วารสารข่าวด้านการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์จากกรุงบรัสเซลส์
ฉบับที่ 4 เดือน เมษายน 2565
โรงงานต้นแบบต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่แบบอเนกประสงค์: ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ (BBAPP)
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 บริษัท ไบโอเบส ยุโรป ไพล็อท แพลนท์ (BBEPP) ประเทศเบลเยียมและ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประเทศไทย ได้ประกาศเปิดตัวบริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ (BBAPP) ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่แบบอเนกประสงค์ (multipurpose biorefinery pilot plant) สร้างขึ้นในพื้นที่ “ไบโอโพลิส (Biopolis)” เมืองนวัตกรรมชีวภาพที่รองรับการทำวิจัยขยายผลซึ่งเป็นแพลทฟอร์มนวัตกรรมตั้งอยู่ที่นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ประเทศไทย
โดยที่ผ่านมา สำนักงานที่ปรึกษาด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้ประสานและเข้าร่วมประชุมระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หน่วยงานภายใต้ สวทช. และบริษัท BBEPP ประเทศเบลเยียม ซึ่งมีประสบการณ์ในการให้บริการโรงงานต้นแบบประเภท Multi-purpose เพื่อแสดงเจตจำนงการร่วมกันจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอเบสเอเชีย (Bio Base Asia Pilot Plant) ที่จะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านโรงงาน
ข้อมูลภูมิหลัง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ให้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป และให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) พิจารณากำหนดและดำเนินแผนงาน/โครงการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG 2564-2570 โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โดยการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางไบโอรีไฟเนอรีแห่งอาเซียนภายในปี 2570 เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ BCG Model สาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) เป็นการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและชีวมวลด้วยกระบวนการทางกายภาพ เคมี และ/หรือชีวภาพ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ (Bio-based products) เช่น วัสดุชีวภาพ เคมีชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ ส่วนประกอบเชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากจุลินทรีย์ที่ให้คุณสมบัติพิเศษ (synthetic biology) สำหรับนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม ผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตร เป้าหมายโดยมีการเชื่อมโยงโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน หลักสำคัญของอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี คือการให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่ยั่งยืนซึ่งเกิดจากการนำวัตถุดิบที่เป็นทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (renewable resources) ใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาน้อยกว่าการผลิตจากปิโตรเลียม อุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีเป็นอุตสาหกรรมที่จะลดช่องว่างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจระยะยาว
ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนในประเทศไทยภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG รัฐบาลไทยได้อนุมัติการลงทุนเพื่อที่จะจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) ณ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ตั้งอยู่ที่ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (MHESI) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยสำคัญของประเทศ ได้รับมอบหมายให้ร่วมกันกำกับดูแลการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีแบบอเนกประสงค์ (multipurpose biorefinery infrastructure) โครงสร้างแห่งนี้ประกอบไปด้วยโรงงานต้นแบบ GMP (Good Manufacturing Practice) และ Non-GMP ถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาในระดับขยายขนาดกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับนำร่องสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของเทคโนโลยีฐานชีวภาพ แต่ยังมีการคาดหวังไว้ว่าอุตสาหกรรมฐานชีวภาพที่มีมูลค่าสูงจะช่วยผลักดันการเจริญเติบโตเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
ความร่วมมือระหว่างบริษัท BBEPP ประเทศเบลเยียมและ สวทช.
จากการประสานงานของสำนักงานที่ปรึกษาประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ผู้บริหารของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. ได้เข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้การทำงาน รวมถึงได้พูดคุยกับผู้บริหารของบริษัท BBEPP ประเทศเบลเยียม จำนวนหลายครั้ง ต่อมาสำนักงานฯ ได้ประสานลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding on Collaboration for Establishing the Bio Base Asia Pilot Plant in Thailand) ระหว่าง 2 หน่วยงาน ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ร่วมกัน ภายใต้ข้อตกลงนำไปสู่ร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนที่ไม่แสวงหาผลกำไร (not-for-profit) ภายใต้ชื่อ บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ (Bio Base Asia Pilot Plant-BBAPP) ระหว่าง สวทช. และ BBEPP ในรูปแบบการร่วมทุน (joint venture) ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนทั้งในส่วนเงินและเทคโนโลยีเพื่อจะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและความเชี่ยวชาญ ข้อได้เปรียบของ BBAPP เกิดจากการรวมพันธมิตรแต่และฝ่ายทั้งเงินทุน องค์ความรู้ และความพร้อมด้านบุคลากร ช่วยให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีระดับโลก ทำให้ BBAPP เป็นผู้นำในธุรกิจประเภทเดียวกันในภูมิภาคอาเซียน
ทำความรู้จักกับบริษัท BBEPP
บริษัท Bio Base Europe Pilot Plant (BBEPP) ประเทศเบลเยี่ยม เป็นบริษัทที่ให้บริการการพัฒนาเทคโนโลยีไบโอไฟเนอรี มามากกว่า 10 ปี มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบริหารจัดการ
บริษัท BBEPP ให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น พลาสติกชีวภาพ ชีววัสดุ และพลังงานชีวภาพ เป็นต้น และถ่ายโอนผลลัพธ์ไปสู่ระดับอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหารเสริม ฯลฯ
BEPP ให้บริการในรูปแบบ Open Innovation projects ใน 2 รูปแบบ ได้แก่
1. Bilateral Collaboration เป็นการทำสัญญาระหว่าง BBEPP กับภาคเอกชน แหล่งทุนมาจากภาคเอกชน และทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นเป็นของเอกชน ตอบโจทย์ความต้องการเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม
2. Consortia-based Collaboration แหล่งทุนมาจากการระดมทุนของกลุ่ม Consortium โดยที่ BBEPP สนับสนุนบางส่วน องค์ความรู้ที่ได้เป็นรูปแบบ Open Innovation ตอบโจทย์ Inclusive Growth ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตของกลุ่ม Consortium ให้สูงขึ้น
โรงงานต้นแบบไบโอเบสเอเชีย (Bio Base Asia Pilot Plant, BBAPP)
โรงงานต้นแบบไบโอเบสเอเชีย (Bio Base Asia Pilot Plant, BBAPP) เป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน วัตถุประสงค์เพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนในและต่างประเทศ ระดับขยายขนาดกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากห้องปฏิบัติการสู่ระดับนำร่อง ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์
บริษัท BBAPP ประกอบด้วยโรงงานต้นแบบในแบบ GMP (Good Manufacturing Practice) และ Non-GMP เป็นแห่งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน จะสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวเคมี วัสดุชีวภาพ และผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ โรงงานต้นแบบ GMP จะสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง และโภชนเภสัชภัณฑ์ (nutraceuticals)
ซึ่งโรงงานต้นแบบนี้จะให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษาในเรื่องของการพัฒนากระบวนการ การบริการขยายขนาดการผลิต และการผลิตตามความต้องการของลูกค้า (custom manufacturing) ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มลูกค้าจะมีทั้งสถาบันวิจัยของรัฐและเอกชนในประเทศและต่างประเทศ โดย สวทช. จะช่วยสนับสนุนฐานลูกค้าและเครือข่ายภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน ขณะนี้บริษัท BBAPP อยู่ในระหว่างก่อสร้างและจะเปิดดำเนินการในปี 2567
ภาพรวมสถานะและความก้าวหน้าของประเทศออสเตรีย ในด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
ผลลัพธ์และศักยภาพด้านนวัตกรรมของออสเตรีย
ในทุกๆ ปี คณะกรรมาธิการยุโรปจะจัดทำ Innovation Scoreboard เพื่อเป็นตัวชี้วัดถึงผลลัพธ์และศักยภาพด้านนวัตกรรม (Innovation Performance) ได้มาจากการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป โดยประเมินถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของระบบนวัตกรรมในแต่ละประเทศพร้อมระบุประเด็นที่แต่ละประเทศควรให้ความสนใจและพัฒนา สำหรับรายงานผลลัพธ์และศักยภาพด้านนวัตกรรมประจำปี ค.ศ. 2021 (European Innovation Scoreboard 2021) ในภาพรวมสหภาพยุโรปได้กำลังพัฒนาสู่การเป็นผู้นำทางนวัตกรรมของโลก แต่การพัฒนายังประสบปัญหาการลงทุนจากภาคธุรกิจที่ต่ำ และกฎระเบียบข้อบังคับส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการจัดลำดับประเทศนวัตกรรมในยุโรป ปี 2021 ประเทศออสเตรีย ถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 8 โดยถือเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับสูง (Strong innovators)
หน่วยงานภาครัฐด้าน อววน.
ประเทศออสเตรีย หรือสาธารณรัฐออสเตรีย (Republic of Austria) แบ่งออกเป็น 9 รัฐ โดยรัฐบาลกลางของออสเตรียมีกระทรวง 13 กระทรวง ซึ่งพบว่ามี 3 กระทรวงมีหน้าที่และกิจกรรมด้าน อววน. คือ
1. กระทรวงการกสิกรรม ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และการจัดการน้ำ (Federal Ministry of Agriculture, Forestry, Environment and Water Management)
2. กระทรวงวิทยาศาสตร์ การวิจัย และเศรษฐกิจ (Federal Ministry of Science, Research and Economy) และ
3. กระทรวงคมนาคม นวัตกรรม และเทคโนโลยี (Federal Ministry of Transport, Innovation and Technology)
1.กระทรวงการกสิกรรม ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และการจัดการน้ำ (Federal Ministry of Agriculture, Forestry, Environment and water Management, BMLFUW)
กระทรวง BMLFUW หน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการกสิกรรม ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม เป้าหมายทำให้ออสเตรียมีความน่าอยู่ มีอากาศสะอาด น้ำที่บริสุทธิ์ สภาพสิ่งแวดล้อมปลอดภัย อาหารมีคุณภาพสูงราคาย่อมเยา
โครงการที่น่าสนใจของ BMLFUW ได้แก่
1.โครงการ Green Care เป็นโครงการร่วมกับหอการค้ากสิกรรมของออสเตรีย จุดประสงค์ในการให้ความดูแลด้านสังคมให้กับประชาชนที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมและกสิกรรมในเขตชนบท เช่น การให้ความรู้และฝึกสอนแรงงานในภาคกสิกรรม ให้ความรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการช่วยเหลือแรงงานกสิกรรมผู้สูงอายุ
2. โครงการ Initiative Agriculture 2020 เป็นการวางยุทธศาสตร์ในด้านเกษตรกรรมและป่าไม้ ในด้านการพัฒนาเกษตรกรรม การพัฒนาชนบท การวางแผนธุรกิจและการศึกษา การควบคุมสินค้า ลดขั้นตอนและใช้พลังงานทดแทน
3. โครงการ Export Initiative ดูแลด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์เกษตรในออสเตรีย เพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตร อาหาร และเครื่องดื่มของออสเตรียไปสู่ตลาดในประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก
หน้าที่ที่สำคัญอีกหน้าที่คือการป้องการอุทกภัย ช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรงหลายครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายรุนแรงอีก รัฐบาลจึงระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อสรุปข้อแนะนำในการจัดการความเสี่ยงด้านน้ำท่วมอย่างบูรณาการ เช่น การจัดการแก้มลิง การจัดการอุทกภัย และประชาสัมพันธ์ในเขตพื้นที่เสี่ยง
2. กระทรวงวิทยาศาสตร์ การวิจัย และเศรษฐกิจ (Federal Ministry of Science, Research and Economy) หรือ BMWFW
กระทรวง BMWFW ทำหน้าที่วางโครงสร้างธุรกิจต่างๆ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในระดับนานาชาติสำหรับการทำธุรกิจ โดยผ่านการดำเนินการด้านการวิจัย การสร้างเทคโนโลยี และนวัตกรรม กระทรวงมีพันธกิจหลักในด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษา ระดับอุดมศึกษา การวิจัย การวางนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนานวัตกรรมนโยบาย การค้าระหว่างประเทศ สนับสนุนกิจการสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และด้านพลังงานเหมืองแร่
– ด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาระดับอุดมศึกษา : BMWFW ทำหน้าที่ดูแลมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัย และช่วยหาทุนและเงินการวิจัยและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสถาบัน
– การวิจัย : กระทรวงสนับสนุงานด้านวิจัย ความร่วมมือในระดับนานาชาติ ทั้งระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้พัฒนาความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ อย่างยั่งยืน
– การวางนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนานวัตกรรม : เป้าหมายคือการสร้างความเข้มแข็ง ความน่าลงทุนทางธุรกิจ ผ่านการลงทุนด้านการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัยของประเทศ
– นโยบายการค้าระหว่างประเทศ : ปัจจุบันออสเตรียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกของโลก ภารกิจด้านการค้าระหว่างประเทศมุ่งสร้างความเข้มแข็งในด้านการส่งออก ให้มีความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ โดยร่วมดำเนินการกับหอการค้าออสเตรีย (WKO)
– สนับสนุนกิจการและบริษัทต่างๆ : เพื่อมุ่งผลักดันโครงสร้างทางการค้าและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อการลงทุน ส่งเสริมการลงทุน และยังออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้งาน หรือ apprenticeships ช่วยส่งเสริมเยาวชนในการฝึกฝนเรียนรู้งานเพื่ออนาคตด้วย
– การท่องเที่ยว : ออสเตรียได้รับการประเมินในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเป็นอันดับที่สองในสหภาพยุโรป นโยบายท่องเที่ยวเน้นไปที่ เทือกเขาแอลป์ แม่น้ำดานูป และเมืองวัฒนธรรมต่างๆ รวมพิพิธภัณฑ์และสวนสัตว์
– ด้านพลังงานและเหมืองแร่ : นโยบายด้านพลังงานโดยผลักดันให้มีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น
3. กระทรวงคมนาคม นวัตกรรม และเทคโนโลยี (Federal Ministry of Transport, Innovation and Technology) หรือ BMVIT
ภารกิจคือการสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สามด้านหลักคือ ด้านคมนาคม ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และด้านโทรคมนาคม
– ด้านคมนาคม : กระทรวงดูแลการคมนาคม เช่น ทางอากาศ เคเบิลคาร์ ทางถนน ทางราง ระบบขนส่งมวลชน การเดินเท้า ทางจักรยาน และทางคูคลองต่างๆ
– ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี : นโยบายนวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น การบิน ทรัพยากรมนุษย์ คมนาคม การกำหนดนโยบาย การพัฒนาที่ยั่งยืน เทคโนโลยีอวกาศ
– ด้านโทรคมนาคม : นโยบายด้านโทรคมนาคมในออสเตรียและความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป มีความสำคัญมาก เพราะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2022/20220915-newsletter-brussels-no04-apr65.pdf