วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 8 เดือน สิงหาคม 2563
สหภาพยุโรปเร่งทำข้อตกลงกับบริษัทต่างๆ เพื่อจัดซื้อวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19
ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2563 สหภาพยุโรปได้เริ่มเจรจาทำข้อตกลงซื้อขายวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 ล่วงหน้า กับบริษัทต่างๆ เพื่อช่วยให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถจัดซื้อ รวมทั้งบริจาคให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง หรือให้กับประเทศในเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA)
วัคซีนจากบริษัท Sanofi-GSK
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 สหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงทำสัญญาซื้อขายวัคซีนกับบริษัท Sanofi-GSK ซึ่งเป็นการร่วมมือพัฒนาวัคซีนระหว่าง 2 บริษัท คือ บริษัท Sanofi จากฝรั่งเศส และบริษัท GSK จากสหราชอาณาจักร ข้อตกลงซื้อขายจำนวน 3 ร้อยล้านชุด โดยจะจัดส่งทันทีที่วัคซีนได้รับการพัฒนาและพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัส โดยใช้นวัตกรรมของระบบสารเสริมฤทธิ์ เป็นสารประกอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตอนสนองของภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อต่างๆ ได้ดีกว่าการใช้วัคซีนอย่างเดียว
วัคซีนจากบริษัท Johnson & Johnson
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 สหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงกับ บริษัท Johnson & Johnson เพื่อเตรียมซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2 ร้อยล้านชุด โดยบริษัททำการทดลองมีชื่อว่า Ad26.COV2.S โดยวัคซีนดังกล่าวใช้อะดิโนไวรันเซโรไทป์ 26 (Ad26) เป็นตัวเหนี่ยวนำซึ่งสามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง สร้างแอนติบอดีที่มีฤทธิ์ลบล้าง ป้องกันการติดเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันจากไวรัสในปอดเกือบสมบูรณ์
วัคซีนจากบริษัท AstraZeneca
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ทำกรอบสัญญาซื้อวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca (กลุ่มบริษัทยาสวีเดน-สหราชอาณาจักร) จำนวน 3 ร้อยล้านชุด ปัจจุบันอยู่ในช่วงการทดสอบทางคลินิกระยะ 3 โดยบริษัท ได้ใช้วัคซีนที่ชื่อว่า ChAdOx1 nCoV-19 ในการทดลอง เป็นวัคซีนที่พัฒนาขึ้นจากเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัด นำมาดัดแปลงพันธุกรรมจนไม่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ได้ และทำให้มีลักษณะคล้ายเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
เกณฑ์การคัดเลือกวัคซีนในการจัดทำซื้อขายวัคซีนล่วงหน้า
ในการคัดเลือกบริษัทผู้พัฒนาวัคซีน ทางสหภาพยุโรปจะพิจารณาถึงผลการทดลองทางคลินิกเบื้องต้น และศักยภาพในการผลิตและส่งมอบวัคซีน ประกอบกับเกณฑ์การคัดเลือกอื่นๆ ทำกำหนดขึ้นดังนี้
-ความสามารถของเทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาและทดลองวัคซีน โดยพิจารณาในประเด็นคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพ
-ประเภทและจำนวนชนิดของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการพัฒนาวัคซีน
-ความเร็วในการส่งมอบวัคซีน โดยจะพิจารณาถึงความคืบหน้าของการทดลองทางคลินิก และประเมินระยะเวลาส่งมอบ ภายในปี 2020 – 2021
-ค่าใช้จ่าย ข้อกำหนดและเงื่อนไขอื่นๆ ของการชำระเงิน
-ประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้รับในกรณีที่การพัฒนาวัคซีนประสบผลสำเร็จ และกรณีที่ไม่ประสบผลสำเร็จ
-การคุ้มครองพิเศษที่บริษัทพัฒนาวัคซีนเรียกขอ
-ความสามารถในการผลิตและจัดหาวัคซีนให้เพียงพอในสหภาพยุโรป
-การให้คำมั่นในการผลิตและจัดหาวัคซีนในอนาคตให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
-การทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลของสหภาพยุโรป และขออนุญาตเพื่อจัดจำหน่ายวัคซีนสู่ท้องตลาด
สารแสดงวิสัยทัศน์และพันธกิจของกรรมาธิการยุโรปด้านการวิจัยและนวัตกรรม และด้านการศึกษา เยาวชน กีฬา และวัฒนธรรม
นาง Ursula von der Leyen กล่าวว่า การลงทุนที่ดีที่สุดในอนาคต คือการลงทุนให้กับคนรุ่นใหม่ นักสร้างนวัตกรรม และนักวิจัย เหตุนี้การศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม จึงเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมสู่เศรษฐกิจที่เป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศในยุคดิจิทัล ซึ่งต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ โดยศักยภาพที่เป็นเลิศของยุโรปด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม
พันธกิจด้านการวิจัยและนวัตกรรม และ ด้านการศึกษา เยาวชน กีฬา และวัฒนธรรม
พันธกิจสำคัญสำหรับระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ดังนี้
-ทำงานร่วมกับแต่ละประเทศสมาชิก ชุมชนวิจัย ประชาสังคม และกรรมธิการอื่นๆ และดำเนินงานตามโครงการ Horizon Europe ซึ่งเป็นขอบข่ายโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมของยุโรปฉบับใหม่ปี ค.ศ.2021
-จัดสรรงบประมาณและการลงทุนในสาขาการวิจัยและนวัตกรรมเปลี่ยนโลก เพื่อรักษาเสถียรภาพในการแข่งขันระดับโลก ส่งเสริมให้นักสร้างนวัตกรรมสามารถต่อยอดแนวคิดออกสู่ตลาด
-ร่วมทำงานกับแต่ละประเทศสมาชิกในการระดมความช่วยเหลือทั้งระดับประเทศและระดับสหภาพยุโรปเพื่อจัดตั้งเขตการวิจัยยุโรป (European Research Area)
-ร่วมทำงานในประเด็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ด้านอุตสาหกรรม และกำหนดสาขากลยุทธ์ใหม่ๆ ภายใต้โครงการ Horizon Europe เพื่อความสำคัญทางด้านการวิจัย นโยบาย และเศรษฐกิจมีความสอดคล้องกัน
-สนับสนุนการเพิ่มงบประมาณจำนวน 3 เท่าสำหรับโครงการ Erasmus+ เป็นโครงการด้านการศึกษาของสหภาพยุโรป
-จัดตั้งเขตการศึกษายุโรป (European Education Area) ภายในปี ค.ศ. 2050 พัฒนาการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนความรู้ในประเทศอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
-ส่งเสริมการสร้างความเป็นเลิศและการสร้างเครือข่ายของมหาวิทยาลัยในยุโรป
-ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของหลักสูตรแลกเปลี่ยนนักศึกษา เพื่อกระตุ้นการสร้างความร่วมมือในด้านการศึกษา การวิจัย และนวัตกรรม
-ส่งเสริมการสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อใช้เป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม การสร้างงาน และการเติบโตในสหภาพยุโรป
-ให้ความสำคัญการพัฒนาการศึกษาด้านดิจิทัล จำเป็นต้องมีการทบทวนและปรับปรุงแผนการดำเนินงานการศึกษาดิจิทัล (Digital Education Action Plan) การเพิ่มจำนวนหลักสูตรออนไลน์ให้ทุกคนเข้าถึง ออกมาตรการเพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อการบิดเบือนข้อมูล การให้ข้อมูลเท็จ และภัยคุกคามอื่นๆ บนสังคมออนไลน์
การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการกับสวนผักคนไทยในเบลเยียมในการแก้ปัญหาโรคของต้นมะเขือเปราะ
สืบเนื่องจาก ดร.มาณพ สิทธิเดช อัครราชทูตที่ปรึกษา สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้มีโอกาสไปเยี่ยม “ทิพย์สวนผักไทย” ซึ่งเป็นหนึ่งในสวนผักคนไทยในประเทศเบลเยียม ทำให้ทราบว่า “ทิพย์สวนผักไทย” ประสบปัญหาโรคของมะเขือเปราะที่เกิดขึ้นในแปลงเพาะปลูก โดยสามารถสรุปข้อสังเกตได้ดังนี้
-พื้นที่ที่ใช้ปลูกพืช : บริเวณพื้นที่ในแปลงดังกล่าวในฤดูปลูกของมะเขือเปราะปีก่อนหน้า ช่วงเดือนมีนาคม – สิงหาคม 2562 ได้ทำการเพาะปลูกมะเขือเปราะที่เสียบยอดบนต้นตอพันธุ์มะเขือเทศ
-ลักษณะอาการของโรคที่พบในแปลง : มีลักษณะอาการเหี่ยวทั้งที่ใบยังเขียว ใบไหม้ในใบอ่อนขอบใบม้วน มีใบร่วง ต้นที่มีอาการรุนแรงจะเหี่ยวแห้งเป็นสีน้ำตาลและยืนต้นตาย พบได้ในมะเขือเปราะชนิดอื่นๆ ทั้งมะเขือยาว และมะเขือม่วงในโรงเรือนอื่นๆ ด้วย
การให้น้ำ : เป็นระบบน้ำหยด แหล่งน้ำคือแม่น้ำในพื้นที่เพาะปลูก โดยสูบน้ำมาพักน้ำในบ่อพักน้ำ แล้วใช้น้ำรดโรงเรือนสตอเบอร์รี่ ก่อนน้ำทิ้งจากโรงเรือนสตอเบอร์รี่จะถูกนำไปยังบ่อพักน้ำอีกบ่อ เพื่อเตรียมไปใช้รดแปลงผัก รวมทั้งมะเขือเปราะด้วย
แมลงที่พบ : เพลี้ยอ่อน แมลงหวี่ และแมลงวัน ซึ่งมีจำนวนไม่มาก
สรุปผลการสำรวจโรคที่เกิดขึ้นในแปลง
จากการตรวจสอบ มีความเป็นไปได้ว่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum สาเหตุโรคเหี่ยวเขียว (Bacterial Wilt) ทั้งนี้ได้มีการประสานเครือข่ายนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญที่ประเทศไทย ซึ่งได้รับคำแนะนำอย่างดียิ่งจาก รศ.ดร. ประสาทพร สมิตะมาน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการโรคพืช และ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในการสำรวจและหาข้อสรุปเบื้องต้นในการวินิจฉัยโรค รวมทั้งการจัดการเพื่อป้องกันและกำจัดโรคต่อไป
ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ปัญหาโรคของมะเขือเปราะที่เกิดขึ้น
ควรที่จะมีการปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่นๆ เพื่อป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคเหี่ยวดังกล่าว รวมทั้งอาจใช้วิธีการกำจัดเชื้อในดิน เช่น อบแปลงด้วยไอน้ำเพื่อลดปริมาณของเชื้อสารเหตุโรคพืชในดิน (soil-borne pathogens) หรือใช้สารเคมีที่ทางรัฐบาลเบลเยียมอนุญาตให้ใช้ในการเกษตรอินทรีย์เพื่อการรมดินได้ รวมทั้งการเปลี่ยนแหล่งน้ำที่ใช้ อาจใช้น้ำบาดาลทดแทนการใช้น้ำจากแม่น้ำ เพื่อลดอัตราการรับเชื้อโรคพืชจากภายนอกเข้าสู่แปลงเพาะปลูก
ความเป็นมาของทิพย์สวนผักไทย
ทิพย์สวนผักไทยได้เริ่มปลูกผักไทยบนเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่กว่า เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โดยใช้เมล็ดพันธุ์หรือหน่อที่นำเข้าจากไทย โดยปลูกในโรงเรือนป้องกันไม่ให้ผักเผชิญสภาพอากาศหนาวเย็นจนเกินไป และเป็นการปลูกพืชแบบปลอดสารพิษ โดยใช้น้ำที่เหลือจากการปลูกสตอเบอร์รี่ และปุ๋ยหมักชีวภาพในการบำรุงพืช ได้ผลผลิตงอกงามไม่ต้องพึ่งสารเคมี
การปลูกผักไทยในเมืองหนาวเริ่มเดินกุมภาพันธ์ เก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน เช่น มะเขือ กะเพรา โหระพา คะน้า ผักบุ้ง พริก แตงกวา ฟักทอง มะระ แตงกวา ฯลฯ จำหน่ายให้ลูกค้าคนไทยและคนเอเชียที่อยู่ในเบลเยียมและประเทศในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ และ ลักเซมเบิร์ก
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2020/20200921-newsletter-brussels-no08-aug63.pdf