หน้าแรก เอ็มเทค สวทช. พัฒนาฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หนุนผู้ประกอบการขอรับรอง “ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์” ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
เอ็มเทค สวทช. พัฒนาฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หนุนผู้ประกอบการขอรับรอง “ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์” ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
3 ต.ค. 2567
0
ข่าว
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

เอ็มเทค สวทช. พัฒนาฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หนุนผู้ประกอบการขอรับรอง “ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์” ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมมากมายซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก โดยสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณที่มากเกินไป เป็นผลให้เกิดภาวะโลกร้อนซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ทุกภาคส่วนต้องหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังเพื่อบรรเทาผลกระทบและมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือ “การประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์” และ “การคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์” เพื่อขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ (Thai National Life Cycle Inventory Database) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการใช้ทรัพยากรและการปล่อยมวลสารสู่สิ่งแวดล้อมของการผลิตผลิตภัณฑ์หนึ่งหรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ตามแนวทางการประเมินตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment; LCA)

 

เอ็มเทค สวทช. พัฒนาฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หนุนผู้ประกอบการขอรับรอง “ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์” ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

 

ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) เอ็มเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า เอ็มเทคได้พัฒนาข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนตามมาตรฐานสากลมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยการพัฒนาฐานข้อมูลต่าง ๆ นั้น ทีมวิจัยได้ดำเนินงานตามแนวคิดตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Thinking; LCT) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์หรือบริการตลอดวัฏจักรชีวิต ตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การผลิต การใช้งาน การกำจัดซาก จนกระทั่งการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ โดยแนวคิดตลอดวัฏจักรชีวิตเป็นแนวคิดที่ใช้กันทั่วโลก ดังนั้นหน่วยงานที่นำฐานข้อมูลไปใช้ประโยชน์จึงมั่นใจได้ว่าฐานข้อมูลมีความถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

เอ็มเทค สวทช. พัฒนาฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หนุนผู้ประกอบการขอรับรอง “ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์” ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) เอ็มเทค สวทช.

 

“ตัวอย่างการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์คือการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์เพื่อขอใช้เครื่องหมายรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์บนผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน โดยจะแสดงข้อมูลเป็นปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ที่เกิดขึ้นตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ กระบวนการผลิต การขนส่ง จนถึงการใช้งานและการกำจัดของเสีย ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

ปัจจุบันในหลายประเทศเริ่มมีการนำคาร์บอนฟุตพรินต์มาใช้กันแล้วอย่างเช่นใน อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี ทั้งยังมีการเรียกร้องให้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยต้องติดเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินต์ด้วย หากประเทศไทยมีการดำเนินโครงการและเก็บข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน จะช่วยให้เรามีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นในการประชุมระดับโลกเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยขณะนี้มีบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์รวม 10,254 รายการ (*ข้อมูลจากเว็บไซต์องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ณ วันที่ 27 ก.ย. 67)

 

เอ็มเทค สวทช. พัฒนาฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หนุนผู้ประกอบการขอรับรอง “ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์” ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำมันของบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีการประเมินวัฏจักร์ชีวิตของผลิตภัณฑ์และได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์

 

บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คือตัวอย่างหนึ่งขององค์กรที่นำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ในการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทบางจากฯ ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. น้ำมันเตา (Fuel Oil) 2. ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas (LPG)) 3. น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (High Speed Diesel) 4. น้ำมันแก๊สโซลีนพื้นฐาน (Gasoline based) 5. น้ำมันก๊าดหรือน้ำมันเครื่องบิน (Illuminating or Industrial Kerosene (IK)) ซึ่งส่งผลดีต่อบริษัทฯ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภคอย่างมาก เนื่องจากเป็นข้อมูลที่บ่งบอกชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น ภาครัฐจึงควรมีมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์อย่างแพร่หลายมากขึ้นในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ดร.นงนุช กล่าว

 

เอ็มเทค สวทช. พัฒนาฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หนุนผู้ประกอบการขอรับรอง “ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์” ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ [ที่มาภาพ : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ]

ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) เอ็มเทค สวทช. มีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มมีแนวคิดด้านการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย ผู้ประกอบการหรือองค์กรที่สนใจขอรับคำปรึกษาด้านการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือการขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ ติดต่อได้ที่ TIIS โทรศัพท์ 0 2564 6500 หรืออีเมล admin-tiis@nstda.or.th

 


เรียบเรียงโดย วีณา ยศวังใจ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ฉัตรทิพย์ สุริยะ ฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่, วัชราภรณ์ สนทนา ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
ภาพประกอบโดย ชัชวาลย์ โบสุวรรณ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวทช.

แชร์หน้านี้: