ในปี 2563 IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 63 ประเทศทั่วโลก และได้เผยแพร่ใน IMD World Competitiveness Yearbook 2020 โดยมีผลการจัดอันดับดังนี้
ตารางผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 5 อันดับแรกและประเทศไทย ปี 2562-2563 โดย IMD
ประเทศ | สิงคโปร์ | เดนมาร์ก | สวิตเซอร์แลนด์ | เนเธอร์แลนด์ | ฮ่องกง | ไทย | ||||||
ปี | 2563 | 2562 | 2563 | 2562 | 2563 | 2562 | 2563 | 2562 | 2563 | 2562 | 2563 | 2562 |
อันดับรวม | 1 | 1 | 2 | 8 | 3 | 4 | 4 | 6 | 5 | 2 | 29 | 25 |
1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ |
3 | 5 | 21 | 26 | 18 | 23 | 1 | 13 | 28 | 10 | 14 | 8 |
1.1 เศรษฐกิจในประเทศ | 7 | 8 | 15 | 24 | 4 | 6 | 12 | 13 | 49 | 18 | 38 | 30 |
1.2 การค้าระหว่างประเทศ | 1 | 1 | 24 | 28 | 13 | 29 | 2 | 3 | 3 | 4 | 5 | 6 |
1.3 การลงทุนระหว่างประเทศ | 3 | 5 | 23 | 29 | 18 | 18 | 5 | 49 | 4 | 4 | 29 | 21 |
1.4 การจ้างงาน | 7 | 7 | 27 | 31 | 30 | 29 | 3 | 11 | 25 | 17 | 10 | 3 |
1.5 ระดับราคา | 58 | 58 | 41 | 37 | 57 | 57 | 46 | 39 | 62 | 62 | 28 | 29 |
2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ |
5 | 3 | 4 | 6 | 2 | 4 | 11 | 9 | 1 | 1 | 23 | 20 |
2.1 ฐานะการคลัง | 6 | 7 | 4 | 11 | 2 | 5 | 8 | 8 | 3 | 1 | 17 | 16 |
2.2 นโยบายภาษี | 10 | 12 | 40 | 41 | 8 | 8 | 50 | 53 | 2 | 2 | 5 | 6 |
2.3 กรอบการบริหารด้านสถาบัน | 7 | 2 | 1 | 4 | 2 | 1 | 4 | 6 | 11 | 8 | 40 | 34 |
2.4 กฎหมายด้านธุรกิจ | 3 | 2 | 2 | 3 | 12 | 12 | 4 | 4 | 1 | 1 | 33 | 32 |
2.5 กรอบการบริหารด้านสังคม | 18 | 9 | 4 | 2 | 5 | 8 | 8 | 7 | 27 | 20 | 40 | 48 |
3. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ |
6 | 5 | 1 | 7 | 9 | 9 | 4 | 4 | 2 | 2 | 23 | 27 |
3.1 ผลิตภาพและประสิทธิภาพ | 9 | 9 | 1 | 7 | 8 | 10 | 7 | 4 | 6 | 8 | 41 | 43 |
3.2 ตลาดแรงงาน | 3 | 8 | 8 | 21 | 13 | 15 | 2 | 4 | 7 | 6 | 15 | 9 |
3.3 การเงิน | 10 | 6 | 8 | 11 | 1 | 3 | 4 | 4 | 2 | 1 | 24 | 19 |
3.4 การบริหารจัดการ | 14 | 16 | 1 | 6 | 16 | 17 | 15 | 11 | 3 | 3 | 21 | 27 |
3.5 ทัศนคติและค่านิยม | 6 | 4 | 3 | 11 | 17 | 21 | 9 | 5 | 5 | 3 | 20 | 26 |
4. โครงสร้างพื้นฐาน | 7 | 6 | 2 | 3 | 3 | 2 | 9 | 8 | 14 | 22 | 44 | 45 |
4.1 สาธารณูปโภคพื้นฐาน | 18 | 11 | 4 | 7 | 6 | 8 | 9 | 6 | 2 | 3 | 26 | 27 |
4.2 โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี | 1 | 1 | 5 | 7 | 9 | 8 | 3 | 3 | 7 | 18 | 34 | 38 |
4.3 โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ | 15 | 14 | 9 | 10 | 2 | 4 | 13 | 15 | 23 | 23 | 39 | 38 |
4.4 สุขภาพและสิ่งแวดล้อม | 23 | 23 | 2 | 3 | 5 | 1 | 15 | 16 | 17 | 20 | 49 | 55 |
4.5 การศึกษา | 2 | 2 | 1 | 1 | 3 | 9 | 14 | 12 | 11 | 16 | 55 | 56 |
สิงคโปร์ยังคงครองอันดับ 1 ไว้ได้เหมือนปีที่แล้ว รองลงมาคือ เดนมาร์ก ซึ่งปีนี้ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 6 อันดับ ถัดมาเป็นสวิตเซอร์แลนด์ ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ เนเธอร์แลนด์ได้อันดับ 4 ในปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว 2 อันดับ อันดับ 5 คือ ฮ่องกง ซึ่งตกลงมา 3 อันดับจากปีที่แล้วเคยเป็นอันดับ 2 ส่วนไทยได้อันดับ 29 ตกลงมาจากปีที่แล้ว 4 อันดับ ได้อันดับ 25 ในปีที่แล้ว
สิงคโปร์ยังคงครองอันดับ 1 เหมือนปีที่แล้ว เป็นผลมาจากการเลื่อนอันดับดีขึ้นของปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2 อันดับ จากอันดับ 5 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 3 ในปีนี้ และการเลื่อนอันดับลงของ 3 ปัจจัยที่เหลือ ได้แก่ ปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ ปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน จากอันดับ 3, 5 และ 6 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 5, 6 และ 7 ในปีนี้ ตามลำดับ ปัจจัยย่อยที่มีผลต่อการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจ คือ ปัจจัยย่อยเศรษฐกิจในประเทศและปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศที่เลื่อนอันดับขึ้น 1 และ 2 อันดับ จากอันดับ 8 และ 5 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 7 และ 3 ในปีนี้ ตามลำดับ ปัจจัยย่อยหลักที่ทำให้ปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐเลื่อนอันดับลง คือ 1. ปัจจัยย่อยกรอบการบริหารด้านสถาบันเลื่อนอันดับลง 5 อันดับ จากอันดับ 2 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 7 ในปีนี้ 2. ปัจจัยย่อยกรอบการบริหารด้านสังคมเลื่อนอันดับลงถึง 9 อันดับ จากอันดับ 9 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 18 ในปีนี้ การเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยการเงินและปัจจัยย่อยทัศนคติและค่านิยม 4 และ 2 อันดับ เป็นอันดับ 10 และ 6 ในปีนี้ ตามลำดับ ทำให้ปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจเลื่อนอันดับลง ปัจจัยย่อยที่มีผลอย่างมากต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน คือ ปัจจัยย่อยสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เลื่อนอันดับลงถึง 7 อันดับ จากในปีที่แล้วได้อันดับ 11 ส่วนปีนี้ได้อันดับ 18
เดนมาร์กได้อันดับ 2 ในปีนี้เลื่อนอันดับขึ้นกว่าปีก่อนถึง 6 อันดับ เกิดจากการเลื่อนอันดับดีขึ้นของปัจจัยทั้งหมดซึ่งมี 4 ปัจจัย ได้แก่ 1. ปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจ เลื่อนอันดับขึ้น 5 อันดับ มีอันดับ 21 ในปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอันดับอยู่ระดับปานกลางมาหลายปี 2. ปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ เลื่อนอันดับขึ้น 2 อันดับ มีอันดับ 4 ในปีนี้ 3. ปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ เลื่อนอันดับขึ้น 6 อันดับ เป็นอันดับ 1 ในปีนี้ 4. ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน เลื่อนอันดับขึ้น 1 อันดับ เป็นอันดับ 2 ในปีนี้ การเลื่อนอันดับดีขึ้นของปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจเกิดจากการเลื่อนอันดับขึ้นของ 4 ปัจจัยย่อยจากทั้งหมดมี 5 ปัจจัยย่อย ได้แก่ ปัจจัยย่อยเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยย่อยการค้าระหว่างประเทศ ปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศ และปัจจัยย่อยการจ้างงาน โดยเฉพาะปัจจัยย่อยเศรษฐกิจในประเทศ มีอันดับเลื่อนขึ้นถึง 9 อันดับ จากอันดับ 24 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 15 ในปีนี้ เช่นเดียวกันปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับดีขึ้นเนื่องจากการเลื่อนอันดับขึ้นของ 4 ปัจจัยย่อยจากทั้งหมดซึ่งมี 5 ปัจจัยย่อย คือ ปัจจัยย่อยฐานะการคลัง ปัจจัยย่อยนโยบายภาษี ปัจจัยย่อยกรอบการบริหารด้านสถาบัน และปัจจัยย่อยกฎหมายด้านธุรกิจ โดยเฉพาะปัจจัยย่อยฐานะการคลัง มีอันดับดีขึ้นถึง 7 อันดับ จากอันดับ 11 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 4 ในปีนี้ การเลื่อนอันดับดีขึ้นของทั้งหมดซึ่งมี 5 ปัจจัยย่อย ได้แก่ ปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ ปัจจัยย่อยตลาดแรงงาน ปัจจัยย่อยการเงิน ปัจจัยย่อยการบริหารจัดการ และปัจจัยย่อยทัศนคติและค่านิยม โดยเฉพาะปัจจัยย่อยตลาดแรงงาน ซึ่งมีอันดับดีขึ้นจากปีที่แล้วถึง 13 อันดับ เป็นอันดับ 8 ในปีนี้ ทำให้เกิดการเลื่อนอันดับดีขึ้นของปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ในขณะที่การเลื่อนอันดับดีขึ้นของปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกันเกิดจากการเลื่อนอันดับดีขึ้นของ 4 ปัจจัยย่อย (มีทั้งหมด 5 ปัจจัยย่อย) เล็กน้อย ได้แก่ ปัจจัยย่อยสาธารณูปโภคพื้นฐาน ปัจจัยย่อยโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ปัจจัยย่อยโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ และปัจจัยย่อยสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
สวิตเซอร์แลนด์ ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ มีอันดับ 3 ในปีนี้ เป็นผลมาจากการเลื่อนอันดับดีขึ้นของปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจและปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ 5 และ 2 อันดับ จากอันดับ 23 และ 4 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 18 และ 2 ในปีนี้ ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจมีอันดับอยู่ในระดับดีปานกลางมาหลายปี ส่วนอีก 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน มีอันดับเท่าเดิมที่อันดับ 9 ทั้งในปีที่แล้วและปีนี้และลดอันดับลง 1 อันดับ จากอันดับ 2 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 3 ในปีนี้ ตามลำดับ ปัจจัยย่อยที่สำคัญที่ทำให้ปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจเลื่อนอันดับขึ้น คือ ปัจจัยย่อยการค้าระหว่างประเทศ ที่เลื่อนอันดับขึ้นถึง 16 อันดับ เป็นอันดับ 13 ในปีนี้ ส่วนปัจจัยย่อยระดับราคาภายใต้ปัจจัยเดียวกันมีอันดับต่ำที่สุดจากปัจจัยย่อยทั้งหมดมีอันดับ 57 ทั้งปีที่แล้วและปีนี้ การเลื่อนอันดับดีขึ้นของปัจจัยย่อยฐานะการคลังและปัจจัยย่อยกรอบการบริหารด้านสังคม 3 อันดับ จากอันดับ 5 และ 8 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 2 และ 5 ในปีนี้ ตามลำดับ ส่งผลให้เกิดการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ
เนเธอร์แลนด์ได้อันดับ 4 ในปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว 2 อันดับ เนื่องมาจากการเลื่อนอันดับดีขึ้นมากถึง 12 อันดับของปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจ จากอันดับ 13 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 1 ในปีนี้ ส่วนอีก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. ปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ มีอันดับเลื่อนลง 2 อันดับ เป็นอันดับ 11 ในปีนี้ 2. ปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ มีอันดับ 4 เท่าเดิมทั้งปีที่แล้วและปีนี้ 3. ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน มีอันดับเลื่อนลง 1 อันดับ เป็นอันดับ 9 ในปีนี้ การเลื่อนอันดับขึ้นของ 4 ปัจจัยย่อย จากทั้งหมด 5 ปัจจัยย่อย ได้แก่ ปัจจัยย่อยเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยย่อยการค้าระหว่างประเทศ ปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศ และปัจจัยย่อยการจ้างงาน โดยเฉพาะปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศเลื่อนอันดับดีขึ้นถึง 44 อันดับ จากอันดับ 49 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 5 ในปีนี้ ส่งผลให้เกิดการเลื่อนอันดับขึ้นมากของปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจ
ฮ่องกงได้อันดับ 5 ในปีนี้ตกลงมา 3 อันดับเคยเป็นอันดับ 2 ในปีที่แล้ว เกิดจากการเลื่อนอันดับลงอย่างมากของปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจถึง 18 อันดับ จากอันดับ 10 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 28 ในปีนี้ ส่วนปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ ครองอันดับ 1 ทั้งปีที่แล้วและปีนี้และในอีกหลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ครองอันดับ 2 ทั้งปีที่แล้วและปีนี้และในอีกหลายปีที่ผ่านมาได้อันดับ 1 ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานเลื่อนอันดับดีขึ้น 8 อันดับ จากอันดับ 22 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 14 ในปีนี้ เป็นปัจจัยที่มีอันดับอยู่ในระดับดีปานกลางนานหลายปี การเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยเศรษฐกิจในประเทศถึง 31 อันดับ จากอันดับ 18 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 49 ในปีนี้ และการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยการจ้างงานถึง 8 อันดับ จากอันดับ 17 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 25 ในปีนี้ ส่งผลให้เกิดการเลื่อนอันดับลงอย่างมากของปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจ
สำหรับไทยปีนี้ได้อันดับ 29 ตกลงมาจากปีที่แล้ว 4 อันดับ ได้อันดับ 25 ในปีที่แล้ว เนื่องจากการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจและปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ 6 และ 3 อันดับ จากอันดับ 8 และ 20 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 14 และ 23 ในปีนี้ ตามลำดับ ส่วนปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน มีอันดับเลื่อนขึ้น 4 และ 1 อันดับ จากอันดับ 27 และ 45 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 23 และ 44 ในปีนี้ ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจมีอันดับค่อนไปในทางที่ดีมานานหลายปี ในขณะที่ปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐและปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจมีอันดับดีปานกลางมาหลายปี ส่วนปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานมีอันดับค่อนไปในทางที่ไม่ดีมาหลายปี ปัจจัยย่อยที่มีผลต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ปัจจัยย่อยเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศ และปัจจัยย่อยการจ้างงาน โดยปัจจัยย่อยเศรษฐกิจในประเทศและปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศลดอันดับลงถึง 8 อันดับ ปีที่แล้วได้อันดับ 30 และ 21 ส่วนปีนี้ได้อันดับ 38 และ 29 ตามลำดับ ทำให้ปัจจัยย่อยเศรษฐกิจในประเทศและปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศเป็นปัจจัยย่อยที่มีอันดับเลื่อนลงมากที่สุดในบรรดาปัจจัยย่อยทั้งหมด ส่วนปัจจัยย่อยการจ้างงานลดอันดับลง 7 อันดับ จากอันดับ 3 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 10 ในปีนี้ ปัจจัยย่อยหลักที่มีผลต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ คือ ปัจจัยย่อยกรอบการบริหารด้านสถาบันที่เลื่อนอันดับลงถึง 6 อันดับ ปีที่แล้วได้อันดับ 34 ส่วนปีนี้ได้อันดับ 40 ในบรรดาปัจจัยย่อยทั้งหมดปัจจัยย่อยกรอบการบริหารด้านสังคมซึ่งอยู่ภายใต้ปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับเลื่อนขึ้นมากที่สุดถึง 8 อันดับ จากอันดับ 48 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 40 ในปีนี้ ปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีมากในปีนี้ ได้แก่ ปัจจัยย่อยการค้าระหว่างประเทศและปัจจัยย่อยนโยบายภาษี ซึ่งได้อันดับ 5 ในปีนี้ ส่วนปีที่แล้วได้อันดับ 6 อยู่ภายใต้ปัจจัยสมรรถนะทางเศรษฐกิจและปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ ตามลำดับ คงเป็นข่าวดีที่ปัจจัยย่อยสุขภาพและสิ่งแวดล้อมและปัจจัยย่อยการศึกษาซึ่งทั้งสองปัจจัยย่อยอยู่ภายใต้ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานมีอันดับที่ต่ำมากและต่ำที่สุดในบรรดาปัจจัยย่อยทั้งหมดในปีที่แล้ว ตามลำดับ มีอันดับเลื่อนขึ้น 6 และ 1 อันดับ จากอันดับ 55 และ 56 ในปีที่แล้วเป็นอันดับ 49 และ 55 ในปีนี้ ตามลำดับ แต่ปัจจัยย่อยการศึกษายังคงครองตำแหน่งปัจจัยย่อยที่มีอันดับต่ำที่สุดในปีนี้
คงเป็นข่าวดีสำหรับสิงคโปร์ที่ยังคงครองอันดับ 1 ได้เหมือนปีที่แล้ว แต่สำหรับไทยคงต้องพัฒนาอีกหลายด้าน เนื่องจากในปีนี้ไทยมีอันดับลดลง 4 อันดับ โดยเฉพาะด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา ถึงแม้ทั้งสองด้านจะได้รับการพัฒนาขึ้นบ้างจากปีที่แล้ว แต่ยังคงมีอันดับที่ไม่ดีในปีนี้ เพื่อให้ในปีหน้าไทยจะมีอันดับรวมที่ดีขึ้นมาก