วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ในตอนเช้าวันนั้นหลายๆ คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คงแปลกใจกัน เพราะตื่นมาแล้วเห็นเมฆสีเข้มให้อารมณ์หม่นหนัก ครอบคลุมท้องฟ้าเป็นแนวกว้างสุดสายตา
ภาพโดยคุณ Maythavee Chantra
ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติหรือ เอ็มเทค สวทช. และเป็นผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ชมรมคนรักมวลเมฆ” ที่มีสมาชิกกว่า 3 แสนคน ได้ให้ข้อมูลผ่านแฟนเพจว่า เมฆลักษณะดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า อาร์คัส (arcus) ซึ่งมีลักษณะเทียบได้กับ “กันชนหน้า” ของรถบรรทุกขนาดใหญ่
ชื่ออาร์คัสาจากภาษาละติน มีความหมายว่า “ส่วนโค้ง” บางคนก็เรียกว่าเป็น arch cloud (arch หรือ arc คือ ส่วนโค้งหรือช่องโค้ง) และ ดร.บัญชา เป็นผู้ตั้ง “ชื่อเล่น” เมฆดังกล่าวว่าเป็นคนแรกว่า “เมฆกันชน” โดยแนวโค้งของเมฆดังกล่าวอาจใช้ระบุทิศทางการเคลื่อนที่ของก้อนเมฆฝนฟ้าคะนองขนาดใหญ่ทั้งก้อนได้
ภาพโดยคุณ Nolyho H Wanderer
เมฆอาร์คัสเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลายครั้งแล้ว สามารถอ่านรายละเอียดคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ของการกำเนิดเมฆ และชมภาพเมฆดังกล่าวได้ในบทความของ ดร.บัญชา ตามลิงก์ต่อไปนี้
https://www.facebook.com/MatichonMIC/photos/a.590225254398696/5331657680255406/
อย่างไรก็ตาม การที่มีนักวิชาการบางคนระบุว่า เมฆอาร์คัสอาจแสดงให้เห็นถึงสภาวะอากาศแบบสุดขีด (extreme weather event) ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน (global warming) หรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) นั้น
ดร.บัญชา ระบุว่าน่าจะถือว่ายังเป็นเพียงสมมติฐาน (hypothesis) หรือข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น ยังและต้องรอการพิสูจน์เพิ่มเติมต่อไป