หน้าแรก กระทรวง ศธ. และ อว. ผนึกกำลัง 4 พันธมิตรด้านการศึกษา พัฒนาผู้เรียน ผู้สอน เติมทักษะด้าน AI ควบคู่จริยธรรมการนำไปใช้ประโยชน์จาก AI
กระทรวง ศธ. และ อว. ผนึกกำลัง 4 พันธมิตรด้านการศึกษา พัฒนาผู้เรียน ผู้สอน เติมทักษะด้าน AI ควบคู่จริยธรรมการนำไปใช้ประโยชน์จาก AI
4 ก.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

(วันที่ 4 กรกฎาคม 2567) ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.): กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ โครงการขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบัน การศึกษาเพื่อสร้างผู้สอน นักเรียนทุกคน ทุกช่วงชั้น ให้มีความรู้ด้าน AI มีความเข้าใจและตระหนัก เรื่องจริยธรรมของการนำไปใช้ประโยชน์ (ethical considerations) เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล และรองรับตลาดแรงงานสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 โอกาสนี้ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กล่าวแสดงความยินดีและมอบนโยบายที่เกี่ยวข้อง

พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบันการศึกษา เพราะโลกการศึกษาในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นประเด็นความท้าทายด้านการศึกษาของประเทศไทย การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงระบบดิจิทัลเข้ามาใช้พัฒนาผู้เรียน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษาได้ โดยเฉพาะผู้เรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่ครูผู้สอนไม่ครบชั้น ขาดแคลนสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอน โดยทุกวันนี้ AI ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันการทำงานและการศึกษา ดังนั้น นักเรียน นักศึกษาจะต้องได้รับทักษะใหม่ ๆ เช่น ทักษะในการคิด การวิเคราะห์ การตัดสินใจ การสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งกระทรวงศึกษาฯ คาดหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปปรับใช้เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการจัดการศึกษาในโลกอนาคตที่สอดคล้องกับเด็กไทย เราต้องมาร่วมมือกันพัฒนาผู้เรียนทุกช่วงวัยตามนโยบายการทำงาน “การจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ส่งต่อจากระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา สู่ระดับอุดมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพ

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มีบทบาทสำคัญในทุกแง่มุมของชีวิต ทั้งทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต กระทรวง อว. เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการศึกษามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับเด็กไทย ให้นักเรียนทุกคนมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการใช้ AI  เข้าใจถึงประโยชน์และความเสี่ยง รวมไปถึงจริยธรรมในการใช้งาน ซึ่ง “โครงการขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบันการศึกษา” เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของ “อว. for AI” ที่เน้นการพัฒนาทักษะและสร้างบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ให้กับนักเรียนไทยตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบันการศึกษา และขอแสดงความยินดีกับความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทยให้ตอบสนองกับความต้องการของศตวรรษที่ 21 สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) หรือ National AI Strategy สนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนากำลังคน AI ระดับต้น (Beginner) ในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นในการใช้ AI  เพื่อต่อยอดไปสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวหน้าต่อไป

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ความคาดหวังจากความร่วมมือโครงการฯ นอกเหนือจากที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นทักษะที่สำคัญสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่แล้ว การดำเนินโครงการยังมีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนของการเปิดให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา มีการวัดผลการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล (Adaptive Education) ที่สามารถติดตาม วิเคราะห์ และประเมินผลการเรียนรู้แบบเรียลไทม์ นำไปสู่การออกแบบใบรับรองความสามารถ (Micro-Credentials) รวมถึงสะสมเครดิตการเรียนรู้ผ่านระบบธนาคารเครดิต การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย สอดคล้องกับนโยบาย “ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง” ของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นรูปธรรม

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้ง 4 หน่วยงานได้ผนึกกำลังทำงานร่วมกันอย่างเหนียวแน่น โดยในการขับเคลื่อนให้เกิดการสอนเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถานศึกษาทั่วประเทศ หน่วยงานพันธมิตรสำคัญที่ได้ลงนามความร่วมมือกับ สวทช. ประกอบด้วย ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คุณยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และล่าสุด สวทช. เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรไทยให้มีความพร้อมในการใช้และการพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยเริ่มตั้งแต่ระดับพื้นฐานในโรงเรียนไปถึงระดับมหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมกับพันธมิตรในการเตรียมวางแผนการขับเคลื่อนความรู้ความเข้าใจด้านปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในระดับต้นร่วมกัน เพื่อสร้างผู้สอน นักเรียนทุกคน ทุกช่วงชั้น ให้มีความรู้ด้าน AI มีความเข้าใจและตระหนักเรื่องจริยธรรมของการนำไปใช้ประโยชน์ (ethical considerations) เป็นการเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล และรองรับตลาดแรงงานสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 โดยมีกรอบการดำเนินงาน ได้แก่ 1. สร้างหลักสูตร AI ที่มีความเหมาะสมของผู้เรียน และผู้สอน ให้สามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างเหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละช่วงชั้น 2. สร้างครูผู้สอนให้มีความรู้ทางด้าน AI และการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมของการสอนแต่ละช่วงชั้น 3.สร้างมาตรฐานหลักสูตร AI เพื่อนำไปสู่การออกแบบใบรับรองความสามารถ (Micro-Credentials) 4. พัฒนาโครงการนำร่อง ก่อนส่งเสริมให้เกิดการสอนเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 5. แลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ รวมทั้งจัดฝึกอบรม และสัมมนาระหว่างบุคลากรของทั้งสองฝ่าย และดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน

 

แชร์หน้านี้: