หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 4 เดือน เมษายน 2564
วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 4 เดือน เมษายน 2564
22 ก.ย. 2564
0
นานาสาระน่ารู้

ภาพรวมสถานะและความก้าวหน้าของสมาพันธรัฐสวิสในด้านการอุดมศึกษา วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม

การเป็นผู้นำด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม

ในทุก ๆ ปี คณะกรรมาธิการยุโรปจะจัดทำ Innovation Scoreboard เพื่อเป็นตัวชี้วัดถึงผลลัพธ์และศักยภาพด้านนวัตกรรม (Innovation Performance) ได้มาจากการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป โดยจะมีการประเมินถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของระบบนวัตกรรมในแต่ละประเทศพร้อมทั้งระบุถึงประเด็นที่แต่ละประเทศควรให้ความสนใจและพัฒนา โดยรายงานผลลัพธ์และศักยภาพด้านนวัตกรรมของสหภาพยุโรปประจำปี ค.ศ. 2020 (European Innovation Scoreboard 2020) สมาพันธรัฐสวิส หรือ สวิตเซอร์แลนด์ ได้ถูกจัดอันดับให้เป็น ผู้นำนวัตกรรม (Innovation leaders) ในยุโรป เช่นเดียวกับประเทศสวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และ ลักเซมเบิร์ก ซึ่งมีค่าผลลัพธ์ศักยภาพด้านนวัตกรรมสูงกว่าค่าเฉลี่ยด้านนวัตกรรมของสหภาพยุโรปประมาณร้อยละ 20

จุดแข็งด้านนวัตกรรมของสวิตเซอร์แลนด์คือ ทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะการทำงานสูง ระบบการวิจัย และการลงทุนและสนับสนุนของบริษัทเอกชนต่อการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม โดยได้รับการสนับสนุนด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมจากรัฐบาลทั้งระดับรัฐบาลกลางและระดับท้องถิ่น  สิทธิบัตร เป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จด้านพัฒนานวัตกรรม ในปี ค.ศ. 2019 ได้มีการขึ้นทะเบียนจดสิทธิบัตรสูงถึง 8,249 ฉบับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากปีก่อนหน้า โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกแห่งสหประชาชาติ (World Intellectual Property Organization, WIPO) ได้จัดให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศอันดับหนึ่งในด้านนวัตกรรม

สถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลกของสวิตเซอร์แลนด์

สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริค หรือ ETHZ เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ จัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีอันดับอยู่ใน 5 อันดับแรกของยุโรป และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีอันดับอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาเคมี คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ รวมถึงสาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เช่น วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้รับรางวัลโนเบลจากสาขาต่าง ๆ รวม 21 ท่าน

สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในโลซาน หรือ EPFL เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และการจัดการทางเทคโนโลยี EPFL ยังมีการจัดตั้งอุทยานนวัตกรรม หรือ EPFL Innovation Park เพื่อให้บริการแก่บริษัทในการใช้ห้องปฏิบัติการวิจัย และเป็นสถานที่ในการสร้างความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจเริ่มต้น (start-up) และองค์กรขนาดใหญ่

หน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่น่าสนใจในสวิตเซอร์แลนด์

          สภาวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (CERN)

สภาวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป หรือเซิร์น (ตามชื่อย่อในภาษาฝรั่งเศสของ Conseil Européen pour la Recherche Nucléaire, CERN) เกิดจากความร่วมมือของ 12 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ และยูโกสลาเวีย ปัจจุบันเซิร์นมีจำนวนสมาชิกรวม 23 ประเทศ

พันธกิจของสถาบันเซิร์น

พันธกิจหลักของสถาบันเซิร์น แบ่งหลัก ๆ ได้เป็น 3 ด้านดังนี้

งานวิจัยด้านฟิสิกส์พื้นฐาน : ค้นคว้าความรู้พื้นฐานตั้งแต่เริ่มกำเนิดของเอกภพ โดยใช้เครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ (เส้นรอบวง 27 กิโลเมตร) เร่งอนุภาคให้มาชนกันในระดับพลังงานสูง และศึกษาประกฎการณ์ที่เกิดขึ้น

การสนับสนุนการศึกษา : สถาบันเซิร์นสนับสนุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร มุ่งเน้นไปที่กลุ่มครูและนักเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา โครงการอบรมครูช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาค อีกทั้งยังจัดหลักสูตรสำหรับนักเรียนมัธยม มีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจวิทยาศาสตร์ พัฒนาทักษาของนักเรียนในเทคโนโลยีขั้นสูง และเพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักเรียนผู้สนใจจะมีอาชีพทางวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรม

นวัตกรรมจากสถาบันเซิร์น

– จอสัมผัส : เมื่อ ค.ศ. 1972 ได้ประดิษฐ์จอสัมผัสแบบความจุไฟฟ้า (capacitive) ขึ้นใช้สำหรับระบบควบคุมเครื่องเร่งอนุภาคเอสพีเอส โดยเป็นต้นแบบของจอสัมผัสชนิดที่ใช้บนโทรศัพท์ smart phone ในปัจจุบัน
– World wide web (www): เมื่อ ค.ศ. 1990 ได้กำหนดแนวคิดพื้นฐานของ world wide web ได้แก่ html http และ URL เพื่อแสดงข้อมูลจากหลายแหล่งด้วย Hyper text ตามความต้องการของนักวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ

– CERN-MEDICIS: ได้พัฒนาโครงการผลิตไอโซโทปกัมมันตรังสี เพื่อใช้ในการวิจัยทางการแพทย์

– เครื่องเร่งอนุภาคเพื่อการแพทย์: ศึกษาการใช้อนุภาค เครื่องเร่งอนุภาค และ เครื่องตรวจวัดอนุภาคเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ยุคใหม่ เช่น การใช้ปฏิสสารในการทำลายเซลล์มะเร็ง

– Medipix: ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้วัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยเฉพาะย่านความถี่รังสีเอกซ์ที่มีความละเอียดสูงและสามารถแสดงเป็นภาพสีได้

แหล่งบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น

          ปัจจุบันมีการก่อตั้งวิสาหกิจเริ่มต้นประมาณ 300 บริษัทต่อปี ซึ่งมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีหลากหลายสาขา เช่น เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีการแพทย์ และเทคโนโลยีการเงิน เป็นต้น ปัจจัยของความสำเร็จคือ การได้รับการสนับสนุนจากโครงการของภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในโลซาน (EPFL) ในการต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์

ตัวอย่างวิสาหกิจเริ่มต้นในเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ ของสวิตเซอร์แลนด์

เทคโนโลยีโดรน บริษัท Flyability สร้างโดรน รุ่น ELIOS2 ซึ่งมีโครงถักห่อหุ้มตัวโดรน ช่วยให้ทนต่อการชนกระแทกและเข้าไปในสถานที่ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่เกิดความเสียหาย ปัจจุบันมีการนำโดรนไปใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลายแห่งทั่วโลก บริษัท Wingtra ผลิตโดรนสำหรับถ่ายภาพความละเอียดสูง นำไปใช้งานโดยเฉพาะสำหรับพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือในเหมืองแร่ เพื่อจะตรวจสอบงานก่อสร้างหรืองานขุดเจาะจากด้านบนได้อย่างละเอียดและแม่นยำมากขึ้น

เทคโนโลยีการแพทย์ บริษัท Lunaphore เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์อัตโนมัติสำหรับวินิจฉัยเนื้อเยื่อของมนุษย์ โดยใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่ปรับปรุงความเร็วและความแม่นยำของการตรวจสอบวินิจฉัย เช่น การวิเคราะห์เนื้องอก นอกจากนี้บริษัท Ava ได้พัฒนาสายรัดข้อมือซึ่งสามารถระบุวันไข่ตกของผู้หญิงได้อย่างแม่นยำ อุปกรณ์ดังกล่าวจะเก็บรวบรวมข้อมูลตัวแปรทางกายภาพ เช่น อุณหภูมิ ของร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ และ ระยะเวลานอนหลับ

เทคโนโลยีการเกษตร บริษัท CombaGroup ได้พัฒนาระบบและเทคโนโลยีการปลูกผักสลัดที่มีการเก็บเกี่ยวแบบสดใหม่ พร้อมบรรจุในบรรจุภัณฑ์และพร้อมบริโภค ด้วยการใช้ระบบการปลูกพืชในโรงเรือนประกอบด้วย
1) การปลูกพืชในอากาศ 2) การจัดสรรพื้นที่ และ 3) การควบคุมสภาพอากาศ ทำให้ปลูกผักปลอดสารพิษได้ตลอดปี และลดการใช้น้ำและพื้นที่เพาะปลูกได้ร้อยละ 90 รวมทั้งลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่าครึ่งของการปลูกผักแบบเดิม และยังลดภาระด้านสิ่งแวดล้อมของระบบผลิตอาหาร โดยเฉพาะการลดขั้นตอนการขนส่ง ลดปริมาณของเสียที่เกิดจากการเกษตรและน้ำเสีย การปลูกผักด้วยระบบดังกล่าวช่วยให้ผักอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไร้ความตึงเครียด ทำให้ผักมีความสดใหม่ มีรสชาติอร่อย และเก็บรักษาได้นานยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีการเดินทางขนส่ง บริษัท Bestmile ได้พัฒนาโปรแกรมเพื่อประสานการเคลื่อนที่ของยานพาหนะที่มีหรือไม่มีคนขับ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถช่วยติดตามยานพาหนะทุกคันได้ทุกขณะและตอบสนองต่ออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

ความสัมพันธ์ด้าน อวทน. ระหว่างประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ประเทศไทยได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันเซิร์นมาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี เกิดขึ้นด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำริและทรงเล็งเห็นว่า หากนักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับเซิร์น ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงชั้นนำระดับโลก จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยเป็นอันมาก ผลจากการติดต่อกับสถาบันเซิร์นของประเทศไทยในแง่หนึ่งคือ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เกิดจากการถ่ายทอดความรู้ และสร้างแรงกระตุ้นให้กับวงการวิจัยของประเทศไทยเป็นการสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมของไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

การจัดทำโครงการ National e-Science Infrastructure Consortium: เป็นการร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงานของประเทศไทย ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการคำนวณสมรรถนะสูง ได้แก่ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบจัดเก็บข้อมูล เครือข่ายคอมพิวเตอร์และฐานข้อมูล เพื่อรองรับการวิจัยด้าน e-Science ในสาขาฟิสิกส์ อนุภาคพลังงานสูง และสาขาอื่น ๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารทรัพยากรน้ำ พลังงานและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลขนาดใหญ่ จักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และการวิจัยผลกระทบของอวกาศที่มีต่อโลก โดยโครงการนี้มีการทำงานร่วมกับโครงการ WLCG : Worldwide LHC Computing Grid ของสถาบันเซิร์น

โครงการความร่วมมือ ALICE-Collaboration: อลิซ (A Large Ion Collider Experiment, ALICE) เป็น 1 ใน 7 หัววัดหลักที่ใช้วัดอนุภาคมูลฐานจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นหลังการชนของไอออนหนัก ซึ่งถูกติดตั้งบริเวณ เครื่องเร่งอนุภาคฮาดรอนขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider, LHC) ณ สถาบันเซิร์น ซึ่งการสร้างหัววัดเหล่านี้ต้องใช้เทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงที่มีความซับซ้อน โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โดยศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยออกแบบและพัฒนาระบบติดตามทางเดินของอนุภาค (Inner Tracking System, ITS) ร่วมกับนักวิจัยชั้นนำจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการอลิซสามารถนำมาต่อยอดงานวิจัยในการสร้างหัววัดซิลิคอนเพื่อมาใช้ประโยชน์ในวงการทางการแพทย์และอุตสาหกรรม เช่น การทำเครื่องสร้างภาพในรักษามะเร็งด้วยโปรตอน (Proton Computed tomography) และติดตามทางเดินของอนุภาคโปรตอนในการรักษามะเร็งด้วยโปรตอน

เทคโนโลยีเตาเชื่อมโลหะต่างชนิดแบบไร้ตะเข็บในภาวะสุญญากาศ (Vacuum Brazing Technology): เทคโนโลยีนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยทีมวิศวกรของ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ข้อดีของการเชื่อมประสานด้วยเทคนิคคือโลหะที่เชื่อมจะเกิดการบิดตัวน้อย ทำให้ควบคุมความแม่นยำในการเชื่อมได้ดี ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าถึง 18 ล้านบาท สามารถพัฒนาต่อยอดได้กับหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือตัด อุตสาหกรรมการอบชุบโลหะอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศ และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา

เครื่องเร่งอนุภาคแนวตรงเพื่ออาบรังสีผลไม้: สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้ริเริ่มพัฒนาออกแบบและสร้างเครื่องเร่งอิเล็กตรอนเพื่อผลิตรังสีเอกซ์สำหรับการปลอดเชื้อผักผลไม้สดเพื่อช่วยยืดอายุ ผักผลไม้หลังการเก็บเกี่ยวไว้ได้นาน โดยไม่ทำให้สี เนื้อสัมผัส รสชาติ และคุณสมบัติทางโภชนาการของผลผลิตเปลี่ยนแปลง

โครงการจัดส่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปศึกษางานที่สถาบันเซิร์น: เป็นโครงการคัดเลือกนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อไปศึกษาดูงานที่สถาบันเซิร์นครั้งละหนึ่งสัปดาห์ เริ่มโครงการเมื่อ ค.ศ. 2013 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานที่สถาบันเซิร์น และ สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในการศึกษาต่อด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้ว 7 รุ่น แบ่งเป็นนักเรียน 82 คน และครูฟิสิกส์ ผู้ควบคุมนักเรียน 13 คน

การประชุมหารือแนวทางการสร้างความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนระหว่างไทยและสหภาพยุโรป

นโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ลดน้อยและเสื่อมโทรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาเหล่านี้เป็นแรงกดดันให้ทุกประเทศต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตและบริโภคให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาซึ่งการมีสุขภาพที่แข็งแรง และอายุยืนยาว

หลายประเทศกำหนดนโยบายขับเคลื่อนความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย “เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)” เป็นการลงทุนสร้างเศรษฐกิจของการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมผ่านการใช้ทรัพยากรชีวภาพ เช่น พืช สัตว์ จุลินทรีย์ รวมถึงวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ของเสียและน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ฟาร์มปศุสัตว์ และชุมชน พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง ก่อให้เกิดความก้าวหน้าและนวัตกรรมในมิติใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อการปฏิรูปภาคการเกษตร อาหาร สาธารณสุขและการแพทย์ พลังงาน อุตสาหกรรมเคมี ภาคสังคม และภาคเศรษฐกิจของโลก กล่าวได้ว่า เศรษฐกิจชีวภาพ ช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมให้เดินเข้าสู่ถนนสายความยั่งยืนได้อีกด้วย

การจัดการขยะพลาสติก

“ยุทธศาสตร์พลาสติก (European Plastics Strategy)” มุ่งปรับเปลี่ยนวิธีการออกแบบ การใช้การผลิตและการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกในสหภาพยุโรป เน้นการออกแบบที่ดีขึ้น การเพี่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติก การสนับสนุนการรีไซเคิล และการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ เป็นการเสริมสร้างอุตสาหกรรมพลาสติกในสหภาพยุโรปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ทันสมัย มีคาร์บอนต่ำ

ในประเทศไทย มีแผนงานการจัดการขยะพลาสติกสำหรับปี 2561-2573 จัดทำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายในการรีไซเคิลขยะพลาสติกเป้าหมายให้ได้ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 โดยมีแผนออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รวมถึงมาตรการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การนำหลักการด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในกระบวนการผลิต ตลอดจนมาตรการจัดการพลาสติกหลังการบริโภค ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายด้านขยะพลาสติกของสหภาพยุโรป

ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจชีวภาพ

ประเทศไทยได้เข้าร่วม กลไกการสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพผ่านโครงการร Horizon Europe เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมแบบเปิด (Helix Model) ระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ และเพื่อพัฒนาทักษะให้แรงงานมีศักยภาพเหมาะสมในเศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนี้ยังมีการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป เป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป และช่วยสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaiscience.eu/uploads/journal_20210604134612-pdf.pdf

 

 

22 ก.ย. 2564
0
แชร์หน้านี้: