กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ขอเชิญชวนผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจ สมัครเข้าร่วมการอบรมในหัวข้อ “ความเข้าใจข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติตามเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว” ในวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00 – 16.30 น. ผ่านระบบออนไลน์
โดยการอบรมในครั้งได้รับเกียรติจาก คุณพัฒน์พงษ์ บุตรราช ผู้เชี่ยวชาญด้าน Green Industry บรรยายเรื่อง ความสำคัญและประโยชน์ที่ได้รับจากอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG พร้อมด้วยภาพรวมข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติตามเกณฑ์กำหนดอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 1-5 และขั้นตอนการให้การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว พร้อมแบ่งการจับกลุ่มเพื่อฝึกปฏิบัติทบทวน และนำเสนอกิจกรรมต่อไป
ทั้งนี้ผู้ประกอบและผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมการอบรมออนไลน์ในครั้งนี้สมัครที่ได้ bit.ly/3Ll6Jaw หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) โทรศัพท์ 02 564 7000 ต่อ 1371 , 1301 เบอร์มือถือ 096 128 8826 (คุณภาวิณี) หรือ 063 915 6656 (พนิตา) E-mail : pavinee@nstda.or.th , panita@nstda.or.th
ข้อมูลประกอบ
BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Eco-design & Zero-Waste) ส่งเสริมการใช้ซ้ำ (Reuse, Refurbish, Sharing) และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสีย (Linear Economy)