ITAP สวทช. แถลงผลงานรอบ 5 เดือน เดินหน้าเคียงข้าง SMEs ให้ยั่งยืนเติบโตด้วยวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม
ITAP หรือโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงผลงานในรอบ 5 เดือน (ตุลาคม 2558 – กุมภาพันธ์ 2559) ชี้ ITAP ช่วยเหลือ SME ปลดล็อคข้อจำกัดทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งสร้างเครือข่าย ITAP ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทยถึง 17 แห่งแล้ว ประกาศพร้อมเดินหน้าทำงานสอดคล้องนโยบายรัฐบาลสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวกระโดดต่อไป
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการสร้างความเข้มแข็งของ SME ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ โดยอนุมัติให้ ITAP สนับสนุน SME จำนวนมากขึ้นเป็น 2 เท่า (จาก 400 โครงการในปีก่อนหน้า เป็น 800 โครงการ) ในลักษณะโครงการนำร่องในปี 2559 ภายในระยะเวลา 5 เดือน นับตั้งแต่ตุลาคม 2558 จนถึงกุมภาพันธ์ 2559 ITAP ได้ดำเนินกิจกรรมสำรวจความต้องการและวินิจฉัยให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่ SME ทั่วประเทศจำนวนมากถึง 662 ราย (จากแผนที่กำหนดไว้ 650 ราย) และดำเนินกิจกรรมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกรวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ แก่ SME ทั่วประเทศอีกจำนวนมากถึง 393 ราย (จากแผนที่กำหนดไว้ 380 ราย) แสดงให้เห็นว่าในระยะเวลาครึ่งปีที่ผ่านมา ITAP สามารถช่วยเหลือ SME ในการปลดล็อคข้อจำกัดทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมทั้งก่อให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจำนวนมากกว่า 555.4 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจากภาครัฐร้อยละ 23 และการลงทุนจากภาคเอกชน (SME) ร้อยละ 77 โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศไม่ต่ำกว่า 3,421 ล้านบาท โดยภาคเอกชนได้รับผลประโยชน์ 8.5 เท่าจากเงินลงทุนภายในระยะเวลา 1 ปี แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของ ITAP ในการช่วยเหลือ SME และประเทศไทย นอกจากนั้น ITAP ยังทำงานสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต ตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ต้องต่อยอด ได้แก่ 1) ยานยนต์สมัยใหม่ 2) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) การแปรรูปอาหาร และ 5 อุตสาหกรรมใหม่สำหรับอนาคต ได้แก่ 1) หุ่นยนต์ 2) การบินและโลจิสติกส์ 3) เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4) ดิจิทัล และ 5) การแพทย์ครบวงจร”
“เพื่อให้การสนับสนุน SME ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย ITAP มีเครือข่ายที่เกิดจากความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ตั้งอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 10 แห่งก่อนปี 2559 ได้แก่ 1) สวทช.ภาคเหนือ 2) มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 4) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 5) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 6) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 7) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 8) มหาวิทยาลัยศิลปากร 9) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ 10) สถาบันไทย-เยอรมัน รวมทั้งขยายความร่วมมือเพิ่มเติมอีก 7 แห่งในปี 2559 ได้แก่ 1) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 4) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 5) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 6) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ 7) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย รวมเป็นเครือข่ายความร่วมมือของ ITAP มากถึง 17 แห่ง ซึ่งจะช่วยเป็นกำลังในการสนับสนุน SME ให้ครอบคลุมทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ITAP ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่ให้การสนับสนุน SME (เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME BANK เป็นต้น) เพื่อส่งต่อ SME ตามความต้องการและความสามารถในการสนับสนุนของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อให้ SME ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องและครบวงจรตลอดห่วงโซ่คุณค่า” ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กล่าว