หน้าแรก แกะกล่องงานวิจัย : เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชายเลนเพื่อการอนุรักษ์ระยะยาว
แกะกล่องงานวิจัย : เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชายเลนเพื่อการอนุรักษ์ระยะยาว
26 ก.ค. 2567
0
BCG
ข่าว
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

แกะกล่องงานวิจัย : เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชายเลนเพื่อการอนุรักษ์ระยะยาว

📌 1) เกี่ยวกับอะไร ?

วันที่ 26 กรกฎาคมของทุกปี คือ วันสากลของการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลนโลก (International day for the conservation of the mangrove ecosystem) หรือที่นิยมเรียกว่าวันป่าชายเลนโลก เป็นวันที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลน ระบบนิเวศแนวเชื่อมต่อระหว่างทะเลกับแผ่นดินที่เป็นทั้งแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แหล่งอาหาร แหล่งทำมาหากิน แหล่งกักเก็บคาร์บอน และยังเป็นแนวกำแพงช่วยลดความรุนแรงภัยพิบัติทางธรรมชาติ

เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชป่าชายเลน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พัฒนากระบวนการเก็บอนุรักษ์พันธุกรรมพืชป่าชายเลนไทยในสภาพปลอดเชื้อด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยเฟสแรกได้คัดเลือกพันธุ์พืชป่าชายเลนมาศึกษากระบวนการเพาะเลี้ยงแล้ว 16 ชนิด ประกอบด้วยหงอนไก่ใบเล็ก พังกา-ถั่วขาว พังกาหัวสุมดอกแดง ใบพาย โปรงขาว โปรงแดง ลำแพน หลุมพอทะเล โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ตะบูนขาว ตะบูนดำ ถั่วขาว ถั่วดำ ฝาดดอกแดง และลำแพนหิน ซึ่งพืชเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ตามประกาศของ IUCN Red List ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงใกล้สูญพันธุ์

 

📌 2) ดีอย่างไร ?

พืชพรรณที่เติบโตในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อนโดยเฉพาะพืชป่าชายเลนบางชนิดอนุรักษ์ในรูปแบบเมล็ดพันธุ์ไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถมีชีวิตเมื่อผ่านกระบวนการลดความชื้นและจัดเก็บในสภาวะเยือกแข็ง (อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส)

การเก็บรักษาพันธุ์พืชป่าชายเลนด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์พืชกลุ่มนี้ในระยะยาว ซึ่งการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีนี้จะทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่มีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการ ปลอดโรค และยังเพิ่มปริมาณได้รวดเร็วในพื้นที่จำกัดอีกด้วย

 

📌 3) ตอบโจทย์อะไร ?

หากการวิจัยประสบความสำเร็จด้วยดี จะใช้กรรมวิธีนี้ฟื้นคืนจำนวนต้นไม้ในพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อช่วยลดความเสี่ยงสูญพันธุ์ และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้

 

📌 4) สถานะของเทคโนโลยี ?

กำลังพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยง

 

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัย >> ไทยเดินหน้า “เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชายเลน” มุ่งสนับสนุนการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

 


เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์คโดย ภัทรา สัปปินันทน์

แชร์หน้านี้: