หน้าแรก ศุภมาส รมว.อว. นำผู้บริหารและคณาจารย์เยือนและเจรจากระชับความร่วมมือโครงการ TAIST-Science Tokyo ณ ประเทศญี่ปุ่น
ศุภมาส รมว.อว. นำผู้บริหารและคณาจารย์เยือนและเจรจากระชับความร่วมมือโครงการ TAIST-Science Tokyo ณ ประเทศญี่ปุ่น
13 ต.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. นำผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณาจารย์มหาวิทยาลัยไทยในโครงการ TAIST-Tokyo Tech ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางเยือน Institute of Science Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดย ศาสตราจารย์ ดร.นาโอโตะ โอทาเกะ อธิการบดีและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ศาสตราจารย์ นพ.ยูจิโระ ทานากะ อธิการบดีและประธานเจ้าหน้าที่วิชาการ Institute of Science Tokyo นำคณะผู้บริหารสถาบันให้การต้อนรับและเจรจาหารือแนวทางการผลักดันความร่วมมือด้านวิชาการและการวิจัยร่วมกัน

ในการนี้ คณะผู้แทนจากประเทศไทยได้ร่วมแสดงความยินดีกับฝ่ายญี่ปุ่นเนื่องในโอกาสการควบรวมระหว่าง Tokyo Institute of Technology (Tokyo Tech) และ Tokyo Medical and Dental University (TMDU) และเปลี่ยนชื่อสถาบันเป็น Institute of Science Tokyo ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ทำให้สถาบันมีความเข้มแข็งและความหลากหลายทางวิชาการมากขึ้น โดยโครงการความร่วมมือ TAIST-Tokyo Tech ระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่มีความร่วมมือกันมาอย่างยาวนานก็จะเปลี่ยนชื่อเป็น TAIST-Science Tokyo ด้วย การเจรจาความร่วมมือได้ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่ ทิศทางการผลิตบัณฑิตในช่วงต่อไปของโครงการซึ่งกระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการผลิตกำลังคนที่มีทักษะสูงด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้านเซมิคอนดักเตอร์  และด้าน AI เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ที่ประชุมได้มีการสร้างความเข้าใจร่วมกันในรูปแบบการดำเนินโครงการซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีเพียง Tokyo Tech (เปลี่ยนชื่อเป็น Institute of Science Tokyo) สวทช. และเครือข่ายมหาวิทยาลัย 6 แห่ง โดยมี วช. เข้ามาร่วมเป็นผู้ให้ทุนในการดำเนินโครงการและมีแผนจะขยายเครือข่ายมหาวิทยาลัยของไทยเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นหากทาง Institute of Science Tokyo สามารถรองรับได้ และจะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการยกระดับความร่วมมือในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยไทยขึ้นเป็นหลักสูตรปริญญาควบคู่ (double degree) หรือระดับปริญญาเอกร่วมกับ Institute of Science Tokyo ในอนาคต นอกจากนั้นยังมีการหารือแผนการพัฒนาหลักสูตรใหม่ด้าน Biomedical Engineering ในโครงการ TAIST-Science Tokyo อีกด้วย

ภายหลังการหารือ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะผู้แทนจากประเทศไทย ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยใน Institute of Science Tokyo ได้เข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะ รวมถึงให้โอวาทโดยมีใจความสำคัญ ดังนี้

“การที่นักศึกษาทุกคนได้มาศึกษา ณ ที่แห่งนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศชาติ พวกคุณคือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคตที่สดใส การมาศึกษาต่อในต่างประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่การได้เรียนรู้ในห้องเรียน แต่ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ ได้มีโอกาสพบเจอผู้คนและวัฒนธรรมที่หลากหลาย และที่สำคัญที่สุดคือการได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งและมีความรับผิดชอบ และเชื่อมั่นว่าประสบการณ์ที่นักศึกษาจะได้รับจาก Tokyo Tech จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาตนเองและนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต”

จากนั้นช่วงบ่าย คณะผู้แทนจากประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยของ Institute of Science Tokyo อาทิ ห้องปฏิบัติการวิจัยทางด้านการจำลองหุ่นยนต์ผ่าตัด ห้องปฏิบัติการวิจัยทางด้านพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ห้องปฏิบัติการวิจัยการออกแบบหุ่นยนต์ และห้องปฏิบัติการวิจัยทางด้านพลังงานทดแทน โดยนำไปสู่การสร้างความร่วมมือทางด้านงานวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

โครงการ TAIST-Tokyo Tech (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น TAIST-Science Tokyo) เป็นโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยร่วม ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สวทช. และสถาบันการศึกษาไทยในโครงการ ร่วมกับ Institute of Science Tokyo เพื่อผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโทที่มีศักยภาพสูงในการวิจัย ในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกันมาเป็นเวลา 17 ปี ขยายผลจนมีการผลิตบัณฑิตแล้วมากกว่า 600 คน โดยได้รับการสนับสนุนจาก วช. มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่น

 

 

แชร์หน้านี้: