เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมเปิดการประชุมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคม ครั้งที่ 21 (Science and Technology in Society: STS forum 2024) ภายใต้กรอบแนวคิด “What do we need from S&T?” ซึ่งเป็นเวทีหารือด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น พร้อมร่วมการแสดงปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิด โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมและพัฒนากำลังคนขั้นสูงทางด้าน AI เพื่อรองรับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การพัฒนาการศึกษาด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา การ Upskill และ Reskill ให้ประชาชนสามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมแรงร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2030
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้เข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T Ministers’ Roundtable Meeting) ในประเด็น “Transformative Science, Technology and Innovation Policy to Strengthen Innovation Ecosystems” ติดตามโดย ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) น.ส.ศุภมาส ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการรับมือกับปัญหาท้าทายของโลกยุคปัจจุบัน พร้อมแสดงถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนและการเติบโตที่เหมาะกับบริบทของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ดำเนินการหลายโครงการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ มุ่งเน้นการศึกษาในสาขา STEM การเรียนรู้แบบดิจิทัล และทักษะที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ยานยนต์ไฟฟ้า ชีวเทคโนโลยี และพลังงานทดแทน อีกทั้ง ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรมในระดับชาติ ผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา อุตสาหกรรม และสถาบันวิจัย โดยเฉพาะในภาคการเกษตร การดูแลสุขภาพ และเศรษฐกิจสีเขียวหมุนเวียน รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเร่งรัดการสร้างนวัตกรรมและการแก้ปัญหาผ่านฮับนวัตกรรมและกลุ่มวิจัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้เน้นความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งการใช้เครื่องมือดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันนวัตกรรมและบรรลุ SDGs ภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งนี้ ในช่วงเช้าก่อนการประชุม นางสาวศุภมาส ได้ร่วมรับประทานอาหารเช้ากับรัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ พร้อมผู้แทนของแต่ละประเทศ และผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรทั้งญี่ปุ่น รวมกว่า 30 คน โดยไทยได้แสดงความมุ่นมั่นในการพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ได้เข้าร่วมการประชุม The 13th Global Summit of Research Institute Leaders (RIL 2024) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นเวทีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารหน่วยงานวิจัยทั่วโลกเพื่อหารือร่วมกันในประเด็นความท้าทายและปัญหาร่วมกัน โดยในการประชุมในครั้งนี้ที่ประชุมได้ กำหนดประเด็นการหารือ คือ “การดำเนินการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” โดยแต่ละประเทศได้แสดงตัวอย่างการบริหารจัดการหน่วยงานวิจัยของตัวเองเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการยกตัวอย่าง การใช้พลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนพลังงานสะอาดอื่น ๆ รวมถึงการบริหารจัดการขยะจากการวิจัยเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และนำกลับมาใช้ใหม่ในบางกรณี ที่ประชุมได้เห็นพ้องร่วมกันว่า การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือการหาคำตอบในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญอยู่จึงต้องดำเนินการกันต่อไป แม้ว่าการดำเนินการวิจัยเองจะเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ต้องใช้พลังงานสูงมากสำหรับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ รวมถึงวัสดุทดลองที่ใช้แล้วทิ้งต่าง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เราจะต้องเน้นการวิจัยเพื่อหาคำตอบในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องบริหารจัดการองค์กรวิจัยอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยที่ประชุมได้มีการยกตัวอย่างโจทย์วิจัยในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI เพื่อช่วยการบริหารจัดการระบบโรงงานให้มีประสิทธิภาพสูง การออกแบบวัสดุสำหรับดูดซับคาร์บอน หรือ แบตเตอรี่ยุคใหม่ เป็นต้น ไปจนถึงการวิจัยนิวเคลียร์ฟิวชัน ในส่วนของ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ได้ร่วมเสนอว่า สวทช. เองก็ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น การตรวจวัดและวิเคราะห์การปลดปล่อยคาร์บอนขององค์กรเพื่อลดการปลดปล่อยที่ไม่จำเป็น เน้นการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจังในปัญหาสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้น ดร.ปภล ม่วงสนิท และ ดร.วีระพงษ์ วรประโยชน์ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เข้าร่วมการประชุม Young Leaders Program 2024 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายในการประชุม The 21st Annual Meeting of STS forum เป็นเวทีที่จัดขึ้นเพื่อให้ Young Leaders ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองระหว่างกัน และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel laureates) จากสาขาต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเริ่มต้นการสร้างเครือข่ายกับผู้นำระดับโลก หัวข้อหลักในปีนี้เป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการมีส่วนร่วมพัฒนาโลกด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ การสื่อสารข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้องและตรงไปตรงมาเพื่อหลีกเลี่ยงหรือป้องกันผลกระทบจากการเสพข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่มีอคติในสื่อสังคมออนไลน์ การให้ความสำคัญกับการวิจัยขั้นพื้นฐาน (Basic research) เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสาธารณะอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ (physics) เคมี (chemistry) และสรีวิทยาหรือการแพทย์ (physiology or medicine) ร่วมแบ่งปันประสบการณ์รวม 8 ท่าน และมีนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความโดดเด่น (Young leaders) ทั้งจากภาคการศึกษา ภาครัฐ และเอกชนจากนานาประเทศเข้าร่วมการประชุมกว่า 140 คน