารกิจแรกภายใต้แซนด์บ็อกซ์ที่กำลังจะเริ่มทดลองใน 1-2 เดือนนี้แล้ว คือ การนำ KHamKoon ไปให้บริการรับส่งผู้โดยสารภายในโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีและรับส่งระหว่างโรงพยาบาลกับที่จอดรถซึ่งอยู่ห่างออกไป 1-2 กิโลเมตร เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดภายในสถานพยาบาลและพื้นที่โดยรอบ

“สิ่งที่กำลังพัฒนาหรืออยู่ในแผนการพัฒนาแล้ว คือ การเตรียมความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พื้นที่จุดจอดให้บริการรถ สถานีชาร์จ แอปพลิเคชันสำหรับเรียกรถ เพื่อให้ทั้งการให้บริการและการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะภายในจังหวัดเป็นเรื่องง่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้นต่อไป ส่วนอีกด้านที่มีแผนจะพัฒนาแล้วเช่นกัน คือ การพัฒนากำลังคนภายในจังหวัดด้วยการ อัปสกิล (upskill)’ หรือ รีสกิล (reskill)’ ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการผลิตและซ่อมบำรุงรถ EV โดยรถ KHamKoon ผ่านการออกแบบภายใต้แนวคิดคนในจังหวัดจะต้องผลิตและซ่อมบำรุงได้ด้วยตัวเองตั้งแต่แรกเช่นกัน เพื่อให้เมื่อผ่านการพัฒนาไปถึงระดับพาณิชย์ KHamKoon จะมีราคาที่จับต้องได้ และพร้อมแก่การใช้งานจริงในระยะยาว ทั้งนี้การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในจังหวัดตั้งแต่วันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ยุค EV เป็นยานยนต์ประเภทหลักของประเทศไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดการดิสรัปต์อาชีพต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว”

 

คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน

 

การวางแผนกลยุทธ์ตลอดห่วงโซ่ผลกระทบ (impact value chain) อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น และการที่ทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐในจังหวัด รวมถึงภาคการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ต่างก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนงานหลัก ทำให้ในวันนี้คำว่าสมาร์ตโมบิลิตี (smart mobility) หรือการเดินทางและระบบขนส่งอัจฉริยะสำหรับคนอุดรธานีไม่ใช่เพียงภาพฝัน แต่เริ่มมีเส้นทางสู่ความสำเร็จปรากฏให้เห็นแล้ว

นายอนุพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า คณะทำงานทุกคนต่างคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานแซนด์บ็อกซ์นี้จนประสบความสำเร็จ และนำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อให้จังหวัดอุดรธานีมีระบบสมาร์ตโมบิลิตีที่ยั่งยืน

 

คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน
จังหวัดอุดรธานี

 

คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน
จังหวัดอุดรธานี

 

คนอุดรฯ ร่วม สวทช. พัฒนา ‘KHamKoon (ค้ำคูณ)’ สามล้อไฟฟ้า มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์ขนส่งสายกรีน
จังหวัดอุดรธานี

  สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตรถ KHamKoon ได้ที่ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. โทร 0 2564 6500 ต่อ 4065 หรืออีเมล wallop.rat@mtec.or.th และติดต่อเพื่อร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในจังหวัดอุดรธานีได้ที่ สภาอุตสาหกรรม จังหวัดอุดรธานี

 

BCG Economy Model

 


เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย ภัทรา สัปปินันทน์ และ shutterstock

แชร์หน้านี้: