หน้าแรก สวทช. จัดงาน “NAC2018” ประชุมวิชาการประจำปีครั้งยิ่งใหญ่โชว์ศักยภาพ “งานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น” ตอบโจทย์ประเทศไทย
สวทช. จัดงาน “NAC2018” ประชุมวิชาการประจำปีครั้งยิ่งใหญ่โชว์ศักยภาพ “งานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น” ตอบโจทย์ประเทศไทย
9 มี.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

9 มีนาคม 2561 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี:  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 (NSTDA Annual Conference 2018: NAC2018)

ภายใต้แนวคิด “ตอบโจทย์ประเทศไทยด้วยงานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม 2561 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โชว์ศักยภาพผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) โดยมุ่งเน้น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก

 

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กราบบังคมทูลว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และพัฒนากลไกการส่งมอบ เพื่อผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ และดำเนินงานตามพันธกิจเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ ได้แก่ การพัฒนากำลังคน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ  เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ให้ประชาชนไทยมีภูมิคุ้มกันและพึ่งพาตนเองได้

สำหรับปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา สวทช. มีผลงานที่เป็นองค์ความรู้ ได้แก่ สิ่งตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 578 เรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญาที่ขอจด 301 คำขอ และผลงานที่ได้รับการถ่ายทอดเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ 255 รายการ หน่วยงานรับมอบ 311 หน่วยงาน เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 27,546 ล้านบาท และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเกษตรและชุมชน รวม 220 ชุมชน ใน 45 จังหวัด
การประชุมวิชาการประจำปีในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนองานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น ตามแผนกลยุทธ์ของ สวทช. ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.อาหารเพื่ออนาคต 2.ระบบขนส่งสมัยใหม่      3.การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต 4.เคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ และ 5.นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน โดยเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาที่ สวทช. ได้สนับสนุนและดำเนินการโดยนักวิจัยของ สวทช. ทั้ง 4 ศูนย์แห่งชาติ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายของการประชุม เป็นนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้กำหนดนโยบาย นิสิตนักศึกษา นักเรียน ตลอดจน ประชาชนทั่วไป

 

ภายในงานประชุมวิชาการนี้มีกิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1.สัมมนาวิชาการ เป็นเวทีนำเสนอความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการประชุมเพื่อขยายความร่วมมือกับองค์กรวิจัยชั้นนำในต่างประเทศ เช่น Jülich Research Centre สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี Chinese Academy of Science สาธารณรัฐประชาชนจีน และ Tokyo Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 53 หัวข้อ 2. นิทรรศการแสดงผลงานและพันธมิตร จัดแสดงผลงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และโครงการตามพระราชดำริฯ  ผลงานวิจัยตามประเด็นวิจัยมุ่งเน้น และผลงานวิจัยที่พร้อมถ่ายทอด สื่อสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ นิทรรศการความรู้เพื่อเกษตรและชุมชน และบริษัทผู้เช่าภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย 3. การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบของ สวทช. และบริษัทผู้เช่าในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย 37 ห้องปฏิบัติการ 4. กิจกรรมอบรมครูเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ในโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย และโครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย 5. มหกรรมรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมากกว่า 120 บริษัท มีตำแหน่งงานมากกว่า 2,000 ตำแหน่ง

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลรายงานและเบิกผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลตามประเภทต่างๆ ในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัยที่ สวทช. ให้การสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อให้เกิดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ พร้อมนำทรัพยากรต่างๆ มาประยุกต์ให้เกิดเทคโนโลยี หรือนวัตกรรม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ตลอดจนอาศัยการเชื่อมโยงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปกับระบบการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยแก่เด็ก เยาวชน  และบุคคลทั่วไป  ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกผ่านในหลากหลายกิจกรรมเพื่อสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนัก รวมไปถึงสร้างให้เกิดนวัตกรรม ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระจายความรู้ออกสู่สังคมไทยให้ทั่วถึงและเท่าเทียม สำหรับในปี 2560  สวทช. ดำเนินโครงการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัยที่สำคัญ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2560 จำนวน 2 รางวัล โครงการทุน NSTDA Chair Professor จำนวน 1 รางวัล นักศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยเข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 1 รางวัล และเกษตรกรดีเด่นในโครงการประกวดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังฤดูปลูก พ.ศ. 2559/2560 เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร จำนวน 2 รางวัล

  

จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 ภายใต้หัวข้อ “ตอบโจทย์ประเทศไทยด้วยงานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น (Targeted R&D : Tackling Thailand Challenges )” เสด็จพระราชดำเนิน ทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการ และทอดพระเนตรนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ประกอบด้วย โครงการพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ภาคฤดูร้อนเซิร์น โครงการส่งเสริมการใช้ไอซีทีสร้างรายได้ในกลุ่มโรงเรียน ทสรช. โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศโรงเรียนโสตศึกษา โครงการคืนความสุขในการบดเคี้ยว (Digital Dentistry) ความร่วมมือระหว่างไทยกับสภาวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ด้านนาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และฟิสิกส์ดาราศาสตร์) ความเชี่ยวชาญนักอนุกรมวิธานในประเทศไทย และโครงการสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาส ฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เป็นการพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ขนาดใหญ่เพื่อให้ได้สื่อสาระเพื่อครูในการนำไปใช้สร้างสื่อการสอน และเป็นระบบ eLearning เพื่อการเรียนรู้ทางไกล และทรงทอดพระเนตรนิทรรศการความก้าวหน้าของงานวิจัย สวทช. และพันธมิตร ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่

 

1.    นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน:- Plant Factory โรงงานผลิตพืชเพื่อการเกษตรในอนาคต / การพัฒนาระบบปฏิบัติการตรวจสอบจีโนไทป์ข้าวแบบประสิทธิภาพสูงสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และการสร้างฐานข้อมูลข้าวเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ (ฐานข้อมูลข้าว) / ระบบควบคุมเครื่องตีน้ำอัตโนมัติ / ระบบบริหารจัดการปฏิทินการเพาะปลูกพืช
2.    กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ:- ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย เป็นคลังชีววัสดุชั้นนำระดับภูมิภาคอาเซียน ด้วยระบบการบริหารจัดการเครือข่ายคลังชีววัสดุ ข้อมูลชีววัสดุ และกฎหมายชีวภาพที่เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล / ศักยภาพและแนวโน้มการใช้ประโยชน์จากเห็ดในปัจจุบันและอนาคต / โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ สำหรับการพัฒนากระบวนการผลิตชีวมวลเซลล์และสารชีวภัณฑ์จากจุลินทรีย์ในระดับ        กึ่งอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมต่างๆ
3.    กลุ่มอาหารเพื่ออนาคต :- สวทช. มีเป้าหมายในการสร้างอุตสาหกรรม functional Ingredient ในประเทศไทย ส่งเสริมให้เกิดต้นแบบผลิตภัณฑ์ และกระบวนการใหม่ เพื่อถ่ายทอดสู่เอกชน เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจากวิจัย และพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอาหารในประเทศไทย
4.    การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต :-     นวัตกรรมด้าน Human-centric Design สำหรับผู้สูงอายุ อาทิ  เตียงตื่นตัว: เตียงกระตุ้นการลุกขึ้นนั่ง อุปกรณ์ช่วยขึ้นลงเตียง: อุปกรณ์สำหรับช่วยทำให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องใช้เตียงสูง สามารถลุกนั่งและเข้าออกจากเตียงด้วยตัวเองได้อย่างปลอดภัย และผ้ากระตุ้นสมอง:- ผ้าห่มที่มีความอ่อนนุ่มและสวยงาม มีการเย็บพิเศษ สำหรับกระตุ้นประสาทสัมผัส / แผ่นรองฝ่าเท้าเฉพาะบุคคล (Customized insole) เทคโนโลยีการผลิตแผ่นรองฝ่าเท้าเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะผู้มีปัญหาเรื่องเท้า เพื่อทราบข้อมูลจากการตรวจกระจายน้ำหนักของเท้า การทรงตัว และการถ่ายน้ำหนัก ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งสร้างความตระหนักในการรักษารูปเท้าให้คงรูปมากที่สุดก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ
5.    ระบบขนส่งสมัยใหม่ :- แบตเตอรี่ต้นแบบสำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้า / ระบบติดตามรถประจำทาง รถบริการ รถโดยสาร เพื่อให้ข้อมูลตำแหน่งกับผู้โดยสาร สำหรับการจัดการบริหารเวลาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นอกจากนี้ภายในงานยังเปิดให้มีการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบของ สวทช. เพื่อให้เกิดการรับรู้ เป็นที่รู้จักในทุกภาคส่วนที่การทำงานเกี่ยวข้องกับ สวทช. มหกรรมรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน และสินค้านวัตกรรมและชุมชน อีกด้วย
ทั้งนี้ งานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 (NAC2018) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม 2561 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ผู้สนใจสามารถร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-564-8000 หรือ www.nstda.or.th/nac

9 มี.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: