ก.วิทย์ฯ สวทช. ร่วมกับพันธมิตร
นำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างขยายผลโครงการ
Thailand Tech Show ครั้งที่ 3
3 กุมภาพันธ์ 2559 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพฯ – หลังจากประสบความสำเร็จในการดำเนิน “โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์” ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จับมือพันธมิตรกว่า 19 แห่ง เดินหน้านำ 153 เทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดให้กับภาคเอกชน ครอบคลุมกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เกษตรและประมง เครื่องสำอาง อุปกรณ์การแพทย์ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น จัดแสดงในงาน Thailand Tech Show ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 23 – 24 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการและ SMEs ที่สนใจนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรม โดยพิเศษสุดในปีนี้ เตรียมเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆ สามารถเข้าถึงผลงานวิจัยด้วยการจัดงาน Thailand Tech Show ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี/ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโต เกิดความมั่งคั่ง อย่างมั่นคงและยั่งยืนโดยการผนึกกำลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในนาม “ประชารัฐ” เพื่อสร้าง Common Ground ให้ทุกคนมีที่ยืนร่วมกัน และ Common Goal สานฝันร่วมกันนั้น รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐของคณะทำงานด้านยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ โดยมีคุณกานต์ ตระกูลฮุน จากบริษัท เอส ซี จี จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน จากนโยบายและการตั้งคณะทำงานดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าหากประเทศของ เราจะก้าวผ่านจากประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้นวัตกรรมเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เน้นการพัฒนากำลังคนและเทคโนโลยี สนับสนุนให้เกิดการเพิ่มมูลค่าจากการต่อยอดและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและเทคโนโลยี
โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ หรือที่เรียกว่า “หิ้งสู่ห้าง” เป็นหนึ่งในโครงการที่แสดงให้เห็นถึงการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. หน่วยงานในสังกัดอื่นๆ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนคือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกันผลักดันให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมาให้เอกชนสามารถเข้าถึงและนำงานวิจัย ไปใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย ด้วยขั้นตอนการดำเนินการที่สั้น ลดเวลาในการเจรจา ด้วยค่าธรรมเนียมที่เท่ากันในทุกรายการ ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการมาเป็นครั้งที่ 3 แล้ว มีจำนวนบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากครั้งที่ 1 (จาก 12 ราย เป็น 46 ราย) โดยให้ความสนใจเทคโนโลยีกลุ่มเภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอางสูงที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี/ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า โครงการฯ นี้ถือเป็นแหล่งรวมงานวิจัยที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ในจุดเดียวอย่างแท้จริง โดยการจัดงานในครั้งที่ 2 ที่ผ่านมามีภาคเอกชนทั้งหมดตอบรับและให้ความสนใจจองเทคโนโลยีถึง 72 เทคโนโลยี จากทั้งหมด 82 เทคโนโลยี จาก 9 หน่วยงานพันธมิตร มีผู้ลงนามในสัญญาขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเรียบร้อยแล้ว 2 ราย และอยู่ในขั้นตอนการเจรจา และรอลงนามอีก 28 ราย อยู่ในกระบวนการหารืออีกกว่า 120 ราย ซึ่งโครงการฯ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ สวทช. ยังคงได้รับเกียรติจากสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาร่วมเป็นพันธมิตรมากขึ้น ถึง 19 หน่วยงาน รวมผลงาน 153 เทคโนโลยี ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม เกษตรและประมง เภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น โดยผลงานทั้งหมดจะนำมาจัดแสดงในงาน Thailand Tech Show วันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งหวังว่าภาคเอกชนจะให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากขึ้น จึงอยากขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจมารับฟังข้อมูล สัมผัสกับผลงานวิจัยด้วยตัวท่านเอง โดยจะมีเจ้าของผลงานมาคอยให้ข้อมูลเพิ่มเติมตลอดการจัดงาน นอกจากนี้ เรายังได้เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆ ด้วย โดยมีแผนที่จะจัดงาน Thailand Tech Show ขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น และ จ.สงขลา ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2559 นี้ด้วย