หน้าแรก IDA Platform ระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยก้าวกระโดดสู่อุตสาหกรรม 4.0

IDA Platform ระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยก้าวกระโดดสู่อุตสาหกรรม 4.0

29 เม.ย. 2568
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

IDA Platform ระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยก้าวกระโดดสู่อุตสาหกรรม 4.0

 

อุตสาหกรรม 4.0 คือ อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่นำระบบไซเบอร์-กายภาพ (Cyber-Physical System: CPS) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้เซนเซอร์หรือซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ในการตรวจจับ วิเคราะห์ และควบคุมการทำงานของเครื่องจักร แรงงาน รวมถึงกิจกรรมการผลิตแบบเรียลไทม์มาใช้เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ปรับปรุง และปรับเปลี่ยนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในภาพรวมประเทศไทย ณ ปี 2568 อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับ 2-3 หรือเริ่มมีการใช้งานเครื่องจักรอัตโนมัติบ้าง แต่มีเพียงส่วนน้อยที่ก้าวกระโดดสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้สำเร็จ สาเหตุสำคัญมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีและขาดเงินลงทุน

 

รูปเจ้าหน้าที่โรงงานใช้ tablet ตรวจสอบ dashboard ของสายการผลิต

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา IDA Platform (Industrial IoT and Data Analytics Platform) เพื่อเป็นระบบนิเวศสำหรับผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการเชื่อมต่อกับแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ในการดำเนินงานได้รับการสนับสนุนจากเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

 

IDA Platform พร้อมสนับสนุน 5 เทคโนโลยีปิดช่องโหว่อุตสาหกรรม

 

รูป ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช.
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช.

 

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. อธิบายว่าปัจจุบันภายใต้ IDA Platform มีเทคโนโลยีหลักที่พร้อมให้บริการแล้ว 5 เทคโนโลยี เทคโนโลยีแรก คือ Smart OEE (Overall Equipment Effectiveness) ระบบวัดประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักรแบบอัตโนมัติและเรียลไทม์ เทคโนโลยีที่สอง คือ EES (Energy & Efficiency System) ระบบวิเคราะห์ปริมาณการใช้พลังงานและประสิทธิภาพของเครื่องจักรแบบอัตโนมัติและเรียลไทม์ เทคโนโลยีที่สาม คือ Acamp (Automated carbon accounting management platform) แพลตฟอร์มคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรแบบอัตโนมัติและติดตามผลแบบเรียลไทม์ เทคโนโลยีที่สี่ คือ NomadML (โนแมดเอ็มแอล) ระบบ visual inspection หรือตรวจสอบคุณภาพชิ้นงานจากภาพถ่ายด้วย AI และเทคโนโลยีที่ห้า คือ Daysie – AIoT for Edge Computing Platform แพลตฟอร์มสำหรับสร้างแอปพลิเคชัน AIoT (Artificial Intelligence of Things) สำหรับติดตั้งบนเอดจ์คอมพิวติง (edge computing)

 

รูปอินโฟกราฟิกให้ข้อมูลเกี่ยวกับ IDA Platform โดยข้อมูลทั้งหมดมีอธิบายในเนื้อหาบทความ

เทคโนโลยีทั้ง 5 นี้ผ่านการวิจัยและพัฒนาให้ผู้ประกอบการนำไปใช้งานร่วมกับเครื่องจักรที่มีอยู่ได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องจักรใหม่ พร้อมปรับเปลี่ยนจากอุตสาหกรรม 2.0 หรือ 3.0 สู่ระดับ 4.0 ได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้ยังมีแผนจะเพิ่มเทคโนโลยีอื่นเข้ามาในแพลตฟอร์ม เช่น เทคโนโลยีความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) และเทคโนโลยี Generative AI เพื่อสืบค้นและสอบถามข้อมูลเฉพาะขององค์กร เช่น แนวทางซ่อมบำรุงเครื่องจักร, ข้อแนะนำการปฏิบัติงานของบุคลากรแต่ละหน้าที่

ดร.พนิตา อธิบายว่า เทคโนโลยีข้างต้นพัฒนาขึ้นจากการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการว่าโรงงานต้องเผชิญปัญหาการผลิตอย่างไรบ้าง โดยเทคโนโลยีทั้ง 5 ภายใต้ร่ม IDA Platform ณ ปัจจุบัน มีศักยภาพในการช่วยวัดประสิทธิภาพการทำงานของสายการผลิต และสะท้อนถึงปัญหาหรือช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรทั้งพลังงาน เครื่องจักร วัตถุดิบ และเวลาเกินความจำเป็น ซึ่งหากผู้ประกอบการทราบปัญหาได้รวดเร็วและตรงจุด จะทำให้เกิดการแก้ไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตได้ทันท่วงที นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าทั้งภายในประเทศและกับประเทศคู่ค้า

“ตัวอย่างการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ เช่น บริษัทอาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมหวาน ได้ใช้เทคโนโลยีภายใต้ IDA Platform ตรวจวัดการใช้พลังงานของระบบทำความเย็นและห้องเย็นของโรงงาน ผลจากการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ทำให้พบจุดที่ใช้พลังงานสูง นำไปสู่การวิจัยระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อลดการใช้พลังงาน นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้ายังนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเวลาเปิดใช้งานเครื่องจักรแต่ละเครื่องให้เป็นแบบไม่ต้องเริ่มทำงานพร้อมกันได้ (หากไม่มีความจำเป็น) เพื่อลดอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงในช่วงเวลาเดียวกัน (peak load) ซึ่งอาจทำให้พลังงานไฟฟ้าไม่เสถียรและทำให้ค่าไฟมีราคาสูง ผลจากการปรับเปลี่ยนทั้งหมดนี้ช่วยให้บริษัทประหยัดค่าไฟได้มากหลักแสนบาทต่อปี”

 

รูปทีมงานบริษัทอาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) และเนคเทค สวทช.
ทีมงานบริษัทอาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) และเนคเทค สวทช.
รูปการปฏิบัติงานที่บริษัทอาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน)
การปฏิบัติงานที่บริษัทอาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน)

รูปภาพที่แสดงถึงอัตราการปล่อยคาร์บอนที่ลดลงในแต่ละปี

 

IDA Platform ระบบนิเวศสนับสนุนก้าวกระโดดสู่อุตสาหกรรม 4.0

ดร.พนิตา อธิบายว่า IDA Platform โดย SMC สวทช. เป็นมากกว่าแพลตฟอร์มให้บริการเทคโนโลยี เพราะยังเป็นแซนด์บอกซ์ (sandbox) ให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมก่อนปรับใช้จริงในโรงงานด้วย ทั้งนี้ SMC ได้ช่วยวางแผนขั้นตอนการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ไว้ให้ผู้ประกอบการเป็น 3 ขั้นหลัก ขั้นแรกคือการประเมินสถานะระดับอุตสาหกรรมของโรงงานด้วยระบบ Thailand i4.0 Index ที่ สวทช. พัฒนาไว้เพื่อให้บริการการประเมินทั้งโดยผู้เชี่ยวชาญและการประเมินด้วยตัวเอง ซึ่งผลการประเมินจะชี้ให้เห็นระดับของอุตสาหกรรมทุกมิติที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนองค์กร และมิติที่ควรเร่งปรับปรุงก่อนเพื่อลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิผล ผู้ที่สนใจติดต่อขอรับการประเมินรวมถึงประเมินออนไลน์ด้วยตัวเองได้ที่ https://www.nstda.or.th/i4platform/i4-maturity/

 

รูปบรรยากาศงาน IDA Members’ Day

รูปบรรยากาศงาน IDA Members’ Day

รูปบรรยากาศงาน IDA Members’ Day

รูปบรรยากาศงาน IDA Members’ Day

 

“ขั้นที่สองคือขั้นเตรียมความพร้อม โดย SMC ได้เปิด SMC Academy เพื่อให้บริการอบรมทักษะที่จำเป็นแก่ผู้ประกอบการ วิศวกรโรงงาน และ SI (System Integrator) โดยมีพื้นที่สำหรับทดสอบ (testbed) ไว้ให้สมาชิกได้ทดลองใช้งานเทคโนโลยีและทำ PoC (Proof of Concept) เพื่อทดสอบแผนปรับปรุงโรงงานก่อนใช้งานจริง ซึ่ง SMC มีบริการที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือด้านวิเคราะห์และวางแผนปรับปรุงโรงงานด้วย ขั้นสุดท้ายคือการลงมือปฏิบัติจริง SMC พร้อมให้บริการทั้งเทคโนโลยีราคาจับต้องได้ และการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่ละโรงงาน นอกจากนี้ SMC ยังพร้อมช่วยเหลือด้านการจับคู่กับ SI ที่เหมาะสม และแนะนำแหล่งเงินทุนหรือโครงการสนับสนุนการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยภายใต้ IDA Platform มีกิจกรรมสนับสนุนการลงทุนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีพร้อมสนับสนุนเงินลงทุนโรงงานละ 100,000 บาทมาตั้งแต่ปี 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน มีความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าทั้งในระดับภายในประเทศและระดับสากล

สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยี และสมัครเข้าร่วม IDA Platform ได้ที่ www.nectec.or.th/smc/ida-platform/

 

รูปบรรยากาศการลงพื้นที่สนับสนุน บริษัท ดับบลิวเจเทคโนโลยี จำกัด

รูปบรรยากาศการลงพื้นที่สนับสนุน บริษัท ดับบลิวเจเทคโนโลยี จำกัด

รูปบรรยากาศการลงพื้นที่สนับสนุน ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช

รูปบรรยากาศการลงพื้นที่สนับสนุน ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช

รูปภาพที่สื่อถึงการบรรลุเป้าหมายในการทำงาน


เรียบเรียงโดย : ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย : ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย : SMC เนคเทค สวทช. และภาพจาก Adobe Stock

แชร์หน้านี้: