(14 พฤศจิกายน 2567) ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม: น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานการขับเคลื่อนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (อว. for AI) ครั้งที่ 1/2567
คณะทำงานดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การดำเนินงานนโยบายของกระทรวง อว. ในการเป็นกระทรวงหลักด้านการสนับสนุนพัฒนาศักยภาพบุคลากรและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย และสนับสนุนโยบายแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2570) โดยมีอำนาจหน้าที่ตามภายใต้บทบาทของกระทรวง อว. ในการจัดทำนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน AI โดยมีคณะทำงานฯ เข้าร่วมประชุม นำโดยรองศาสตราจารย์วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการ พร้อมด้วยผู้บริหาร สวทช. นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะกรรมการคณะทำงานฯ และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ในฐานะกรรมการคณะทำงานฯ และผู้ช่วยเลขานุการร่วม เข้าร่วมประชุม
การประชุมได้มีการรายงานแผนและความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย อว.for AI ได้แก่
(1) AI for Education เพิ่มจำนวนคนในทักษะ AI ที่จำเป็นในเวลาอันสั้น โดยมีแผนการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตที่นำ AI ซึ่งเชี่ยวชาญภาษาไทยทั้ง พูด การอ่าน เขียน มาช่วยเป็นครู ติวเตอร์ สนทนา ถามตอบ กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะหัวข้อที่ควรศึกษา ช่วยสรุปเนื้อหาสำคัญ ตอบโจทย์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละบุคคลได้
(2) AI Workforce Development พัฒนากำลังคนด้าน AI ตั้งแต่พื้นฐานถึงผู้เชี่ยวชาญ มาตรการและกลไก อววน. (1) การพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยี Digital และ AI อย่างต่อเนื่องในรูปแบบ Sandbox, (2) National Credit Bank ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อรองรับการพัฒนาคนทุกช่วงวัย (3) การพัฒนา STEMPlus: กลไกและแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและทักษะ AI ผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีสนับสนุนการจ้างงานบุคลากรด้าน STEM และการส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรม และ (4) โปรแกรมพัฒนากำลังคน AI ภายใต้แผน ววน. เพื่อพัฒนากำลังคนทักษะสูงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
(3) AI Innovation พัฒนานวัตกรรมAI ตอบโจทย์ประเทศ สนับสนุนการนำนวัตกรรม AI มาใช้ให้เกิดการใช้งานจริง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ผ่านกลไกสนับสนุนนวัตกรรมจากหน่วยงานภายใต้ กระทรวง อว. ปัจจุบันมีโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI ในกองทุน R&D ปี พ.ศ. 2566 – 2567 มากกว่า 2,300 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นในบริบทอุตสาหกรรมอัจฉริยะ สุขภาพและการแพทย์ บริการดิจิทัล และเมืองอัจฉริยะ