หน้าแรก แกะกล่องงานวิจัย : ‘TTRS’ ระบบบริการล่ามภาษามือไทยทางไกล
แกะกล่องงานวิจัย : ‘TTRS’ ระบบบริการล่ามภาษามือไทยทางไกล
23 ก.ย. 2567
0
ข่าว
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

แกะกล่องงานวิจัย : ‘TTRS’ ระบบบริการล่ามภาษามือไทยทางไกล’

 

📌 1) เกี่ยวกับอะไร ?

เนื่องในวันที่ 23 กันยายน เป็นวันภาษามือสากลหรือ International day of sign languages คอลัมน์แกะกล่องงานวิจัยจึงขอนำเสนอระบบบริการถ่ายทอดการสื่อสารสำหรับคนพิการทางการได้ยิน (Thai telecommunication relay service system) หรือระบบบริการ call center ที่มีล่ามภาษามือไทยเป็นผู้ช่วยแปลงสาร หนึ่งในเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารให้แก่คนพิการทางการได้ยินหรือคนหูหนวกเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับคนหูดี

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเปิดเผยข้อมูลว่า ในประเทศไทยมีคนพิการทางการได้ยินมากถึง 416,488 คน ซึ่งมีทั้งคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือในการสื่อสาร คนหูตึงที่ต้องใส่เครื่องช่วยฟัง และผู้สูงอายุที่สูญเสียการได้ยิน โดยคนหูหนวกคือกลุ่มคนที่ประสบปัญหาด้านการสื่อสารมากที่สุดเพราะเป็นกลุ่มที่ต้องใช้ภาษามือในการสื่อสาร และต้องอาศัยล่ามภาษามือเพื่อช่วยสื่อสารกับคนหูดี โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารทางไกลที่การใช้ภาษามือเพื่อการสื่อสารเป็นเรื่องยากลำบาก

อย่างไรก็ตามในประเทศไทยยังคงขาดแคลนล่ามภาษามืออย่างหนัก มีล่ามภาษามือที่จดแจ้งอยู่เพียง 178 คนเท่านั้น โดยแบ่งเป็นล่ามหูดี 170 คน และล่ามหูหนวก 8 คน นอกจากนี้ยังมีล่ามภาษามือกระจายอยู่ในเพียง 41 จังหวัด ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

กลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ พัฒนาระบบบริการล่ามภาษามือไทยทางไกล และให้บริการผ่าน ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ Thai Telecommunication Relay Service (TTRS) เพื่อช่วยให้การสื่อสารระหว่างคนหูหนวกกับคนหูดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยได้เปิดให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมงใน 2 รูปแบบ คือ สนทนาข้อความ โดยใช้แอปพลิเคชัน TTRS Live Chat และสนทนาวิดีโอ โดยใช้แอปพลิเคชัน TTRS Video, TTRS VRI และตู้ TTRS ที่ปัจจุบันมีให้บริการ 180 จุด ในสถานที่ที่มีผู้ใช้บริการมาก เช่น โรงเรียน รถไฟฟ้า โรงพยาบาล

ทั้งนี้ศูนย์ TTRS เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2555 หรือเป็นเวลา 12 ปีแล้ว โดยมีการพัฒนาให้ทันสมัยมาโดยตลอด ปัจจุบันให้บริการไปแล้วมากกว่า 2.7 ล้านครั้ง มีสมาชิกที่ใช้บริการมากกว่า 51,000 คน

 

📌 2) ดีอย่างไร ?

ระบบ Call center ของ TTRS ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนหูหนวกกับคนหูดีสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยหลักการ total conversation หรือรองรับการสนทนาทั้งรูปแบบภาพ เสียง วิดีโอ และข้อความ สามารถใช้บริการได้จากทุกที่ทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการช่วยเพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้ การทำงาน และการใช้ชีวิต ช่วยให้พวกเขาสื่อสารความรู้สึก ความต้องการ และสิ่งที่นึกคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม

 

📌 3) ตอบโจทย์อะไร ?

ศูนย์ TTRS ช่วยเพิ่มความเท่าเทียมด้านการเข้าถึงระบบบริการดิจิทัล (digital inclusion) และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนหูหนวกในประเทศไทย

 

📌 4) สถานะของเทคโนโลยี ?

‘ระบบบริการล่ามภาษามือไทยทางไกล’ ให้บริการแล้วตั้งแต่ปี 2555 โดย ‘ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย’ โดยได้รับทุนสนับสนุนการให้บริการจาก กสทช.

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัย :  สวทช. ร่วมพันธมิตร พัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน ‘คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (Digital inclusion)’

แชร์หน้านี้: