หน้าแรก ศาลยุติธรรม ร่วมมือ สวทช. นำ AI สนับสนุนภารกิจศาลฯ ลดระยะเวลาการพิจารณาคดี
ศาลยุติธรรม ร่วมมือ สวทช. นำ AI สนับสนุนภารกิจศาลฯ ลดระยะเวลาการพิจารณาคดี
25 ธ.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

วันที่ 24 ธันวาคม 2567 สำนักงานศาลยุติธรรม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนภารกิจศาลยุติธรรม โดยมีนายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานการลงนามความร่วมมือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับการสนับสนุนภารกิจของศาลยุติธรรมในการเสริมสร้างประสิทธิภาพการพิจารณาคดีและการบริหารงานยุติธรรมให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ T: เปลี่ยนผ่านสู่อนาคต (Transformation) โดยมี ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช. และนายภพ เอครพานิช รองเลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม ณ อาคารสำนักงานศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

นายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ และแผนยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2565 – 2568 ยุทธศาสตร์ T เปลี่ยนผ่านสู่อนาคต (Transformation) ซึ่งมีเป้าหมายในการเสริมสร้างการอำนวยความยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้วยระบบดิจิทัล ผ่านการพัฒนาระบบการใช้เทคโนโลยีที่อาศัยปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดี และบริการจัดการ การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ยังรวมถึงการร่วมกันสนับสนุนและจัดหาคลังข้อมูลเกี่ยวกับศาลยุติธรรมสำหรับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่มีบทบาทในการเสริมประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมสนับสนุนภารกิจและงานต่าง ๆ ของศาลยุติธรรม เพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลา การเชื่องโยงข้อมูล การสืบค้นข้อมูลคำสั่ง และคำพิพากษาของศาล ควบคู่ไปกับระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการให้บริการประชาชน

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวว่า เนคเทค สวทช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรมในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ด้วยความเชี่ยวชาญด้าน AI ที่สั่งสมมามากกว่า 20 ปี เนคเทคได้พัฒนาระบบ AI ต่าง ๆ ทั้งการประมวลผลข้อความ/ เสียงพูด, งานด้าน Image Processing, การพัฒนา Chat bot, งานด้านประมวลผลภาษา เช่น NLP, Machine Translation, Word Segmentation, การพัฒนาแพลตฟอร์ม AI for Thai ให้บริการ AI APIs ต่อยอดไปสู่การพัฒนาบริการ/ นวัตกรรม AI มาถึงในปัจจุบันกับการพัฒนา “Pathumma LLM” Generative AI สัญชาติไทยที่สามารถประมวลข้อมูลภาษาไทยได้หลากหลาย ทั้งรูปภาพ เสียง ข้อความ เหล่านี้ก็เป็นตัวอย่างงานวิจัยพัฒนาด้าน AI ที่ทีมวิจัย สั่งสม เพิ่มเติมกันมาอย่างต่อเนื่อง
เนคเทค สวทช. ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะเลขานุการร่วม ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (พ.ศ. 2565–2570) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในมิติต่าง ๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับศาลยุติธรรมในครั้งนี้ เนคเทค สวทช. จะได้นำองค์ความรู้ และงานวิจัยทางด้าน AI มาใช้ในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ให้สามารถตอบสนองความต้องการสนับสนุนภารกิจหลักของศาลยุติธรรม ได้แก่ ระบบช่วยร่างคำฟ้อง, ระบบค้นหาและเข้าถึงข้อมูลในวิดีโอ, ระบบถาม – ตอบข้อมูลของศาล, ระบบถอดความการพิจารณาคดี onsite และ online, ระบบแนะนำกระบวนการดำเนินการในศาล, ระบบสืบค้นข้อมูลทางวิชาการผ่านระบบ RAG (Retrieval Augmented Generation) ระบบเปลี่ยนแปลงข้อมูลภาพให้เป็นตัวอักษร (Optical Character Recognition : OCR) และระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อื่น ๆ สำหรับสนับสนุนภารกิจงานของศาลยุติธรรม
นอกจากนี้ เนคเทค สวทช. ยังวางแผนร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรมในการสนับสนุนและจัดการคลังข้อมูลเกี่ยวกับศาลยุติธรรม เพื่อพัฒนา AI ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มความรวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน รวมถึงความร่วมมือครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคลากรจากทั้งสองหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลวิชาการและประสบการณ์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบงานและเสริมสร้างศักยภาพก่อให้เกิดประโยชน์ของแต่ละหน่วยงานต่อไป

แชร์หน้านี้: