วารสารข่าวด้านการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์จากกรุงบรัสเซลส์
ฉบับที่ 1 เดือน มกราคม 2565
ภาพรวมสถานะและความก้าวหน้าของประเทศสวีเดน ในด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
คณะกรรมาธิการยุโรปจะจัดทำ Innovation Scoreboard เพื่อเป็นตัวชี้วัดถึงผลลัพธ์และศักยภาพด้านนวัตกรรม (Innovation Performance) โดยการประเมินจากการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยประเมินจุดอ่อนและจุดแข็งของระบบนวัตกรรมของแต่ละประเทศ โดยในการจัดลำดับประเทศนวัตกรรมในยุโรป แบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ ผู้นำนวัตกรรม (innovation leaders) ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับสูง (strong innovators) ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับกลาง (moderate innovators) และ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมพอประมาณ (modest innovators) โดยสวีเดนได้ถูกจัดลำดับให้เป็นผู้นำอันดับหนึ่งด้านนวัตกรรมในสหภาพยุโรปติดต่อกันมาหลายปี
ซึ่งผลมาจากจุดแข็งเชิงนวัตกรรมในด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและทักษะสูง มีค่าเฉลี่ยจำนวนนักศึกษาสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาเอก และชั้นอุดมศึกษา สูงเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้ยังมีจุดแข็งเชิงนวัตกรรมด้านอื่น ๆ อาทิ
- ระบบการวิจัยที่น่าดึงดูด: สร้างความร่วมมือด้านการวิจัยกับประเทศที่สาม นักวิจัยมีการติดต่อกับเครือข่ายระดับนานาชาติ และคุณภาพผลงานวิจัยอยู่ในระดับสูง
- การพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม: โดยมีสัดส่วนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการพัฒนานวัตกรรมกระบวนการทางธุรกิจในระดับสูง และเป็นผู้นำการสร้างงานจากการพัฒนานวัตกรรม
- ความร่วมมือและการเชื่อมโยงทางนวัตกรรม: โดยมีนวัตกรรมที่หลากหลาย เนื่องจากเข้าร่วมพัฒนากับบริษัทเอกชน หรือ องค์กรภาครัฐ ระบบวิจัยในประเทศยังขับเคลื่อนตอบโจทย์ต่อความต้องการของบริษัทเอกชนเพื่อส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งบริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนร่วมในระบบวิจัยของภาครัฐ
ภาพรวมระบบนวัตกรรมของสวีเดน
สวีเดน ได้ปรับโครงสร้างประเทศจากสังคมเกษตรกรรมช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่อาศัยนวัตกรรมโดยเน้นจุดแข็ง 3 ด้าน ได้แก่ ภาคธุรกิจที่เข้มแข็ง (strong business sector) ภาควิชาการที่เป็นเลิศ (academic excellence) และการสนับสนุนการทำงานแบบรัฐนวัตกรรม (innovative public sector) จากการประเมินจุดแข็งเชิงนวัตกรรมของสวีเดนคือ คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์
หน่วยงานที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมในสวีเดน แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่
1. หน่วยงานส่วนกลาง : เช่น National Innovation Council (NIC) หน่วยงานภาครัฐที่ประสานหน่วยงานกลางและหน่วยงานท้องถิ่นมาร่วมกันผลักดันนโยบายนวัตกรรมของรัฐ พร้อมดึงกระทรวงมาร่วมแก้ปัญหา ทุกกระทรวงจะมีงานด้านนวัตกรรมภารกิจต้องผลักดัน เพื่อต่อยอดนำงานวิจัยไปสู่นวัตกรรมที่จับต้องได้
2. หน่วยงานระดับท้องถิ่น: เป็นหน้าที่ของเทศบาลนคร (country) ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมระดับชุมชนและประชาคมสังคมท้องถิ่น การบริหารส่วนท้องถิ่นของสวีเดนจัดเก็บภาษีเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นตนเอง จึงมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการ การส่งเสริมนวัตกรรมของเทศบาลนครจะเป็นความร่วมมือกับภาควิชาการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน
3. หน่วยงานด้านวิชาการและการศึกษา: สวีเดนส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจำนวน 13 แห่ง เพื่อกระตุ้นการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ทางการค้า มีการสร้างศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น (startups) ในมหาวิทยาลัย และตั้งบริษัทเพื่อการลงทุนของมหาวิทยาลัย ให้กับบริษัทที่ผ่านการบ่มเพาะและมีศักยภาพในการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพของภาควิชาการ
4. ภาคเอกชน: รัฐบาลสวีเดนยังจัดตั้งบริษัทที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น เช่น บริษัท Almi สนับสนุนด้านการเงิน ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจ การรับทำงานวิจัยและพัฒนา และการให้เช่าพื้นที่ทำการทดลอง (testbed)
การอุดมศึกษาของสวีเดน
ประเทศสวีเดนมีระบบการศึกษาดีเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ที่มีการลงทุนด้านการศึกษามากที่สุด
จากการจัดอันดับคณะและมหาวิทยาลัยในสวีเดนในปี ค.ศ. 2020 คณะและมหาวิทยาลัยยอดนิยม 10 อันดับแรกที่สมัครเรียนมากที่สุดมีดังนี้
1.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสต๊อกโฮล์ม (Stockholm university)
2.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุปซอลา (Uppsala university)
3.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund university)
4.คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์ม (Stockholm university)
5.คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเคาโรลินสกา (Karolinska Institutet)
6.คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุปซอลา (Uppsala university)
7.คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์ม (Stockholm university)
8.คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก (Gothenberg university)
9.คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยอุปซอลา (Uppsala university)
10.คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยลินเชอปิง (Linköping university)
หน่วยงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่น่าสนใจในสวีเดน
สถาบันแคโรลินสกา (Karolinska Institute)
สถาบันแคโรลินสกา (Karolinska Institute) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองสต็อกโฮล์ม เป็นมหาวิทยาลัยทางการแพทย์และศัลยแพทย์อันดับหนึ่งในสวีเดน ทั้งเป็นมหาวิทยาลัยการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป สามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้กว่าร้อยละ 30 มีงานวิจัยทางด้านการแพทย์กว่าร้อยละ 40 มีศิษย์เก่าจำนวนมากกว่า 30 รายได้รับรางวัลโนเบล
มหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University)
มหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในทวีปยุโรปและเป็นมหาวิทยาลัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศสแกนดิเนิวีย ตั้งอยู่ที่เมืองลุนด์ (Lund) ทางตอนใต้ของสวีเดน ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1666 มีชื่อเสียงด้านการเรียนการสอนและด้านวิจัยเป็นเวลายาวนาน ถูกจัดอันดับอยู่ในมหาวิทยาลัยดีเด่น 100 ลำดับแรกของโลก สำหรับสาขาวิชาที่อยู่ในชั้นแนวหน้าของโลก ได้แก่ การศึกษาเพื่อการพัฒนา ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม การพยาบาล การเงิน และนโยบายสังคม การบริหาร และกฎหมาย
มหาวิทยาลัยอุปซอลา (Uppsala University)
มหาวิทยาลัยอุปซอลา (Uppsala University) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับนานาชาติขนาดใหญ่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดของประเทศสวีเดน ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1477 (ช่วงราวต้นกรุงศรีอยุธยาของไทย) ในเมืองอุปซอลาอยู่ทางเหนือของกรุงสต็อกโฮล์ม ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลกด้านงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง
ราชวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งสวีเดน (KTH Royal Institute of Technology)
ราชวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งสวีเดน เป็นสถาบันด้านเทคโนโลยีมีความโดดเด่นสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ และเป็นมหาวิทยาลัยด้านเทคนิคที่ใหญ่ที่สุดของสวีเดน ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1827
มหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์ม (Stockholm University)
มหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์มเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐตั้งอยู่ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เริ่มก่อตั้งเป็นวิทยาลัยปี ค.ศ. 1878 และได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยปี ค.ศ. 1960 และเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่อันดับที่ 4 ของประเทศสวีเดน
มหาวิทยาลัยเปิดสอนและทำวิจัยสองกลุ่มหลัก คือ กลุ่มวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและกลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แบ่งการสอนเป็น 4 คณะ (คณะนิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะคณิตศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์) โดยคณะวิทยาศาสตร์เป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดในสวีเดน มหาวิทยาลัยจัดอยู่ใน 100 ลำดับแรกชั้นนำของโลก
การทำงานร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ผ่านโครงการ Thailand Nordic countries innovation unit (TNIU)
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 โดย ดร.เศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ ได้เข้าร่วมประชุมกับตัวแทนองค์กร Thailand Nordic countries innovation unit (TNIU)
Thailand Nordic countries innovation unit (TNIU) เป็นหน่วยงานจัดตั้งขึ้นโดยการประสานงานของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม รวบรวมนักศึกษาและนักวิชาชีพไทยใน 4 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ทำงานร่วมกันเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมและการสร้างโครงการความร่วมมือด้าน อววน. ระหว่างประเทศไทยและ 4 ประเทศ โดยมีสวีเดนประสานงานหลักกับอีก 3 ประเทศ ภารกิจหลักของ TNIU มี 3 ประการ
- เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากองค์กรในภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนจาก 4 ประเทศ ไปสู่ประเทศไทย
- ประสานการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างหน่วยงาน/บริษัทในไทยและใน 4 ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก
- ศึกษาหาโอกาสทางธุรกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดของวิสาหกิจไทย ใน 4 ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก
โดยสาขา/หัวข้อ ที่ให้ความสำคัญกับหน่วยงานในประเทศไทย ใน 4 รูปแบบดังนี้
- การแบ่งปันและอัพเดทข้อมูลความก้าวหน้าที่สนใจด้าน อววน. ใน 4 ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก ให้แก่หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. และประชาชนทั่วไปได้รับทราบ
- การจับคู่ทางธุรกิจระหว่างหน่วยงาน/บริษัทในไทยและใน 4 ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก
- การจับคู่ระหว่างหน่วยงานด้านการวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในประเทศไทยและใน 4 ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยร่วมกัน
- การเสริมสร้างทุนปัญญาในระดับอุดมศึกษาผ่านการสร้างเครือข่ายนักเรียนไทยในแต่ละประเทศของกลุ่มนอร์ดิก เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการส่งเสริมการศึกษาต่อของนักเรียนไทย ในการทำโครงการความร่วมมือหรือถ่ายทอดองค์ความรู้กลับสู่ประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านโอกาสในการทำงานทั้งในไทยและในกลุ่มประเทศนอร์ดิก
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2022/20220915-newsletter-brussels-no01-jan65.pdf