เปิดศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลตามพระราชดำริฯ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
3 พ.ค. 2567
0
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ด้อยโอกาส
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมพิธีเปิดศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ณ ชั้น 17 อาคาร 72 พรรษา มหาราชินี โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โดย นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย พญ.คัชรินทร์ เจียมศรีพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักแพทย์ นพ.พรเทพ แซ่เฮ้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ รศ.พญ.อดิสร์สุดา เฟื่องฟู หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลตามพระราชดำริฯ และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นายชูศักดิ์ ศิริเชียงพิณ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ คณะผู้บริหารและบุคลากรของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เข้าร่วมพิธีเปิด
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล กล่าวความเป็นของโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ทรงมีพระราชดำริว่า “ควรส่งเสริมให้เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังได้มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยพัฒนาร่างกาย จิตใจ และความรู้ในวิชาต่าง ๆ” ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ดำเนินโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลเป็นโครงการภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้เด็กเจ็บป่วยในโรงพยาบาลได้ใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนรู้ สร้างความเพลิดเพลิน และส่งเสริมพัฒนาการของเด็กเจ็บป่วยซึ่งขาดโอกาสทางการศึกษา เมื่อต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และพัฒนาครูผู้สอนให้สามารถใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมกับเด็ก ได้เริ่มโครงการนำร่องที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อปี 2538 และต่อมาได้ขยายผลไปยังโรงพยาบาลอีก 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ในปี 2540 โรงพยาบาลเลิดสินและโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ปี 2541 ทรงพระราชทานอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมมัลติมีเดีย เครื่องพิมพ์ และโปรแกรมช่วยการเรียนการสอน ตลอดจนจัดหาและสนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการช่วยจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านและยังไม่สามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้ หลังจากนั้นมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ขยายการดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลออกไปยังโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ในปี 2566 มีโรงพยาบาลเครือข่ายรวมจำนวน 90 แห่ง ครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ (ครบ 77 จังหวัดในปี 2564) มีทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเป็นที่น่ายินดีที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์เป็นโรงพยาบาลแรกในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เข้าร่วมโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล ในปี 2567 นับเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายในลำดับที่ 91
การขยายผลการดำเนินงานโครงการฯ ประสบความสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องภายใต้ MOU ดังนี้ กระทรวงกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลเครือข่ายในสังกัด รวมทั้งงบประมาณในสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่วนกลางร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องในการจัดอบรมพัฒนาความรู้ให้แก่ครูและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยมอบให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นผู้บริหารจัดการ กระทรวงศึกษาธิการ โดย ศูนย์การศึกษาพิเศษ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. ส่งบุคลากรครูมาประจำที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลตามพระราชดำริฯ เพื่อช่วยจัดการเรียนการสอนให้เด็กที่มารักษาตัวในโรงพยาบาลและการประสานงานกับโรงเรียนต้นสังกัดของเด็ก รวมทั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กศน.เดิม) สนับสนุนครูมาช่วยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่เด็กและผู้ปกครอง ส่วนมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และ สวทช. สนับสนุนความรู้และให้คำปรึกษาด้านการใช้สื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการเรียนการสอนเด็กป่วยให้แก่ครูในโครงการ รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลในการจัดเก็บข้อมูลการให้บริการของศูนย์การเรียนฯ ในโรงพยาบาลเครือข่าย
สำหรับโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ นับเป็นโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร นำร่องแห่งแรกที่เปิดศูนย์เทคโนโลยีเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการรักษา และพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กที่เจ็บป่วยเรื้อรัง รวมถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โดยมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบเพื่อให้มีการพัฒนาการดูแลรักษาเด็กภายในโรงพยาบาลอย่างเป็นองค์รวมมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาการบริการทางการศึกษาให้เด็กในเขตกรุงเทพมหานครได้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน
3 พ.ค. 2567
0
แชร์หน้านี้: