5 มุมมองขับเคลื่อน Medical AI: ใช้พลังข้อมูลเสริม AI สู่นวัตกรรมการแพทย์เพื่อคนไทย
สรุปสาระจากเสวนา Medical AI ก้าวสำคัญสู่การพัฒนาการแพทย์แห่งอนาคต
วงการสาธารณสุขไทยกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างเต็มรูปแบบ สะท้อนจากงานเปิดตัว “แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform)” ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เดินหน้าขับเคลื่อนการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในภาคสาธารณสุข โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวถึงนโยบาย อว. for AI และเป็นสักขีพยานในการประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรทางการแพทย์ Medical AI Consortium เปิดตัว “แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform)” ที่มุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศข้อมูลที่เข้มแข็ง รองรับการพัฒนานวัตกรรม AI ทางการแพทย์เพื่อคนไทย
ภายในงาน ยังมีเสวนา “Medical AI ก้าวสำคัญสู่การพัฒนาการแพทย์แห่งอนาคต” ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้นำจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เพื่อฉายภาพวิสัยทัศน์ ความท้าทาย ซึ่งมี 5 มุมมองสำคัญที่จะขับเคลื่อน Medical AI ของไทยไว้อย่างน่าสนใจ
1.พลังข้อมูล หัวใจขับเคลื่อน AI การแพทย์ไทย
ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ฉายภาพความสำคัญของ AI ในทางการแพทย์ โดยชี้ให้เห็นว่า AI มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนคือ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และ Big Data แม้ไทยอาจยังตามหลังด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ แต่ไทยเป็นเจ้าของข้อมูล “ศักยภาพของ Big Data จะเป็นของประเทศไทยได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถจัดระเบียบข้อมูลของเราได้ดีเพียงใด ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง” ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร กล่าว ตัวอย่างความสำเร็จที่ชัดเจน คือ AI อ่านผลภาพเอกซเรย์ทรวงอก หรือ Inspectra CXR ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลพัฒนาร่วมกับสตาร์ทอัปไทยอย่าง Perceptra ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย. ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลใช้งานแล้วกว่า 90 แห่ง
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ยังกล่าวถึง การใช้เทคนิค Retrieval-Augmented Generation (RAG) เพื่อให้ AI เรียนรู้และตอบคำถามจากชุดข้อมูลเฉพาะของประเทศไทย เพื่อให้ AI สามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลที่อยู่ในบริบทของประเทศไทยได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะการรวมข้อมูลจาก 3 กองทุนสุขภาพหลักของไทย ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ Health Link แอปพลิเคชันหมอพร้อม และข้อมูลจีโนมิกส์จากโครงการ Genomics Thailand จะเป็นฐานข้อมูลอันทรงพลังสำหรับ AI การแพทย์ของไทย
2. AI ช่วยแพทย์คัดกรอง เพิ่มประสิทธิภาพ ลดเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการรักษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอมุมมองของผู้ใช้งาน AI ด้านการแพทย์ โดยเน้นย้ำบทบาทของกรมการแพทย์ในการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงและเท่าเทียมกัน โดยกล่าวว่า “สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษา ถือเป็นภารกิจหลักของกรมการแพทย์” และยกตัวอย่างความสำเร็จของการใช้ AI คัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ซึ่งริเริ่มโดยโรงพยาบาลราชวิถีร่วมกับ Google AI ตั้งแต่ปี 2018 โดยไทยพบผู้ป่วยเบาหวานกว่า 6 ล้านคน โดยร้อยละ 15-20% เสี่ยงเกิดภาวะดังกล่าว ในขณะที่ประเทศไทยมีจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านจอประสาทตาประมาณ 250 คน และส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในกรุงเทพฯ สวนทางกับการกระจายตัวของผู้ป่วยทั่วประเทศ โดย AI มีความไว (Sensitivity) ในการตรวจคัดกรองสูงถึง 97 เทียบกับ 74 ของการคัดกรองโดยแพทย์ และมีความแม่นยำ (Specificity) สูงถึงร้อยละ 96 ดังนั้นการใช้ AI ช่วยคัดกรองภาวะดังกล่าว ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนและกระจายตัวที่ไม่สมดุลของจักษุแพทย์ได้
3.แรงหนุนจากนโยบายและทุน: ขับเคลื่อน Medical AI สู่ S-Curve ใหม่
ความสำเร็จของ Medical AI ประเทศไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดระบบนิเวศที่สนับสนุน โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งบริหารกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ได้ให้มุมมองเชิงนโยบายว่า Medical AI สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งการแพทย์เป็น 1 ใน 4 สาขาหลัก และมีศักยภาพสูงที่จะเป็น S-Curve ใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยท่ามกลางตลาด AI โลกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเน้นย้ำถึงความได้เปรียบของไทยในด้านข้อมูลทางคลินิก (Clinical Data) และข้อมูลจีโนมิกส์ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานอย่าง LANTA Supercomputer ของ สวทช. และบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือ “หากเราสามารถรวมพลังและใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันของประเทศได้ จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” ศาสตราจารย์ สมปอง กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง ได้อธิบายบทบาทของ กองทุน ววน. โดยเปรียบเปรยว่าเป็นเสมือน “กองทุนที่ 4” จากแตกต่าง จาก 3 กองทุนสุขภาพหลักซึ่งเน้นการเป็นแหล่งข้อมูล แต่ กองทุน ววน.จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากำลังคน และการสร้างแนวทางประยุกต์ใช้ใหม่ ๆ เพื่อเติมเต็มและสร้างความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ Medical AI ของประเทศ นอกจากนี้ ยังมุ่งสนับสนุนเป้าหมายรูปธรรม เช่น การผลิตเครื่องมือแพทย์และบริการทางการแพทย์เพื่อทดแทนการนำเข้า และมีการหารือกับ สปสช. เพื่อผลักดันให้การวินิจฉัยและรักษาโรคด้วย AI เบื้องต้นราว 10 กลุ่มโรคให้สามารถเบิกจ่ายได้ในอนาคต
4.บพค. กับการสร้าง Ecosystem AI การแพทย์
ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กล่าวถึงการสนับสนุนของ บพค. ที่มีต่อโครงการ Medical AI Consortium มาแล้วกว่า 90 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์ม บุคลากร ต้นแบบ AI Model และกรอบธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นว่าแพลตฟอร์มนี้มีความปลอดภัย โดยวิสัยทัศน์ของ บพค. สนับสนุน 4 ภารกิจหลักตามที่ได้รับมอบหมายจากการปฏิรูประบบ ววน. คือ การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง, การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน., งานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) และการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาและการวิจัย โดย มองว่าการพัฒนาเทคโนโลยี AI ต้องมองไปข้างหน้าและจำเป็นต้องมีการคาดการณ์อนาคตเพื่อเตรียมความพร้อม แม้ AI จะพัฒนาไปเร็วเพียงใด แต่ก็ยังต้องการมนุษย์ในการตรวจสอบ (Validate) และตัดสินใจขั้นสุดท้าย ดร.ณิรวัฒน์ เปรียบการขับเคลื่อน Medical AI เหมือนการปีนเขาเอเวอเรสต์ที่ต้องมีหมุดหมาย (Milestone) เล็ก ๆ ระหว่างทาง โดยเน้นความสำคัญของการสร้างความร่วมมือให้กว้างขวางขึ้น การสร้างมาตรฐานข้อมูล และการพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการนำ AI ไปใช้ประโยชน์จริง
5.รากฐานทางเทคโนโลยี: เน้นสร้างเครื่องมือให้ “คนไทย” ประยุกต์ใช้ AI ได้จริง
ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาชั้นนำของประเทศ สวทช. ตระหนักถึงความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำ AI มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ได้ให้มุมมองว่า AI จะฉลาดและมีประสิทธิภาพได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับตรรกะและ วิธีการสอน ให้ AI เรียนรู้และมองเห็นสิ่งที่สำคัญในข้อมูลนั้น เฉกเช่นเดียวกับที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญใช้ประสบการณ์ในการวินิจฉัยโรค
ภายใต้วิสัยทัศน์นี้ สวทช. โดย เนคเทค จึงได้จับมือกับพันธมิตรสำคัญ ทั้งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย Medical AI Consortium ริเริ่มและพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ขึ้น ปัจจุบันรวมภาพถ่ายทางการแพทย์แล้วกว่า 2.2 ล้านภาพ ครอบคลุม 8 กลุ่มโรคสำคัญ เช่น โรคทรวงอก มะเร็งเต้านม โรคตา โรคช่องท้อง โรคผิวหนัง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคกระดูกพรุน เป็นต้น
หัวใจสำคัญที่ สวทช. มุ่งมั่นพัฒนา ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างคลังข้อมูล แต่คือการสร้างเครื่องมือที่จะปลดล็อกให้นักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ไทยสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ทางการแพทย์ได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีราคาสูงจากต่างประเทศ สวทช. โดย เนคเทค ได้พัฒนาเครื่องมือสำคัญ ได้แก่ “RadiiView” ซอฟต์แวร์และคลาวด์แอปพลิเคชันสำหรับกำกับข้อมูล (Annotation) หรือการระบุลักษณะสำคัญบนภาพทางการแพทย์ได้อย่างแม่นยำ เพื่อสร้างชุดข้อมูลคุณภาพสูงสำหรับสอน AI “NomadML” แพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักวิจัยพัฒนาโมเดล AI ได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดโปรแกรมที่ซับซ้อน และสามารถเชื่อมต่อกับ LANTA Supercomputer เพื่อใช้พลังการประมวลผลสมรรถนะสูงของ สวทช. ในการเร่งกระบวนการพัฒนาและฝึกสอนโมเดล AI ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ศ.ดร.ชูกิจ เน้นย้ำว่า ยุทธศาสตร์ของไทยไม่ใช่การแข่งขันพัฒนา AI แต่คือการนำ AI มาประยุกต์ใช้อย่างชาญฉลาดในบริบทที่ไทยมีจุดแข็ง ซึ่งก็คือ ข้อมูลทางการแพทย์ และความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคลากร การมีแพลตฟอร์มกลางที่ทำให้ข้อมูลจากโรงพยาบาลต่าง ๆ มาแชร์และเรียนรู้ร่วมกันจะทำให้ AI ที่พัฒนาขึ้นมีความสามารถสูง
“ศักยภาพของ AI ทางการแพทย์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การวิเคราะห์ภาพถ่ายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพในองค์รวม เพื่อสร้างแบบจำลองดิจิทัลเสมือนของตัวบุคคล (Digital Twin) ที่สามารถให้คำแนะนำด้านสุขภาพเฉพาะบุคคลได้อย่างแม่นยำ ซึ่ง Medical AI Data Platform นี้จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับการพัฒนาต่อยอดในอนาคต” ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวทิ้งท้าย
การเสวนาและการเปิดตัวแพลตฟอร์มครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วนในการผลักดัน Medical AI ของไทย การเกิดขึ้นของ Medical AI Data Platform และความร่วมมือภายใต้ Medical AI Consortium ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทลายกำแพงด้านข้อมูล สร้างมาตรฐาน และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม AI ทางการแพทย์อย่างก้าวกระโดด ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาด้านสาธารณสุขและเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ของประเทศ แม้จะมีความท้าทายรออยู่ แต่ด้วยวิสัยทัศน์ร่วมกัน การสนับสนุนเชิงนโยบายและงบประมาณ รวมถึงความร่วมมือแบบ “ร่วมแชร์ เชื่อม ใช้” เชื่อมั่นได้ว่า Medical AI จะไม่ได้เป็นเพียงทางเลือก แต่คืออนาคตของการแพทย์ไทย ที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน
Medical AI Consortium ยังคงเปิดรับและขอเชิญชวนหน่วยงานทางการแพทย์ สถาบันการศึกษา นักวิจัย และภาคเอกชน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนี้ เพื่อต่อยอดการพัฒนา AI ทางการแพทย์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
สำหรับหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือพันธมิตรของ Medical AI Consortium หรือการใช้งาน Medical AI Data Platform สามารถกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มเพื่อการติดต่อกลับได้ที่ https://www.nstda.or.th/r/Gf8vZ