หน้าแรก การประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ
การประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ
14 พ.ย. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
WATER

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 09.00 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ประจำปี 2567 “44 ปี พระเมตตา พัฒนาการศึกษา รักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญา รากฐานความมั่นคงของชาติ” ณ หอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และนางเยาวลักษณ์ คนคล่อง ผู้อำนวยการฝ่าย สำนักงานประสานงานโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จและถวายรายงาน

โครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับหน่วยงานสถานศึกษาในโครงการตามพระราชดำริฯ จัดการประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2567 “44 ปี พระเมตตา พัฒนาการศึกษา รักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญา รากฐานความมั่นคงของชาติ” ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ หอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 10 มีกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาและการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ แก่สาธารณชน รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อพัฒนาแนวคิดและร่วมกันดำเนินงานให้บรรลุผลตามเป้าหมาย

การประชุมวิชาการประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การนำเสนอผลงานวิชาการแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาเด็กและเยาวชน นิทรรศการแสดงผลงานวิชาการ การประกวดแข่งขันทักษะวิชาการของนักเรียน ประกอบด้วย การวาดภาพระบายสี การคัดลายมือ การเขียนเรียงความภาษาไทย การเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ และการนำเสนอผลงานของนักเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญา นอกจากนี้ยังมีการประกวดผลงานแนวปฏิบัติที่ดีรายด้านของครู 9 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเกษตรกรรม 2) ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม 3) ด้านการแพทย์แผนไทย 4) ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน 5) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6) ด้านศิลปกรรม 7) ด้านภาษาและวรรณกรรม 8) ด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี และ 9) ด้านโภชนาการ

แชร์หน้านี้: