หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ฉ.12 – ก.วิทย์ฯ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แก้ปัญหาการระบาดของยุงลายและไข้เลือดออก
จดหมายข่าว สวทช. ฉ.12 – ก.วิทย์ฯ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แก้ปัญหาการระบาดของยุงลายและไข้เลือดออก
10 มี.ค. 2559
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

alt

alt

.วิทย์ฯ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

แก้ปัญหาการระบาดของยุงลายและไข้เลือดออก

 

alt

 

     กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมนำผลงานวิจัยและพัฒนา เพื่อลดการระบาดของยุงลายและไข้เลือดออก โดยมีผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายชนิดเกล็ดซีโอไลท์ ชุดตรวจไวรัสเดงกี่ วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก จุลินทรีย์กำจัดลูกน้ำ สเปร์นาโนอิมัลชั่นสมุนไพรไล่ยุง มุ้งนาโน หินแก้วรูพรุนไล่ยุง โปรแกรมทันระบาด และการฉายรังสีในการทำหมันยุงลาย

     ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตระหนักถึงความห่วงใยของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อประชาชน ที่ต้องการให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปมีส่วนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะช่วงนี้มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ 

     กระทรวงฯ มีงานวิจัยหลากหลายที่ใช้ในการจัดการยุงและโรคที่เกิดจากยุง เช่น การใช้รังสีทำหมันยุง สารชีวภาพกำจัดลูกน้ำยุง สเปรย์นาโนอิมัลชั่นสมุนไพรไล่ยุง ชุดตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก วัคซีนไข้เลือดออก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายชนิดเกล็ดซีโอไลท์ ที่บริษัท อิคาริ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งพัฒนาร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายชนิดเกล็ดซีโอไลท์นี้ คือ สามารถนำมาใช้แทนทรายอะเบท ซึ่งมีปัญหาที่ทำให้คนไม่อยากใช้ คือ มีกลิ่นเหม็นและน้ำเป็นฝ้า และไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 

     ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สวทช. มีงานวิจัยภายใต้คลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์ เพื่อสร้างองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ที่สามารถแก้ปัญหาและตอบสนองต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำได้อย่างทันท่วงที และจากการระบาดของโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย และโรคจากไวรัสซิกา โดย สวทช. มีผลงานวิจัยเพื่อรับมือกับยุงและโรคจากยุง เช่น ชุดตรวจโปรตีน NS1 ของไวรัสเด็งกี่ที่แยกซีโรทัยป์ได้ทันที ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ชุดตรวจโปรตีน NS1 จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการวินิจฉัยโรค ช่วยให้แพทย์ตัดสินใจได้ทันทีในการรักษาหรือให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้เกิดอาการรุนแรง จนถึงขั้นช็อคและเสียชีวิต เทคโนโลยีนี้เปิดรับผู้ประกอบการที่สนใจขออนุญาตใช้สิทธิหรือร่วมวิจัยพัฒนา ผลิตภัณฑ์

     นอกจากนี้ สวทช.โดยไบโอเทค ยังได้ร่วมกับนักวิจัยจาก จุฬาฯ มหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินงานวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกตั้งแต่ปี 2543 โดยวิจัยทั้งวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ วัคซีนชนิดดีเอ็นเอ และวัคซีนชนิดอนุภาคเสมือนไวรัส ขณะนี้สร้างวัคซีนตัวเลือก ได้ครบทั้ง 4 ซีโรทัยป์แล้ว และผ่านการทดสอบในหนูทดลองแล้ว พบว่าได้ผลดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในลิง ซึ่งจากผลการทดสอบเบื้องต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของวัคซีนที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรมเพื่อทำการทดสอบในอาสาสมัคร ระยะที่ 1 ต่อไปในปี 2560 นี้

     ในระหว่างที่นวัตกรรมด้านวัคซีนและยายังอยู่ในระหว่างดำเนินการ การกำจัดยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ตรงจุดและรวดเร็วที่สุด ในขณะนี้ การควบคุมตัวยุงโดยใช้สารเคมีหรือหมอกควันไล่ยุง อาจกำจัดยุงได้ไม่มากนัก การควบคุมประชากรยุงจึงควรควบคุมที่ระยะลูกน้ำควบคู่กันไป การใช้จุลินทรีย์กำจัดลูกน้ำถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าการใช้สารเคมี เนื่องจากมีความปลอดภัยและต้นทุนต่ำกว่า  

     Bacillus thuringiensis sub.sp. Israelensis (Bti)  Bacillus sphaericus (Bs) เป็นแบคทีเรียที่สร้างสารพิษฆ่าลูกน้ำยุงลาย และยุงรำคาญ และยุงก้นปล่องได้ ไม่เป็นอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ใช้ในการกำจัดลูกน้ำยุงในแหล่งน้ำดื่มและน้ำใช้อย่างปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ไม่มีฤทธิ์ตกค้างเหมือนการใช้สารเคมี สามารถควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงได้นาน 2 เดือน ปัจจุบันสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้จากบริษัท TFI Green Biotechnology ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์จาก สวทช. แล้ว 

     สวทช. โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยี ยังได้พัฒนา “สเปรย์นาโนอิมัลชั่นสมุนไพรไล่ยุง” โดยใช้เทคโนโลยีป้องกันการระเหยของน้ำมันหอมระเหย หรือที่เรียกว่า เทคโนโลยีการกักเก็บ (Encapsulation Technology) โดยใช้องค์ประกอบนาโนกักเก็บน้ำมันหอมระเหยที่มีประสิทธิภาพในการไล่ยุง จึงทำให้ได้สูตรตำรับนาโนอิมัลชั่นที่มีฤทธิ์ไล่ยุงและมีความคงตัวของน้ำมันหอมระเหยได้นาน อย่างน้อย 3.5 – 4.5 ชั่วโมง และยังช่วยปกป้องผิวหนังได้อย่างอ่อนโยน ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นกับผิวหนัง ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ได้ผ่านการทดสอบทางคลินิกแล้วว่าไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองกับผิวหนัง อีกทั้งสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ เช่น สเปรย์ไล่ยุงเนื้อเบา โลชั่นไล่ยุง แผ่นแปะไล่ยุง

alt alt

     นอกจากนี้ นาโนเทค / สวทช. ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับไล่ยุงอีกหลายหลาย เช่น มุ้งนาโน โดยได้พัฒนาสารสกัดเลืยนแบบสารเก๊กฮวย ดาวเรือง และนำมาเคลือบเส้นใยสำหรับทำมุ้งนาโน ซึ่งเมื่อยุงสัมผัสสารเคลือบดังกล่าว จะทำให้ยุงเป็นอัมพาตและตายในที่สุด อีกทั้งยังได้คิดค้น “หินแก้วรูพรุนไล่ยุง” โดยใช้เทคโนโลยีนาโนในการกักเก็บกลิ่นตะไคร้หอมไว้ในหินแก้วรูพรุน ทำให้สามารถไล่ยุงได้นานกว่า 2 เดือน นอกเหนือจากการไล่ยุงแล้ว สวทช. โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาซอฟต์แวร์สนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรคระบาดของโรคไข้เลือดออกในเชิงรุก ที่เรียกว่า “โปรแกรมทันระบาด” โดยพัฒนาระบบการสำรวจจำนวนลูกน้ำยุงลายในพื้นที่แบบ mobile application ทำให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นระบบ ซึ่งเมื่อนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลเชิงระบาดวิทยาและข้อมูลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ทำให้สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ตามมุมมองของผู้ใช้งานและจัดทำรายงานได้อย่างอัตโนมัติ โดยมีคุณสมบัติเด่น คือ ทำงานบนแท็บเล็ตแอนดรอยด์  รองรับการบันทึกข้อมูลการสำรวจในรูปข้อความและภาพถ่าย แบบ On-line และ Off-line  อ้างอิงพิกัดสถานที่สำรวจลูกน้ำยุงลายด้วยเทคโนโลยี GPS แสดงผลรายงานพิกัดสถานที่สำรวจลูกน้ำยุงลายบนแผนที่ Google Map พร้อมแสดงบ้านที่พบและไม่พบลูกน้ำยุงลาย ถ่ายโอนข้อมูลการสำรวจไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายอย่างอัตโนมัติ ประมวลผลสถานการณ์การระบาดฯและดัชนีทางกีฏวิทยาแบบ real-time  ทั้งนี้ การดำเนินงานสำรวจและทดสอบระบบในเบื้องต้น ได้ดำเนินงานร่วมกับ สคร.13 ในพื้นที่ จ.นนทบุรี และอยู่ระหว่างการขยายพื้นที่ทดสอบไปยังจังหวัดอื่นๆ

alt

     ในด้านการฉายรังสีทำหมันยุงลาย ดร.กนกพร บุญศิริชัย หัวหน้าโครงการวิจัยด้านชีววิทยาประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ได้เปิดเผยว่า หลังจากมีการเผยแพร่เรื่องการทำหมันยุงเพื่อลดปริมาณยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ไวรัสซิก้า ไวรัสเดงกี่ ซึ่งโรคดังกล่าวทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของประชาชนนั้น กระทรวงวิทย์ ฯ โดย สทน. ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อการทำหมันแมลง พร้อมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ และห้องปฏิบัติการฉายรังสี เพื่อฉายรังสียุงลาย และร่วมทดสอบในขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สามารถผลิตยุงลายที่เป็นหมันให้เพียงพอต่อการลดจำนวนยุงลายในธรรมชาติ และทำให้การเกิดโรคที่ยุงลายเป็นพาหะลดลง โดย สทน. จะรับผิดชอบในขั้นตอนการฉายรังสีให้ยุงลายเป็นหมัน ซึ่งหน้าที่นี้เป็นขั้นตอนสำคัญ และถือว่าเป็นความเชี่ยวชาญของ สทน. และประสบความสำเร็จในการฉายรังสีแมลงวันผลไม้ จนสามารถพัฒนาพันธุ์แมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันที่เป็นพันธุ์เฉพาะของประเทศไทยได้  มีโรงเลี้ยงแมลงและฉายรังสีแมลงขนาดใหญ่พร้อมฉายรังสีแมลงหรือยุงในปริมาณมากๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ห้องปฏิบัติการฉายรังสีแห่งนี้ได้รับการรับรองจาก ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ให้เป็นปฏิบัติการฉายรังสีในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย และ สทน. มีความพร้อม 100% ในการร่วมปฏิบัติงานในโครงการทำหมันยุงครั้งนี้

10 มี.ค. 2559
0
แชร์หน้านี้: